โคลเมไทอะโซล (Clomethiazole)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 2 พฤษภาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- โคลเมไทอะโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- โคลเมไทอะโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคลเมไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคลเมไทอะโซลมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โคลเมไทอะโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคลเมไทอะโซลอย่างไร?
- โคลเมไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคลเมไทอะโซลอย่างไร?
- โคลเมไทอะโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ลมชัก (Epilepsy)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Transquilizer Drugs)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease)
- กาบา รีเซปเตอร์ อะโกนิสต์ (GABA receptor agonist)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยา (Clomethiazole) คือยาในกลุ่ม GABAA receptor agonists ทางการแพทย์นำมาใช้เป็นยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับ นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ใช้ต้านอาการลมชัก หรือนำไปใช้กับผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรค พาร์กินสัน ซึ่งยานี้ถูกพัฒนาขึ้นเมื่อ ปี ค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473)
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโคลเมไทอะโซล จะเป็นยาชนิดรับประทาน ธรรมชาติของยาโคลเมไทอะโซล จะถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 65% ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายและเปลี่ยนแปลงโครง สร้างทางเคมีของยานี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อยเพื่อการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด
*อนึ่ง ยาชนิดนี้สามารถซึมผ่านรกและน้ำนมของมารดาได้ จึงต้องระวังในการใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
อย่างไรก็ตาม การใช้ยานี้มีวัตถุประสงค์ของการรักษามากกว่า 1 อาการโรค ผู้ป่วยจึงควรได้ รับการตรวจร่างกาย และผ่านการคัดกรองจากแพทย์ก่อนการใช้ยานี้เสมอ
โคลเมไทอะโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาโคลเมไทอะโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้เป็นยานอนหลับ และยาสงบประสาท/ยาคลายเครียด
- รักษาอาการถอนพิษสุรา (Alcohol withdrawal syndrome)
โคลเมไทอะโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ทั่วไป ยาโคลเมไทอะโซลจะถูกนำมาใช้รักษาอาการนอนไม่หลับชนิดรุนแรง โดยใช้ในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น โดยกลไกการออกฤทธิ์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor)ที่เรียกว่า กาบา (GABAA receptor, Gamma-aminobutyric acidA receptor) ซึ่งมีอยู่ในเซลล์ประสาทของสมอง จากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางกระบวนการเคมีและออกฤทธิ์ที่ทำให้รู้สึกง่วงนอน (GABAA เป็นสารสื่อประสาทในสมองที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการตื่นตัวของสมอง)
โคลเมไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลเมไทอะโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- เป็นยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 192 มิลลิ กรัม/แคปซูล
โคลเมไทอะโซลมีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ยาโคลเมไทอะโซลมีขนาดรับประทานสำหรับอาการนอนไม่หลับ เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 192 - 384 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยานี้ยังมีข้อจำกัดด้วยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงของยา ดังนั้นการใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลเมไทอะโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลเมไทอะโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคลเมไทอะโซล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โคลเมไทอะโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคลเมไทอะโซลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- คัดจมูก
- ปวดหัว
- ระคายเคืองตา
- สับสน
- รู้สึกไม่สบายในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
- อาจพบผื่นคันตามร่างกาย หรือมีลมพิษ
- ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเปลี่ยนแปลง
- เกิดภาวะช็อก
*อนึ่ง: ผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด จะพบอาการโคม่า, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก, ความดันโลหิตต่ำ, ตัวเย็น , สามารถพบสารคัดหลั่ง/น้ำมูก/เสมหะออกมาตามช่องทางเดินหายใจได้มาก
หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน, ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับประทานยาโคลเมไทอะโซลไม่เกิน 1 ชั่วโมง แพทย์สามารถให้รับประทาน ยาถ่านกัมมันต์ดูดซับพิษของยานี้ นอกจากนี้อาจต้องใช้ท่อช่วยหายใจและมีหัตถการทางการแพทย์อื่น เพื่อทำให้อาการต่างๆและสัญญาณชีพของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว
มีข้อควรระวังการใช้โคลเมไทอะโซลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลเมไทอะโซล: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่เคยแพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางการหายใจเฉียบพลัน (Acute pulmonary insufficiency) ผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรัง
- ห้ามใช้ยานี้กับเด็ก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ผู้มีประวัติติดยาเสพติด
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยานี้ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆอาจทำให้เกิดการติดยาได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลเมไทอะโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โคลเมไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลเมไทอะโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาโคลเมไทอะโซล ร่วมกับ ยา Cimetidine จะเกิดการชะลอเวลาของการทำลายยาโคลเมไทอะโซล จึงอาจเป็นเหตุให้ร่างกายได้รับผลข้างเคียงเพิ่มมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโคลเมไทอะโซล ร่วมกับ ยาบางตัวจะทำให้เพิ่มฤทธิ์ของการสงบประสาทมากยิ่งขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน หรือแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป ยากลุ่มดังกล่าว เช่น Angiotensin II-receptor antagonist, Barbiturates, Calcium-Channel blockers, Clonidine, Disulfiram (ยารักษาโรคพิษสุราเรื้อ รัง), Esomeprazole, Hydralazine (ยาความดันโลหิตสูง), Minoxidil, Omeprazole, ยารักษาอาการทางจิตประสาท/ยาทางจิตเวช, ยาขับปัสสาวะ, กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ, ยาต้านเชื้อรา , กลุ่มยาเบต้า-บล็อกเกอร์ (Beta blocker) และยาปฏิชีวนะ
ควรเก็บรักษาโคลเมไทอะโซลอย่างไร?
ควรเก็บยาโคลเมไทอะโซล:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โคลเมไทอะโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลเมไทอะโซล มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Heminevrin capsule (เฮมิเนฟริน) | Intrapharm |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clomethiazole [2021,May1]
- https://www.mims.com/hongkong/drug/info/clomethiazole?mtype=generic [2021,May1]
- https://www.mims.co.uk/drugs/central-nervous-system/insomnia/clomethiazole [2021,May1]
- https://www.drugs.com/international/clomethiazole.html [2021,May1]
- https://www.medindia.net/doctors/drug_information/clomethiazole.htm [2021,May1]
- https://www.netdoctor.co.uk/medicines/brain-nervous-system/a6838/heminevrin-clomethiazole/ [2021,May1]