โซเดียมฟอสเฟต (Sodium phosphate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 มีนาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- โซเดียมฟอสเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมฟอสเฟตอย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซเดียมฟอสเฟตอย่างไร?
- โซเดียมฟอสเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โซเดียมไบฟอสเฟต (Sodium biphosphate)
- โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium phosphate oral suspension) หรือ สวิฟฟ์ (Swiff)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
บทนำ
ยาโซเดียมฟอสเฟต (Sodium phosphate สูตรเคมี คือ Na3PO4) และยาโซเดียมไบฟอสเฟต (Sodium biphosphate สูตรเคมีคือ NaH2PO4) จัดเป็นสารประกอบประเภทเกลือที่เรียกว่า เกลือไอออนิก (Ionic salt) ซึ่งเกลือทั้ง 2 ตัวยานี้จะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในด้านของสูตรเคมีคือ สำหรับยาโซเดียมไบฟอสเฟตในสูตรโมเลกุลมักจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่ด้วยอย่าง เช่น NaH2PO4.H2O หรือ NaH2PO4.2H2O
กรณีที่สูตรตำรับยาที่มีเกลือทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลัก มักจะถูกเตรียมเป็นยาระบาย ซึ่งมีทั้งชนิดรับประทานและชนิดสวนทวาร ดังที่กล่าวไว้ในบทความก่อนในเว็บ haamor. com บทความชื่อ “โซเดียมไบฟอสเฟต” เพื่อการขยายผลความรู้เชิงวิชาการในบทความนี้จะขอนำเสนอประโยชน์ทางยาของโซเดียมฟอสเฟต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ”นำไปรักษาภาวะเกลือฟอสเฟต (Phosphate) ในร่างกายมีระดับต่ำ/ภาวะร่างกายพร่องเกลือฟอสเฟต” ซึ่งมักจะพบในผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรังเสียเป็นส่วนมาก หรือเกิดกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการดูดซึมสารอาหารจากกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือมีภาวะมะเร็งในระบบโลหิตวิทยา (เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งเม็ดเลือดขาว) หรือภาวะตับวาย เป็นต้น ซึ่งการแก้ไขและช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะฟอสเฟตในร่าง กายต่ำนั้น แพทย์อาจพิจารณาใช้โซเดียมฟอสเฟตที่มีรูปแบบของยาแผนปัจจุบันทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน
ยาโซเดียมฟอสเฟตจะมีการดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 66% เกลือนี้จะถูกขับออกโดยผ่านไตไปกับปัสสาวะและบางส่วนขับออกไปกับอุจจาระ
การบริหารยา/การใช้ยานี้กับผู้ป่วย ส่วนมากจะทำกันที่สถานพยาบาล ด้วยต้องเฝ้าระวังเรื่องผลข้างเคียงและพิษต่อระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกาย อย่างเช่น ไต หัวใจ ดังนั้นขนาดการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาแต่เพียงผู้เดียว
โซเดียมไบฟอสเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโซเดียมฟอสเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะพร่องเกลือฟอสเฟตในกระแสเลือด
- ใช้เป็นยาระบายโดยมักผสมรวมกับยาโซเดียมไบฟอสเฟต (Sodium biphosphate)
โซเดียมฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมฟอสเฟตคือ ตัวยาที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้สมดุลของภาวะพร่องฟอสเฟตกลับคืนมา ซึ่งมีผลต่อกระบวนการทางชีวภาพในร่างกายมนุษย์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตและการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติ
โซเดียมฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซเดียมฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน สำหรับภาวะพร่องฟอสเฟต (Phosphate) โดยมีส่วนประกอบของ ตัวยาไดเบสิก โซเดียมฟอสเฟต (Dibasic sodium phosphate) 852 มิลลิกรัม + โมโนเบสิกโพแทสเซียมฟอสเฟต (Monobasic potassium phosphate) 155 มิลลิกรัม + โมโนเบสิก โซเดียมฟอสเฟต (Monobasic sodium phosphate) 130 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก โดยมีส่วนประกอบของโซเดียมไบฟอสเฟต 1.102 กรัมและโซเดียมฟอสเฟต 0.398 กรัม/เม็ด
- ยาน้ำสวนทวาร ใช้เป็นยาระบายที่มีส่วนผสมของโซเดียมไบฟอสเฟตและโซเดียมฟอส เฟต ขนาดบรรจุ 133 มิลลิลิตร (สำหรับผู้ใหญ่)
โซเดียมฟอสเฟตมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ขนาดการใช้ของยาโซเดียมฟอสเฟตในผู้ป่วยแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นกับข้อบ่งใช้ยานี้ ในที่นี้ดังกล่าวแล้วในบทนำ จะกล่าวถึงยาโซเดียมฟอสเฟตเฉพาะกรณีใช้ในภาวะร่าง กายพร่องเกลือฟอสเฟตเท่านั้น
ขนาดยาโซเดียมฟอสเฟตเพื่อรักษาภาวะร่างกายพร่องเกลือฟอสเฟตขึ้นอยู่กับสภาพร่าง กายและระดับการพร่องของเกลือฟอสเฟตในกระแสเลือดของผู้ป่วยแต่ละคน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาขนาดการใช้ยาได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วย ตัวอย่างกรณีที่การพร่องฟอสเฟตไม่รุนแรงขนาดยาที่ใช้ เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 1 - 2 เม็ดวันละ 4 ครั้ง
- เด็ก: ขนาดยาจะขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก ดังนั้นขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*อนึ่ง ข้อบ่งใช้ยานี้ ที่ใช้เป็นยาระบาย (ตัวยามีส่วนประกอบร่วมกับตัวยาโซเดียมไบฟอสเฟต) อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โซเดียมไบฟอสเฟต (Sodium biphosphate)
