โซปิโคลน (Zopiclone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 31 พฤษภาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- โซปิโคลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โซปิโคลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โซปิโคลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โซปิโคลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โซปิโคลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โซปิโคลนอย่างไร?
- โซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโซปิโคลนอย่างไร?
- โซปิโคลนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานอนหลับ (Sleeping pill)
- นอนเบนโซไดอะซิปีน (Nonbenzodiazepine)
- ยากดประสาทส่วนกลาง (CNS depressants)
- ยากดการหายใจ (Drug-induced respiratory depression)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
บทนำ
ยาโซปิโคลน(Zopiclone)เป็นยานอนหลับในกลุ่ม Nonbenzodiazepine ตัวยานี้จะทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาท อย่างเช่น Gamma-Aminobutyric acid (GABA) ซึ่งจะทำให้ระบบประสาทลดการตื่นตัวและสงบมากขึ้น กรณีที่ผู้ป่วยใช้ยานี้ต่อเนื่องนานสักระยะหนึ่งแล้วหยุดการใช้ยานี้ทันที อาจส่งผลให้เกิดภาวะถอนยาตามมา แพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยานี้แต่เพียงระยะสั้นๆเท่านั้น ในหลายประเทศ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บราซิล และบางประเทศในยุโรป ได้ระบุให้ยาชนิดนี้เป็นยาควบคุมพิเศษ และการใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์
ยาโซปิโคลนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยารับประทาน โดยยาจะถูกดูดซึมได้เร็วจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อตัวยา/ยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยาจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 45–80% ยานี้สามารถซึมเข้าน้ำนมของมารดาได้ และถูกทำลายที่ตับ ก่อนที่จะถูกขับทิ้งผ่านไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
เคยมีรายงานพบผู้ป่วยที่ใช้ยาโซปิโคลนเป็นเวลานาน จะทำให้ร่างกายมีภาวะดื้อยาเกิดขึ้น โดยต้องรับประทานยานี้เป็นปริมาณมากขึ้นจึงจะทำให้นอนหลับได้ การใช้ยานี้โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ สามารถทำให้ การทรงตัว การเคลื่อนไหว ของผู้ป่วยขาดความสมดุลจนเกิดอาการเดินเซ อาการเหล่านี้จะรุนแรงมากขึ้นหากผู้ป่วยดื่มสุราหรือเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์พร้อมกับยานี้
ผู้ป่วยบางกลุ่มไม่เหมาะต่อการใช้ยาโซปิโคลน ด้วยตัวยาสามารถก่อให้เกิดอันตราย/ผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เช่น ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีระบบการหายใจล้มเหลว ผู้ที่มีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ/ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง รวมถึงสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร
โดยทั่วไป สำหรับผู้ที่ใช้ยาโซปิโคลน อาจได้รับผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป รู้สึกสับสน เกิดอาการซึม มีอารมณ์ก้าวร้าวมากขึ้น ง่วงนอน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มีผื่นคันหรือลมพิษ ทั่วไปอาการเหล่านี้มักไม่รุนแรงและมักจะหายได้เองเมื่อหยุดใช้ยานี้
*กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโซปิโคลนเกินขนาด ให้สังเกตอาการที่เกิดขึ้นดังนี้ เช่น มีภาวะกดการทำงานของสมอง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนมากจนอาจกลายเป็นภาวะโคม่า การทรงตัวได้ไม่ดีโดยมีอาการเดินเซ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ความดันโลหิตต่ำ หากพบเห็นอาการเหล่านี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งแพทย์จะดำเนินการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้นร่วมกับควบคุมระบบการทำงานของหัวใจและระบบการหายใจของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ผู้ที่มีอาการรุนแรงมากๆ แพทย์อาจจำเป็นต้องใช้ยา Flumazenil เพื่อต้านพิษของยาโซปิโคลน เราอาจพบเห็นการจัดจำหน่ายยานี้แต่ในต่างประเทศ โดยใช้ชื่อการค้าว่า “Imovane และ Zopicon”
โซปิโคลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโซปิโคลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ ใช้เป็นยานอนหลับ
โซปิโคลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโซปิโคลน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยกระตุ้นให้สมองสร้างสารสื่อประสาทที่มีชื่อเรียกว่า Gamma-Aminobutyric acid มากขึ้น สารสื่อประสาทชนิดนี้จะไปลดการกระตุ้นระบบประสาทจึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วงนอนในที่สุด
โซปิโคลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซปิโคลน มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่มีส่วนประกอบของ Zopiclone ขนาด 3.75, 5, และ 7.5 มิลลิกรัม/เม็ด
โซปิโคลนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโซปิโคลนมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 7.5 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนนอน
- ผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานยา 3.75 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนนอน
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
*อนึ่ง:
- สตรีมีครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ห้ามรับประทานยานี้
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- เพื่อป้องกันภาวะเสพติดยานี้ จึงไม่ควรรับประทานยานี้ต่อเนื่องเกิน 7 วัน
- ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต แพทย์มักให้เริ่มต้นรับประทานยาที่ 3.75 มิลลิกรัม ก่อนนอน
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโซปิโคลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคทางจิตเวช รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโซปิโคลนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโซปิโคลน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาในขนาดปกติตามคำสั่งแพทย์
โซปิโคลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซปิโคลนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น การรับรสชาติเปลี่ยนไป คลื่นไส้ อาเจียน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น รู้สึกสับสน เกิดภาวะความจำเสื่อม ซึม ก้าวร้าว วิงเวียน ง่วงนอน
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง การทรงตัวทำได้ไม่ดี
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย
มีข้อควรระวังการใช้โซปิโคลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซปิโคลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มี ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง การหายใจล้มเหลว ผู้ที่หยุดหายใจขณะนอนหลับ/ภาวะนอนหลับแล้วหยุดหายใจ ผู้ป่วยโรคตับขั้นรุนแรง
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน วิงเวียน อย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดรับประทาน และระยะเวลาที่แพทย์แนะนำเท่านั้น
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยนไป เม็ดยาแตกหัก
- ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน
- หลังรับประทานยานี้แล้ว หากมีอาการ อึดอัด/แน่นหน้าอก /หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก หรือเกิดผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีที่ใช้ยานี้แล้วไม่ได้ผล ให้รีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซปิโคลนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซปิโคลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซปิโคลนร่วมกับยา Phenytoin และยา Carbamazepine เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโซปิโคลนด้อยลงไป
- ห้ามรับประทานยาโซปิโคลนร่วมกับยากลุ่ม TCAs เพราะจะทำให้มีอาการ ง่วงนอนมากยิ่งขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโซปิโคลนร่วมกับยา Rifampicin เพราะจะทำให้ระดับของยาโซปิโคลนในกระแสเลือดลดต่ำลง จนทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาโซปิโคลนด้อยลงไป
- การใช้ยาโซปิโคลนร่วมกับยา Erythromycin ,Clarithromycin, Ketoconazole, Itraconazole , Ritonavir, อาจจะทำให้ระดับยาโซปิโคลนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนส่งผลให้ได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยาซปิโคลน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาโซปิโคลนอย่างไร?
ควรเก็บยาโซปิโคลนในช่วงอุณหภูมิ 15–30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
โซปิโคลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซปิโคลน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Imovane (อิโมแวน) | sanofi-aventis |
Zopicon (โซปิคอน) | INTAS |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Zimovane
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/zopiclone/?type=brief&mtype=generic[2017,May13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zopiclone[2017,May13]
- http://products.sanofi.ca/en/imovane.pdf[2017,May13]
- http://www.medicinenet.com/zopiclone-oral_tablet/article.html[2017,May13]
- https://www.drugs.com/cons/zopiclone.html[2017,May13]