โค-อะมอกซิคลาฟ (Co-Amoxiclave)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 มีนาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โค-อะมอกซิคลาฟมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โค-อะมอกซิคลาฟอย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโค-อะมอกซิคลาฟอย่างไร?
- โค-อะมอกซิคลาฟมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- อะมอกซิซิลลิน (Amoxicillin)
- คลาวูลาเนท (Clavulanate) หรือ กรดคลาวูลานิก (Clavulanic acid)
- เบต้า-แลคแทม (Beta-Lactam antibiotic)
บทนำ
ยาโค-อะมอกซิคลาฟ(Co-Amoxiclave หรือ Amoxicillin/clavulanic acid) เป็นยาปฏิชีวนะแผนปัจจุบันที่มีจำหน่ายในหลายประเทศทั่วโลก สูตรตำรับจะประกอบไปด้วยตัวยาอะมอกซิซิลลิน(Amoxicillin)และยากรดคลาวูลานิก(Clavulanic acid) ที่มีสัดส่วนที่แตกต่างกันออกไป และสามารถใช้ยานี้ได้ทั้งกับเด็กและกับผู้ใหญ่ ยาโค-อะมอกซิคลาฟเหมาะสำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินหายใจ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ)ทั้งระบบทางเดินหายใจส่วนบน (โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนบน) และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง), การติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร(โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร), โรคติดเชื้อ ที่ผิวหนัง ที่เนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย ที่กระดูก(กระดูกอักเสบ) ที่ข้อต่อต่างๆ(ข้ออักเสบติดเชื้อ) รวมถึงการติดเชื้อในช่องปากอย่างเช่นที่รากฟัน
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโค-อะมอกซิคลาฟ เป็นยาชนิดรับประทาน และยาฉีด ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ยาโค-อะมอกซิคลาฟเป็นสูตรตำรับยาปฏิชีวนะที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว กล่าวคือ ยาอะมอกซิซิลลินเป็นยาที่คอยทำลาย/ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ในขณะที่กรดคลาวูลานิกจะคอยป้องกันแบคทีเรียที่สามารถทำลายยาอะมอกซิซิลลินอีกทีหนึ่ง
อย่างไรก็ตามสูตรตำรับยาโค-อะมอกซิคลาฟ ก็มีข้อจำกัดและข้อควรระวังอยู่หลายประการอาทิ
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้ และแพ้ยาในกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin)
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะดีซ่าน หรือขณะที่มีภาวะตับอักเสบ รวมถึงกับผู้ป่วยโรคไต ด้วยตัวยาในสูตรตำรับนี้จะถูกทำลายและขับทิ้ง โดยผ่านไปที่ตับและที่ไต
- ต้องรับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษาตามคำสั่งแพทย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย
- ห้ามรับประทานยานี้นานเกิน 2 สัปดาห์ กรณีที่รู้สึกว่าอาการป่วยยังไม่หายดี ผู้ป่วยต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ระวังการรับประทานยานี้เกินขนาดที่แพทย์กำหนด เพราะจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการ ของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน/รู้สึกไม่สบายในท้อง มีอาการท้องเสีย หรืออาจมีอาการลมชัก เกิดขึ้นได้
- สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี การรับประทานยาเม็ดอาจไม่สะดวกเท่าใดนัก แพทย์มักจะเลี่ยงมาจ่ายยานี้ชนิดที่เป็นยาน้ำที่มีความพิถีพิถันในการเตรียมยามากกว่ายารับประทานชนิดเม็ด
- สูตรตำรับยาโค-อะมอกซิคลาฟใช้สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น ห้ามนำไปใช้รักษาอาการป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อไวรัส หรือจากเชื้อรา
- อาการแพ้ยาโค-อะมอกซิคลาฟ อาจแสดงออกในลักษณะเกิดการอักเสบของหลอดเลือดดำบริเวณผิวหนัง โดยสังเกตได้จากมีจุดสีแดงหรือม่วงตามผิวหนังหรือมี อาการไข้ ปวดข้อ มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง(ต่อมน้ำเหลืองโต คลำพบได้) อาการบวมตามใบหน้าหรือที่ริมฝีปาก มีอาการหายใจลำบาก เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง มีผิวหนังลอกหรือเกิดพุพองตามผิวหนัง กรณีเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันทีเฉุกเฉิน
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้สูตรตำรับ ยาอะมอกซิซิลลิน + กรดคลาวูลานิก(ยาโค-อะมอกซิคลาฟ) เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐาน ที่สถานพยาบาลต่างๆควรมีสำรองไว้ให้บริการกับประชาชน กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ได้กำหนดให้สูตรตำรับของยาโค-อะมอกซิคลาฟอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติของไทย โดยมีเงื่อนไขการใช้ดังนี้
- ใช้เป็นยาแทน(Alternative drug) ของยา Oral co-trimoxazole ในการรักษาโรค Melioidosis
- ใช้สำหรับรักษาการติดเชื้อที่สงสัยว่าอาจจะเกิดจาก เชื้อแบคทีเรียชนิด H. influenzae และ/หรือ M. catarrhalis ที่ดื้อต่อยา Ampicillin
- ใช้รักษาโรคติดเชื้อผสมระหว่างแบคทีเรียชนิด Aerobes และ Anaerobes
- ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียจำเพาะที่ดื้อต่อยา Ampicillin โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียที่ผลิตเอนไซม์ชื่อ Beta-lactamase ที่เป็นสาเหตุให้เชื้อแบคทีเรียดื้อยา
ปัจจุบันสามารถพบเห็นการใช้สูตรตำรับยาโค-อะมอกซิคลาฟได้ตามสถาน พยาบาลทั้งของรัฐ-เอกชน และมีจำหน่ายตามร้านขายยาแผนปัจจุบันโดยทั่วไป
โค-อะมอกซิคลาฟมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโค-อะมอกซิคลาฟมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดอาการติดเชื้อ แบคทีเรียที่ระบบทางเดินปัสสาวะ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ)
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียที่ระบบทางเดินหายใจ (โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ) และไซนัสอักเสบ
