โคลิสติน (Colistin) หรือ โพลีมิกซิน อี (Polymyxin E)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 11 สิงหาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โคลิสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โคลิสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคลิสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคลิสตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โคลิสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคลิสตินอย่างไร?
- โคลิสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคลิสตินอย่างไร?
- โคลิสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- โรคระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract disease)
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบทางเดินอาหาร (Anatomy and physiology of alimen tary system)
- โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร (Gastrointestinal infection)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาโคลิสติน (Colistin) อีกชื่อคือ โพลีมิกซิน อี (Polymyxin E) คือ ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด บาซิลไล แกรมลบ (Gram negative bacilli) เช่น Pseudomonas, Escherichia และ Klebsiella genera แต่ก็มีแบคทีเรียแกรมลบอีกหลายชนิดที่ดื้อต่อยานี้ เช่น Brucella, Gram-negative cocci, Helicobacter pylori, Neisseria gonorrheae, Neisseria meningitidis, Proteus, Providencia และ Serratia
เมื่อยาโคลิสตินเข้าสู่ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด โดยที่เด็กจะกำจัดยาออกจากร่างกายได้เร็วกว่าผู้ใหญ่
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาโคลิสตินลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุเป็นหมวดยาอันตราย และการจะใช้ยาโคลิสตินต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
โคลิสตินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
โคลิสตินมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่ตอบสนองกับยาโคลิสติน
โคลิสตินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลิสตินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรียโดยจะเข้าไปจับกับเยื่อหุ้มเซลล์(Cell membrane: เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย โดยเลือกจับกับส่วนที่เรียกว่า ‘ฟอสโฟลิพิด (Phospholipids)’ และจะเกิดการก่อกวนสมดุลของเกลือที่มีประจุบวกในตัวแบคทีเรีย จนทำให้เยื่อหุ้มเซลล์ของแบคทีเรียแตกออกและส่งผลให้แบคทีเรียตายลงในที่สุด
โคลิสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลิสตินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 1 ล้านยูนิต/ผงยา 1 กรัม
- ยาฉีด ขนาด 150 มิลลิกรัม/ขวด
- ยาฉีด ขนาด 1 และ 2 ล้านยูนิต/ขวด
- ยาฉีด ขนาด 5 แสนยูนิต/ขวด
โคลิสตินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโคลิสตินแบ่งตามโครงสร้างทางเคมีได้ 2 แบบ คือ
- โคลิสติน ซัลเฟต (Colistin sulfate) จะใช้เป็นยาสำหรับรับประทาน และ
- โคลิสไตมีเทต โซเดียม (Colistimethate sodium) จะใช้เป็นยาฉีด ซึ่งยาโคลิสตินชนิดฉีดจะใช้เฉพาะในสถานพยาบาลจึงไม่กล่าวถึงในที่นี้
ส่วนขนาดยารับประทานที่ใช้สำหรับ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร ที่ตอบสนองกับโคลิสติน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1.5 - 3 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลางวัน - เย็น
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่มีน้ำหนักตัวอยู่ระหว่าง 15 - 30 กิโลกรัม: รับประทาน 0.75 - 1.5 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลางวัน - เย็น
- เด็กที่น้ำหนักต่ำกว่า 15 กิโลกรัม: รับประทาน 0.25 - 0.5 ล้านยูนิตวันละ 3 ครั้ง เช้า - กลาง วัน - เย็น
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 30 กิโลกรัม: ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและ/หรือระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลิสติน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลิสตินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคลิสติน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในครั้งถัดไปให้รับประทานยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการรับประทานเป็น 2 เท่า
โคลิสตินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคลิสตินสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น
- เป็นพิษกับไต
- ทำลายเส้นประสาท
อนึ่ง ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้นมักเกิดจากการได้รับยาในปริมาณมากและเกินจากที่แพทย์กำหนด
นอกจากนี้ยังอาจพบผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น
- ตาพร่า
- หายใจขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- วิงเวียน
- รู้สึกสับสน
- รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- คลื่นไส้-อาเจียน
- มีการติดเชื้อโรคอื่นเพิ่มขึ้นได้
มีข้อควรระวังการใช้โคลิสตินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลิสติน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยที่ปัสสาวะไม่ออก ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเส้นประสาท
- ระหว่างการใช้ยานี้ควรตรวจสอบระบบและหน้าที่การทำงานของไตว่ายังปกติดีหรือไม่ตามคำแนะนำของแพทย์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลิสตินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โคลิสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลิสตินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยา Chloramphenicol และ Trimethoprim สามารถเสริมฤทธิ์ในการต่อต้านแบคทีเรีย แต่ขณะเดียวกันควรต้องระวังผลข้างเคียงของยาโคลิสตินที่อาจมีตามมามากยิ่งขึ้น การจะใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยา Amikacin, Kanamycin, Streptomycin สามารถทำให้ความเข้มข้นของยาโคลิสตินในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้นจนอาจได้รับผลข้างเคียงติดตามมา หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยาต้านไวรัส เช่นยา Tenofovir อาจทำให้ไตเกิดปัญหาหรือมีความเสีย หายเกิดขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาโคลิสติน ร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของยา Ethinyl estradiol อาจทำให้ประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดด้อยลงไป อาจส่งผลให้มีภาวะตั้งครรภ์ติดตามมา ระหว่างการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกันควรป้องกันหรือคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นด้วยเช่น การใช้ถุงยาอนามัยชาย
ควรเก็บรักษาโคลิสตินอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโคลิสติน: เช่น
- เก็บยาฉีดภายใต้อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาชนิดรับประทานที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส
- อนึ่ง: ยาทั้ง 2 รูปแบบ
- ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โคลิสตินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลิสติน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alfacolin (อัลฟาโคลิน) | Catalysis |
Alficetin (อัลฟิซีทิน) | Nova Argentia |
ColiFin (โคลิฟิน) | Pari Pharma |
Colimicina (โคลิมิซินา) | Quimifar |
Colimycine (โคลิมายซีน) | Sanofi Aventis |
Coliracin (โคลิราซิน) | Rafa |
Colistate (โคลิสเตท) | Atlantic Lab |
Colistimethate (โคลิสติเมเตท) | SteriMax |
Colomycin (โคโลมายซิน) | Forest |
Coly-Mycin (โคลี-มายซิน) | King Pharmaceuticals |
Colistin Kenyaku (โคลิสติน เคนยาคู) | Kenyaku |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Colistin [2021,Aug7]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=colistin [2021,Aug7]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Colistin%20Kenyaku/?type=brief [2021,Aug7]
- https://www.medscape.com/viewarticle/772588_6 [2021,Aug7]
- https://www.drugs.com/mtm/colistimethate.html [2021,Aug7]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/colistin?mtype=generic [2021,Aug7]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/colistin-150 [2021,Aug7]