โคเดอโกคราย มิซิเลท (Co-dergocrine mesylate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท (Co-dergocrine mesylate หรือ Ergoloid mesylates หรือ Dihydroergotoxine mesylate)เป็นยากลุ่มอนุพันธ์ Ergot Alkaloid โดยมีส่วนประกอบของสารประกอบต่างๆดังนี้ Dihydroergocryptine mesylate, Dihydroergocristine mesylate, Dihydroergocornine mesylate, ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการความจำเสื่อมของผู้สูงอายุที่มีระดับความรุนแรงระดับปานกลางลงมา ในบางประเทศยังนำยาโคเดอโกคราย มิซิเลทมารักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน รวมถึงโรคหลอดเลือดส่วนปลาย/ส่วนแขน-ขา(Peripheral vascular disease)อีกด้วย โดยรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยานี้มีทั้งยาแบบรับประทานและยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 2–5 ชั่วโมง ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับน้ำปัสสาวะ

ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เป็นข้อห้ามใช้ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท นอกจากผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับยานี้เท่านั้น อย่างไรก็ตามแพทย์ก็ยังมีคำเตือนให้ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า และผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดยาชนิดนี้ต้องระวังภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลทยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ต่อ ระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ผิวหนัง ระบบการหายใจ รวมถึงการทำงานของหัวใจ ดังนั้นการใช้ยาประเภทนี้จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

ในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ของยาโคเดอโกคราย มิซิเลทหลายชื่อการค้า คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย ห้ามมิให้ผู้บริโภค/ผู้ป่วยไปซื้อหามารับประทานด้วยตนเอง

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคเดอโกครายมิซิเลท

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น บำบัดรักษาอาการ

  • ความจำเสื่อม
  • ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ
  • อาการวิงเวียน
  • ปวดศีรษะไมเกรน

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลทเป็นยาในกลุ่ม Ergot alkaloids โดยมีกลไกการออกฤทธิ์เป็นยาขยายหลอดเลือด จึงทำให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้ความทรงจำของผู้ป่วยดีขึ้น

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลทมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย Co-dergocrine mesylate 1 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีดที่มีส่วนประกอบ Co-dergocrine mesylate 1 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท มีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 1 มิลลิกรัม (1 เม็ด) วันละ 3 ครั้ง พร้อมอาหาร ระยะเวลาการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคเดอโกคราย มิซิเลท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคเดอโกคราย มิซิเลท อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคเดอโกคราย มิซิเลท สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลทสามารถก่อให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น มีอาการคัดจมูก

มีข้อควรระวังการใช้โคเดอโกคราย มิซิเลทอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก หรือมีผงปนในน้ำยา
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก นอกจากมีคำสั่งแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า
  • รับประทานยานี้ตรงตามขนาดและเวลาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร เช่น การพักผ่อน การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโคเดอโกคราย มิซิเลทด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยังไม่มีรายงานข้อมูลปฏิกิริยาระหว่างยาของยาโคเดอโกคราย มิซิเลทกับยาชนิดรับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษาโคเดอโกคราย มิซิเลทอย่างไร?

ควรเก็บยาโคเดอโกคราย มิซิเลทภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โคเดอโกคราย มิซิเลทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคเดอโกคราย มิซิเลท มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alergot (อะเลอร์กอต)Charoon Bhesaj
Co-Dergocrine mesylate GPO (โคเดอโกคราย มิซิเลท จีพีโอ)GPO
Trigogine (ทริโกจีน)Atlantic Lab
Vasian (เวเซียน)Asian Pharm

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Hydergine, Ergovas, Ceregin, Cereloid, Migranil, Ergoline

บรรณานุกรม

  1. http://www.druginfosys.com/drug.aspx?drugcode=861&type=1[2017,Aug5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Ergoloid[2017,Aug5]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/1606351[2017,Aug5]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/hydrine/?type=brief[2017,Aug5]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/vasian/?type=brief[2017,Aug5]