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่ออ่อนตามร่างกาย
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณเหงือกหรือฝีที่เหงือก
- รักษาและป้องกันการติดเชื้อจากบาดแผลที่โดนกัด หรือรอยถลอกจากการถูกข่วน
โค-อะมอกซิคลาฟมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาอะมอกซิซิลินเป็นยาปฏิชีวนะที่มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ตอบสนองต่อตัวมัน เช่น Gram positive และ Gram negative bacteria ตัวยาอะมอกซิซิลินมีโครงสร้างจำเพาะเจาะจงที่เรียกว่าเบต้า-แลคแทม (beta-lactam antibiotic) โดยยาอะมอกซิซิลิน(Amoxicillin)จะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียหยุดการแพร่พันธุ์และตายลง
ส่วนยากรดคลาวูลานิก จะออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเอนไซม์ในแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Beta-lactamase ที่สามารถทำลายฤทธิ์ของยากลุ่ม Beta-lactam antibiotic
จากกลไกเหล่านี้ ทำให้แบคทีเรียดังกล่าวหมดสภาพในการต้านทาน Beta-lactam antibiotic และก่อให้เกิดฤทธิ์สนับสนุนการต่อต้านแบคทีเรียของอะมอกซิซิลลิน
โค-อะมอกซิคลาฟมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโค-อะมอกซิคลาฟมีมากมายและได้รับความนิยมในแต่ละประเทศหรือในภูมิภาคที่แตกต่างกันออกไป อาจสรุปรูปแบบการจัดจำหน่ายของสูตรตำรับยานี้ เช่น
ก. ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย
- Amoxicillin 250 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- Amoxicillin 500 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด
- Amoxicillin 875 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ข. ยาน้ำแขวนตะกอนชนิดรับประทานที่ประกอบด้วย
- Amoxicillin 125 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 31.25 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- Amoxicillin 200 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 28.5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- Amoxicillin 250 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 62.5 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
- Amoxicillin 400 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 57 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร
ค. ยาฉีดที่ประกอบด้วย
- Amoxicillin 500 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 100 มิลลิกรัมต่อขวด
- Amoxicillin 1000 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 200 มิลลิกรัมต่อขวด
โค-อะมอกซิคลาฟมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโค-อะมอกซิคลาฟมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง:
- ผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานตำรับ Amoxicillin 250 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง หรือ รับประทานตำรับ Amoxicillin 500 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาของการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็กอายุตั้งแต่12ปีลงมา: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ข. สำหรับการรักษารากฟัน/การติดเชื้อที่รากฟัน/ฝีทันตกรรม:
- ผู้ใหญ่: รับประทานตำรับ Amoxicillin 250 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 วัน
- เด็ก: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ค. สำหรับการติดเชื้อที่ระบบทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง/การกลับมาติดเชื้ออีกครั้งของทางเดินปัสสาวะ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานตำรับ Amoxicillin 500 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการรับประทานยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
ง.สำหรับการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง:
- ผู้ใหญ่: รับประทานตำรับ Amoxicillin 500 มิลลิกรัม + Clavulanic acid 125 มิลลิกรัม ทุกๆ 12 ชั่วโมง ระยะเวลาการรับประทานยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
- เด็ก: ขนาดยาอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
อนึ่ง:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องจนครบเทอมการรักษา ห้ามหยุดการใช้ยานี้ถึงแม้อาการดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโค-อะมอกซิคลาฟ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโค-อะมอกซิคลาฟอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา กับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยานี้สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ
อนึ่ง การรับประทานยาโค-อะมอกซิคลาฟต้องเว้นเวลาห่างระหว่างมื้อถัดไปอย่างต่ำ 4 ชั่วโมง
โค-อะมอกซิคลาฟมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโค-อะมอกซิคลาฟสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ท้องเสีย อาเจียน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกิดภาวะเลือดออกง่าย
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดศีรษะ อาจเกิดอาการชัก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น มีอาการวิตกกังวล รู้สึกสับสน นอนไม่หลับ
- ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับนเลือดเพิ่มขึ้น มีภาวะตับอักเสบ/ตับทำงานผิดปกติ ดีซ่าน
- ผลต่อไต: เช่น กรวยไตอักเสบ มีตะกอนหรือผลึกสารต่างๆปนมากับปัสสาวะ
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น คันช่องคลอด
- ผลต่อฟัน: เช่น ผิวสีของฟันเปลี่ยนแปลง
มีข้อควรระวังการใช้โค-อะมอกซิคลาฟอย่างไร?
