โคลเบทาซอล (Clobetasol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลเบทาซอล(Clobetasol หรือ Clobetasol propionate)เป็นยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(Corticosteroids) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาทาผิวหนังเพื่อรักษาอาการของโรคผื่นผิวหนังอักเสบ(Eczema) โรคสะเก็ดเงิน/โรคเรื้อนกวาง (Psoriasis) หรือใช้บำบัดอาการทางผิวหนังบางอย่าง เช่น การแพ้พิษจากยางของต้นพืช/ใบพืช(Poison ivy) เช่น แพ้ยางจากใบ/ต้นโอ๊ค (Oak)

ยาโคลเบทาซอลเป็นยาที่มีฤทธิ์แรง ดังนั้นเมื่อทายานี้ แพทย์จึงไม่แนะนำ ให้ปิดผิวหนังบริเวณที่ทายาด้วยพลาสเตอร์ สำลี หรือ ผ้าพันแผลใดๆ และไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ ปัจจุบันพบว่า ยานี้ยังใช้ได้ผลดีกับอาการทางผิวหนังของโรคต่างๆในกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง/ โรคออโตอิมมูน(Autoimmune)ได้หลายโรค อย่างเช่น อาการผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) โรคด่างขาว(Vitiligo) โรคผิวหนังอักเสบชนิดแห้งฝ่อ(Lichen sclerosus) และโรคผิวหนังอักเสบชนิดที่เรียกว่า Lichen planus

รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นบ่อยของยาโคลเบทาซอล จะเป็นยาครีม และยาขี้ผึ้ง ที่มีความเข้มข้น 0.05% ซึ่งในประเทศไทยมีจำหน่ายอยู่หลากหลายชื่อการค้า ดังได้กล่าวในบทความนี้ หัวข้อ “โคลเบทาซอลมีชื่ออื่นอีกไหม”

ทั้งนี้ ข้อจำกัดบางประการของการใช้ยาโคลเบทาซอล ที่ผู้บริโภคควรทราบ ได้แก่

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • กรณีของสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงในการใช้ยาแทบทุกประเภท ซึ่งรวมยาโคลเบทาซอลด้วย ดังนั้นการใช้ยาต่างๆในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงต้องเป็นคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ป่วยด้วยโรค หัดเยอรมัน วัณโรค อีสุกอีใส หรือผู้ที่เพิ่งได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย/ภูมิคุ้มกันโดยฉีดวัคซีน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ ด้วยจะส่งผลให้อาการป่วยเลวลง และทำให้การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้อยประสิทธิภาพลง
  • ผู้ที่มีภาวะติดเชื้อทางผิวหนัง หรือมีภาวะผิวหนังบาง ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้เช่นกัน ด้วยจะทำให้อาการทางผิวหนังแย่ลง

การใช้ยาโคลเบทาซอลชนิดครีม หรือขี้ผึ้ง ให้ทาเพียงบางๆในบริเวณผิวหนังอักเสบ หรือบริเวณผิวหนังที่เกิดโรคเท่านั้น ห้ามทาเป็นบริเวณกว้าง หรือทาคลุมผิวหนังส่วนที่ปกติ

สำหรับการใช้ยาโคลเบทาซอลที่ปลอดภัย ทางคลินิก มีข้อกำหนด ไม่ควรใช้ยาโคลเบทาซอล เกิน 50 กรัม/สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังห้ามทายานี้บริเวณตา ห้ามใช้ยานี้กับผิวหนังที่แพ้เป็นผื่นจากผื่นผ้าอ้อม และการใช้ยานี้กับเด็ก ต้องเพิ่มความระวังเป็นพิเศษ ด้วยยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์(รวมยาโคลเบทาซอล)มีฤทธิ์กดการเจริญเติบโตของเด็กนั่นเอง

ยาโคลเบทาซอล อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้บ้าง อย่างเช่น เกิดการระคายเคืองและแสบคันกับผิวหนังส่วนที่สัมผัสกับยานี้ เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย มีสูตรตำรับที่ขึ้นทะเบียนเป็นยาแผนปัจจุบันของยาโคลเบทาซอลเป็นจำนวนมาก(ดังกล่าวในบทความนี้ หัวข้อ “ โคลเบทาซอลมีชื่ออื่นอีกไหม”) ด้วยเป็นรายการยาที่บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และคณะกรรมการอาหารและยา ระบุการใช้ตัวยาโคลเบทาซอล โพรพิโอเนต (Clobetasol propionate) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

  • ยาโคลเบทาซอลในรูปแบบยาขี้ผึ้ง/ครีม ให้ใช้สำหรับโรคผิวหนังเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อยาอื่น เช่น โรคสะเก็ดเงินที่เล็บซึ่งเป็นบริเวณที่หนา จึงต้องใช้ยาที่เพิ่มการดูดซึมเข้ารอยโรค(ยาโคลเบทาซอล) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการรักษา