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซเดียมฟอสเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมฟอสเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
การใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตชนิดรับประทานมักจะใช้ในสถานพยาบาล โดยมีบุคคลากรทางการแพทย์เป็นผู้กำกับดูแลอย่างถูกต้อง ทำให้ยากต่อการลืมรับประทาน
โซเดียมฟอสเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซเดียมฟอสเฟตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- อาการปวดท้อง
- ท้องเสีย
- คลื่นไส้- อาเจียน
- มีภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง
- เกิดภาวะขาดน้ำของร่างกาย
- ผู้ป่วยบางรายอาจมี
- อาการชัก
- ง่วงนอน
- อารมณ์แปรปรวน
- เบื่ออาหาร
- กล้ามเนื้อเกร็งหรือเป็นตะคริว
- หูอื้อ
- ปวดตามร่างกาย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- หายใจลำบาก
- ขาและเท้าบวม
- น้ำหนักตัวเพิ่ม
- ปัสสาวะน้อยลง
- กระหายน้ำ
- ปวดข้อ
* อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาโซเดียมฟอสเฟตเกินขนาด: จะพบว่าเกิดภาวะในเลือดมีเกลือฟอสเฟตสูงร่วมกับเกลือโซเดียมสูง และทำให้ระดับเกลือแคลเซียมและเกลือโพแทสเซียมในเลือดลดลง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยบางรายมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีอาการชัก ไตวาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิต การรักษาอาการเหล่านี้ จะรักษาตามอาการโดยแพทย์เป็นผู้ให้การรักษา
มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมฟอสเฟตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมฟอสเฟต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตกับ กลุ่มผู้ป่วยโรคไตขั้นรุนแรง ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่มีภาวะทางเดินลำไส้อุดตัน ลำไส้อักเสบหรือเป็นแผล ผู้ป่วยที่มีภาวะลำไส้ใหญ่อักเสบหรือติดเชื้อ ผู้ป่วยที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ
- ระหว่างการใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตต้องคอยควบคุมระดับของเกลือแร่ (อิเล็กโทรไลต์/Electrolyte) ชนิดอื่นในกระแสเลือดให้มีความสมดุลอยู่เสมอเช่น โซเดียม, โพแทสเซียม, แคลเซียม
- เฝ้าระวังการทำงานของ ไต หัวใจ ให้เป็นปกติตลอดเวลาของการใช้ยาโซเดียมฟอสเฟต
- ควบคุมสภาพร่างกายของผู้ป่วยเพื่อไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำขณะใช้ยานี้
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมฟอสเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โซเดียมฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซเดียมฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตร่วมกับ ยาที่มีองค์ประกอบของเกลือแร่ ดังจะกล่าวต่อไป ด้วยเกลือแร่เหล่านี้จะทำให้ลดการดูดซึมของยาโซเดียมฟอสเฟต เช่น เกลือแร่
- อะลูมิเนียม: เช่นยา Aluminium hydroxide
- แคลเซียม: เช่นยา Calcium carbonate
- หรือแมกนีเซียม: เช่นยา Magnesium hydroxide
- การใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตร่วมกับ วิตามิน-ดี จะทำให้การดูดซึมยาโซเดียมฟอสเฟตจาก ระบบทางเดินอาหารเพิ่มมากขึ้นจนอาจมีผลข้างเคียงต่างๆจากยาโซเดียมฟอสเฟตติดตามมา
- การใช้ยาโซเดียมฟอสเฟตร่วมกับ ยาลดกรดที่มีแคลเซียมเป็นองค์ประกอบ (เช่น Calcium carbonate) อาจทำให้เกิดหินปูน (Calcium) เกาะตามเนื้อเยื่อของปอด, หลอดเลือดแดง ที่อาจรบกวนการทำงานของอวัยวะเหล่านี้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้โซเดียมฟอสเฟตร่วมกับ ยาขับปัสสาวะ อาจรบกวนสมดุลของเกลือแร่ต่างๆของร่าง กาย เช่น ก่อให้เกิดภาวะฟอสเฟตและเกลือโซเดียมในเลือดสูง และก่อให้เกิดภาวะเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโซเดียมฟอสเฟตอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโซเดียมฟอสเฟต เช่น
- รูปแบบยาชนิดรับประทาน: ควรเก็บภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- รูปแบบยาสวนทวาร: สามารถเก็บที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส
- ทั้งนี้ ยานี้ทุกรูปแบบ:
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาที่มีสภาพเสื่อมหรือที่วัสดุบรรจุชำรุดเสียหาย
โซเดียมฟอสเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซเดียมฟอสเฟต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
PHOSPHA 250 (ฟอสฟา) | RISING PHAR., INC. |
OsmoPrep (ออสโมเพรป) | Salix Pharmaceuticals, Inc |
Unima enema (ยูนิมา อีนีมา) | Unison |
Visicol (วิซิคอล) | Pharmaceutical Manufacturing Research Services Inc. |
บรรณานุกรม
1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_phosphates [2020,March14]
2. http://www.everydayhealth.com/drugs/sodium-biphosphate-sodium-phosphate [2020,March14]
3. http://www.mims.com/India/drug/info/sodium%20phosphate/?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,March14]
4. https://en.wikipedia.org/wiki/Hypophosphatemia [2020,March14]
5. http://www.drugs.com/dosage/phospha-250-neutral.html [2020,March14]
6. http://www.drugs.com/pro/phospha-250-neutral.html [2020,March14]