มีข้อควรระวังการยาใช้โค-อะมอกซิคลาฟ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ยากลุ่ม Penicillin
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามรับประทานยาอื่นใดร่วมกับยาโค-อะมอกซิคลาฟโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน/ปฏิกิริยาระหว่างยา
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในช่วงให้นมบุตร และเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- รับประทานยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- กรณีพบอาการของการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวม แดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- กรณีที่มี อาการท้องเสียรุนแรง คันบริเวณช่องคลอด หรือเกิดผลข้างเคียงจากยานี้ ที่รบกวนต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโค-อะมอกซิคลาฟด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โค-อะมอกซิคลาฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโค-อะมอกซิคลาฟมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโค-อะมอกซิคลาฟร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่าง Warfarin ด้วยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกง่ายตามมา
- ห้ามรับประทานยาโค-อะมอกซิคลาฟร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนเพิ่มมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโค-อะมอกซิคลาฟร่วมกับ ยาMethotrexate เพราะจะทำให้ระดับยาMethotrexate ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงต่างๆจากยาMethotrexateเพิ่มมากขึ้น อาทิ คลื่นไส้ อาเจียน ริมฝีปาก/องปากเป็นแผล เม็ดเลือดต่ำ เป็นต้น
- ห้ามใช้ยาโค-อะมอกซิคลาฟร่วมกับวัคซีนป้องกันอหิวาตกโรค การใช้ยาร่วมกันจะทำให้ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันอหิวาตกโรคของวัคซีนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ผู้ป่วยต้องหยุดใช้ยาโค-อะมอกซิคลาฟเป็นเวลา 14 วันอย่างต่ำ จึงจะรับวัคซีนดังกล่าวได้
- ห้ามใช้ยาโค-อะมอกซิคลาฟร่วมกับ ยาTeriflunomide ด้วยตัวยา Clavulanic acid ในสูตรตำรับจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ตับเสียหาย/ตับอักเสบได้มากยิ่งขึ้น
ควรเก็บรักษาโค-อะมอกซิคลาฟอย่างไร?
ควรเก็บยาโค-อะมอกซิคลาฟภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น สำหรับยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมน้ำแล้ว ควรเก็บในตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โค-อะมอกซิคลาฟมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโค-อะมอกซิคลาฟ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
AMK (เอเอ็มเค) | R.X. |
Amoksiklav (อะมอกซิคลาฟ) | Sandoz |
Amoksiklav GPO (อะมอกซิคลาฟ จีพีโอ) | GPO |
Augclav (ออกคลาฟ) | Pharmahof |
Augmentin (ออกเมนติน) | GlaxoSmithKline |
Cavumox (คาวูมอกซ์) | Siam Bheasach |
Coklav (โคคลาฟ) | Community Pharm PCL |
Curam (คิวแรม) | Sandoz |
Ind Clav-625 (อินด์ คลาฟ-625) | Indchemie |
Ranclav (แรนคลาฟ) | Ranbaxy |
บรรณานุกรม
- https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a685024.html [2018,March3]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amoxicillin/clavulanic_acid [2018,March3]
- https://www.drugs.com/international/co-amoxiclav.html [2018,March3]
- https://www.drugs.com/uk/co-amoxiclav-tablets-250-125-mg-leaflet.html [2018,March3]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/84#item- 8583 [2018,March3]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/amoxicillin-clavulanate,augmentin-index.html?filter=3&generic_only= [2018,March3]