โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium phosphate oral suspension) หรือ สวิฟฟ์ (Swiff)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 ตุลาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตอย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาระบายโซเดียม ฟอสเฟตอย่างไร?
- ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ท้องผูก (Constipation)
- การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
บทนำ
โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium phosphate) จัดเป็นเกลือชนิดหนึ่ง วงการแพทย์นำมาใช้รักษาภาวะท้องผูก รวมถึงเป็นยาถ่าย/ยาระบายของผู้ป่วย ก่อนเข้ารับการผ่าตัด ก่อนการตรวจเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้ง (Barium enema) หรือก่อนการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (การกำจัดอุจจาระออกจากลำไส้ใหญ่ เพื่อความสะอาดของลำไส้ ลดโอกาสติดเชื้อจากอุจจาระ และเพื่อให้แพทย์สามารถตรวจลำไส้ใหญ่ได้แม่นยำขึ้นจากไม่มีอุจจาระบดบัง) โดยผลิตออกมาในรูปยารับประ ทานและยาสวนทวาร นอกจากนี้โซเดียม ฟอสเฟตยังนำมาใช้รักษาภาวะฟอสเฟต (Phosphate/ Phosphorus) ในร่างกายต่ำ โดยมีการผลิตออกมาในรูปแบบยารับประทานและยาฉีด และด้วยวัตถุประสงค์ของการใช้โซเดียม ฟอสเฟตมีมากกว่า 1 อย่าง การเลือกใช้เกลือชนิดนี้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการรักษาจึงต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการนำโซเดียมฟอสเฟตมาใช้เป็นยาระบายหรือยาแก้ท้อง ผูกเท่านั้น
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีสรรพคุณดังนี้
- เป็นยาระบายเมื่อมีอาการท้องผูก
- เป็นยาระบายสำหรับผู้ป่วยก่อนเข้ารับการผ่าตัด, ก่อนการตรวจลำไส้ใหญ่ ด้วยเอกซเรย์สวนแป้ง หรือด้วยการส่องกล้อง
- รักษาภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ (ไม่กล่าวถึงในบทความนี้)
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตคือ ตัวยาจะกระตุ้นให้มีน้ำเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ ทำให้ผนังลำไส้ใหญ่เกิดแรงดัน และสามารถขับถ่ายอุจจาระออกมาได้ในที่สุด
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาระบายโซเดียมฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาระบาย ชนิดน้ำแขวนตะกอน ขนาดบรรจุ 45 และ 90 มิลลิลิตร
- ยาสวนทวาร
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับเป็นยาระบายเมื่อท้องผูก (Purgative):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 45 - 90 มิลลิลิตร
- เด็ก: ขนาดรับประทานขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับเป็นยาระบายอย่างอ่อน (Laxative):
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทาน 20 มิลลิลิตร
- เด็กอายุ 10 ปี แต่ไม่เกิน 12 ปี: รับประทาน 10 มิลลิลิตร
- เด็กอายุ 5 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี: รับประทาน 5 มิลลิลิตร
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
***** หมายเหตุ:
- รับประทานยานี้ได้ ทั้งก่อน พร้อม หรือหลังอาหาร
- ขนาดที่ใช้ในการสวนทวาร ขึ้นกับแต่ละรายบุคคล จึงขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาระบายโซเดียม ฟอสเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจ ลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาระบายโซเดียม ฟอสเฟต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาระบายโซเดียมฟอสเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้าง เคียง) ดังนี้ เช่น ทำให้รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง หรือมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน มีภาวะโซเดียมสูงในร่างกาย เกิดภาวะขาดน้ำ อาจมีอาการชัก วิงเวียน ใจสั่น อารมณ์แปรปรวน เบื่ออาหาร กล้ามเนื้อเกร็งตัว ปวดศีรษะ ง่วงนอน การหายใจผิดปกติ ขาบวม น้ำหนักขึ้น ปัสสาวะน้อยลง กระหายน้ำ ปวดกระดูกและข้อ
มีข้อควรระวังการใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยด้วยอาการท้องผูกขั้นรุนแรง ผู้ที่มีภาวะลำไส้อักเสบ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และไม่มีข้อมูลการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตร (การ ใช้ยานี้จึงอยู่ในคำแนะนำของแพทย์)
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรตรวจเลือดเพื่อควบคุมการทำงานของไต รวมถึงระดับแคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และโซเดียม
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้
- การใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตร่วมกับยาที่มีองค์ประกอบของแคลเซียม (เช่น Calcium carbonate) แมกนีเซียม (เช่น ยาโรคกรดไหลย้อน บางชนิด) จะทำให้ลดการดูดซึมเกลือฟอสเฟต จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตร่วมกับวิตามินดี จะทำให้การดูดซึมเกลือฟอสเฟตเพิ่มมากขึ้นได้ อาจเกิดความเสี่ยงให้ร่างกายมีเกลือฟอสเฟตเกิน รวมทั้งระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ และอาจเกิดภาวะคั่งของโซเดียมในร่างกายเพิ่มขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตร่วมกับนม จะลดประสิทธิผลของยาระบายโซเดียมฟอสเฟต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาระบายโซเดียม ฟอสเฟตอย่างไร?
ควรเก็บยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาระบายโซเดียม ฟอสเฟตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
RISS (ริส) | Patar Lab |
Swiff (สวิฟฟ์) | Berlin Pharm |
Xubil (ซูบิล) | Unison |
บรรณานุกรม
1 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Xubil/?type=brief [2014,Sept27]
2 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/RISS/ [2014,Sept27]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Swiff/?type=brief [2014,Sept27]
4 http://www.mims.com/USA/drug/info/sodium%20phosphate/?q=sodium%20phosphate&mtype=generic [2014,Sept27]
5 http://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_phosphates [2014,Sept27]