อนึ่ง ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาโคลเบทาซอล เพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

โคลเบทาซอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคลเบทาซอล

ยาโคลเบทาซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดอาการอักเสบทางผิวหนัง อย่างเช่น โรคเรื้อนกวาง/ สะเก็ดเงิน โรค Lichen sclerosus และโรค Lichen planus
  • บำบัดอาการผิวหนังไหม้จากผิวแพ้แสงแดดแบบเฉียบพลัน

โคลเบทาซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลเบทาซอล มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยตัวยาจะกระตุ้นการทำงานของสารโปรตีนในร่างกาย ทีมีชื่อว่า Lipocortins โดยโปรตีนชนิดนี้จะช่วยยับยั้งการสังเคราะห์สารที่กระตุ้นการอักเสบของเนื้อเยื่อผิวหนัง ยานี้จึงบำบัดรักษาความผิดปกติของเนื้อเยื่อผิวหนังที่มีรอยโรคได้ตามสรรพคุณ

โคลเบทาซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลเบทาซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาขี้ผึ้ง ขนาดความเข้มข้น 0.05%
  • ยาครีม ขนาดความเข้มข้น 0.05%

โคลเบทาซอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคลเบทาซอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป: ทายาบริเวณที่มีผิวหนังอักเสบ หรือเกิดรอยโรคอย่างบางๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น หรือตามคำสั่งแพทย์ ห้ามทายาติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ และ ห้ามใช้ยาเกิน 50 กรัม/สัปดาห์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมา

*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลเบทาซอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลเบทาซอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาโคลเบทาซอล สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการทายาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โคลเบทาซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาโคลเบทาซอล สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น อาจทำให้เกิดกลุ่มอาการ Cushing syndrome และมีการกดการทำงานของต่อมหมวกไต
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดสิว ผิวหนังบางลง ผิวแห้ง และระคายเคือง เกิดลมพิษ สีผิวเปลี่ยนไป เจ็บผิวหนังส่วนที่สัมผัสยานี้ ผมร่วง สีผมเปลี่ยนไป
  • ผลต่อตา: เช่น อาจทำให้มีอาการแสบ-คัน ตา
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน

มีข้อควรระวังการใช้โคลเบทาซอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลเบทาซอล เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี
  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ต่อเนื่องเกิน 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการดูดซึมยานี้เข้าสู่ร่างกายจนส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ถ้าเกิดอาการระคายเคืองในบริเวณที่ทายา ควรหยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
  • ห้ามใช้ยานี้ในบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อ
  • ห้ามรับประทานหรือทายานี้บริเวณตา
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคต้อหิน ผู้ที่มีภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต ผู้ที่มีอาการทางจิต ด้วยตัวยานี้อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นกำเริบมากขึ้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อพบอาการแพ้ยานี้ เช่น ตัวบวม เกิดผื่นคัน หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาในภาวะร่างกายติดเชื้อไวรัส เช่น เริม หรือติดเชื้อรา หรือเชื้อแบคทีเรีย ด้วยจะทำให้อาการโรครุนแรงมากขึ้น
  • ขณะใช้ยานี้ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลเบทาซอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลเบทาซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ด้วยยาโคลเบทาซอลเป็นยาใช้ภายนอก จึงยังไม่พบรายงานเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยารับประทานชนิดใดๆ

ควรเก็บรักษาโคลเบทาซอลอย่างไร?

ควรเก็บยาโคลเบทาซอลภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โคลเบทาซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลเบทาซอล ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Betasol (เบทาซอล)Chew Brothers
Chinovate (ชิโนเวท)Chinta
Clinoderm (ไคลโนเดอร์ม)Bangkok Lab & Cosmetic
Clobasone (โคลบาโซน)Pharmaland
Clobet Cream (โคลเบท ครีม)Biolab
Clobex (โคลเบ็กซ์)Galderma
Cobesol (โคเบซอล)Community Pharm PCL
Dergemate (เดอร์จีเมท)General Drugs House
Dermovate (เดอร์โมเวท)GlaxoSmithKline
Dermazone (เดอร์มาโซน)Millimed
P-Vate (พี-เวท)Osoth Interlab
Selma (เซลมา)Greater Pharma
Uniderm (ยูนิเดอร์ม)Unison

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Clobetasol_propionate [2016,July30]
  2. https://www.drugs.com/cdi/clobetasol-cream.html [2016,July30]
  3. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/188#item-9031 [2016,July30]
  4. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01013 [2016,July30]