โคลีนซาลิไซเลต (Choline salicylate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 สิงหาคม 2561
- Tweet
- บทนำ
- โคลีนซาลิไซเลตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคลีนซาลิไซเลตอย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคลีนซาลิไซเลตอย่างไร?
- โคลีนซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาลดไข้ ยาแก้ไข้ (Antipyretics) และยาแก้ปวด (Analgesic or Pain Killer)
- แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)
- ยาฆ่าเชื้อ (Antimicrobial drug) ยาแก้อักเสบ (Anti inflammatory drug)
- กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid)
- ซาลิไซเลต (Salicylate)
บทนำ
ยาโคลีนซาลิไซเลต(Choline salicylate) เป็นเกลือของกรดซาลิไซลิก(Salicylic acid) ซึ่งมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด/ยาแก้ปวดตั้งแต่ความรุนแรงระดับต่ำไปจนกระทั่งระดับกลางๆ ลดอาการบวม บำบัดอาการโรคข้อรูมาตอยด์ ช่วยลดไข้/ยาลดไข้ รวมถึงลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ยาโคลีนซาลิไซเลตยังถูกนำไปผลิตเป็นเจลทาบรรเทาปวดเพื่อลดอาการปวดเหงือกของเด็กขณะที่ฟันขึ้น แต่ด้วยผลข้างเคียงและความเป็นพิษทำให้คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศอังกฤษออกข้อกำหนดห้ามใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา
เรามักไม่พบเห็นยาโคลีนซาลิไซเลตในรูปแบบของยาเดี่ยว แต่ยาโคลีนซาลิไซเลตจะถูกใช้เป็นสารออกฤทธิ์ร่วมกับยาอื่นในหลายสูตรตำรับ โดยเฉพาะยาน้ำแบบรับประทานและยาเจลสำหรับทาเฉพาะที่ในช่องปาก ซึ่งปัจจุบันมีหลายสูตรตำรับที่โดนยกเลิกไปแล้ว
ก่อนใช้ยาโคลีนซาลิไซเลต ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์ก่อน รวมถึงห้ามใช้ยานี้นานเกินคำสั่งแพทย์ การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตรต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
โคลีนซาลิไซเลตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้โดยมีฤทธิ์บรรเทาปวด ลดอาการอักเสบ จึงนำมาผสมในสูตรตำรับยาใช้ภายนอกสำหรับป้ายแผลในช่องปาก
โคลีนซาลิไซเลตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลตมีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดโดยกลไกการออกฤทธิ์ ที่ยับยั้งการสร้าง สาร Prostaglandins ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นการอักเสบในร่างกาย และตัวยายังสามารถออกฤทธิ์ที่สมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัสซึ่งจะทำให้อาการไข้ลดลง ด้วยกลไกดังกล่าว จึงเกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ
โคลีนซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เจลป้ายช่องปากสำหรับผู้ใหญ่ ที่ประกอบด้วยตัวยา Choline salicylate 8.714% + Cetalkonium chloride 0.01%
โคลีนซาลิไซเลตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลต มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา กรณีใช้โคลีนซาลิไซเลตเป็นยาป้ายช่องปากใน
- ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: บีบยาจากหลอดเป็นทางยาวครึ่งนิ้ว ป้ายบริเวณแผลในปาก
- เด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า16 ปี: ห้ามใช้ยานี้
อนึ่ง:
- ห้ามป้ายยานี้เกิน 1 ครั้งภายในเวลา 3 ชั่วโมงหลังการป้ายยา
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มซาลิไซเลต(Salicylates)
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลีนซาลิไซเลต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหน้าอก/หายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- โรคประจำตัวต่างๆ เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคหืด รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา อะไรอยู่ เพราะยาโคลีนซาลิไซเลตอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้น หรืออาจเกิด ปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมป้ายยาโคลีนซาลิไซเลต ก็สามารถใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าให้ใช้ยาที่ขนาดปกติเท่าเดิม
แต่การลืมใช้ยาบ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรง เพราะอาจทำให้อาการโรคกำเริบลุกลามมากยิ่งขึ้น
อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีใช้ยาเมื่อลืมอมหรือทาในลักษณะ ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นกับอาการเจ็บป่วยของโรคแต่ละประเภท ดังนั้นจึงควร ปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่าควรทำอย่างไรเมื่อตนเองลืมใช้ยา
โคลีนซาลิไซเลตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลตสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น แสบร้อนกลางอก เป็นตะคริวที่ท้อง ระคายเคืองในกระเพาะอาหาร เกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก/ แผลเปบติก เลือดออกในกระเพาะอาหาร/เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว หายใจเสียงวี๊ด/หายใจเสียงหวีด
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผื่นแดง
*อนึ่ง การได้รับยานี้เกินขนาดจะทำให้ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก กรณีนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้โคลีนซาลิไซเลตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลีนซาลิไซเลต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ และสตรีในภาวะให้นมบุตร จะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจ ของแพทย์เท่านั้น
- หลีกเลี่ยงการปรับขนาดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจาก แพทย์หรือเภสัชกร
- หลังการใช้ยานี้หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลอีกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโคลีนซาลิไซเลตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โคลีนซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลีนซาลิไซเลตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลีนซาลิไซเลตร่วมกับ ยาAdefovir เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงกับไตตามมา
- ห้ามใช้ยาโคลีนซาลิไซเลตร่วมกับ ยาAcetazolamide เพราะจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ เช่น ได้ยินเสียงอยู่ในหู/หูอื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน รู้สึกสับสน ประสาทหลอน หายใจเร็ว มีไข้ เกิดลมชัก หรือมีภาวะโคม่าตามมา
- ห้ามใช้ยาโคลีนซาลิไซเลตร่วมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เพราะจะทำให้เกิดภาวะ Reye’s syndrome ตามมา
- ห้ามใช้ยาโคลีนซาลิไซเลตร่วมกับ ยาKetorolac เพราะจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงนอน อุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด ไอเป็นเลือด ปัสสาวะน้อย และหายใจไม่ออก/หายใจลำบากตามมา
ควรเก็บรักษายาโคลีนซาลิไซเลตอย่างไร?
สามารถเก็บยาโคลีนซาลิไซเลต ภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว และห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
โคลีนซาลิไซเลตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลีนซาลิไซเลต มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Bonjela (บอนเจลา) | Reckitt Benckiser Healthcare |
Teejel Gel (ทีเจล เจล) | Purdue Pharma |
บรรณานุกรม
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB14006 [2018,July28]
- https://www.old.health.gov.il/units/pharmacy/trufot/alonim/TEEJEL_GEL-ALONZARCHAN-ENG_1438846738085.pdf [2018,July28]
- https://www.medicines.org.uk/emc/product/624/smpc [2018,July28]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/choline-salicylate-index.html?filter=3&generic_only= [2018,July28]