โคลมิพรามีน (Clomipramine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มกราคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- โคลมิพรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคลมิพรามีนอย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคลมิพรามีนอย่างไร?
- โคลมิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอมเอโอไอ (Monoamine oxidase inhibitor: MAOI)
- ยาทีซีเอ ยารักษาโรคซึมเศร้า (TCAs : Tricyclic and tetracyclic antidepressants)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- เอสเอสอาร์ไอ (Selective serotonin reuptake inhibitors: SSRIs)
บทนำ
ยาโคลมิพรามีน (Clomipramine) เป็นยารักษาโรคประเภท Tricyclic antidepressants (TCAs) รุ่นที่หนึ่ง ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive compulsive disorder) รวมถึงอาการทางจิตประสาทแบบอื่นเช่น ภาวะซึมเศร้า กลไกการออกฤทธิ์ของยานี้จะเกิดที่สมอง โดยทำให้สมดุลของสารสื่อประสาทมีระดับเข้าใกล้ปกติ
ลักษณะธรรมชาติของยาโคลมิพรามีนจะเป็นผงผลึกสีออกขาว ละลายน้ำได้ดีแต่ไม่ละลายในแอลกอฮอล์ รูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นได้จะเป็นยารับประทาน โดยตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารและเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 50% ของยาที่รับประทานเข้าไป โคลมิพรามีนในกระแสเลือดสามารถจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 97 - 98% ตับจะมีหน้าที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างโมเลกุลของยาโคลมิพรามีนอย่างต่อเนื่อง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 32 ชั่วโมงขึ้นไปเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
มีข้อควรระวังการใช้ยาลมิพรามีนกับสตรีตั้งครรภ์ด้วยตัวยาอาจทำให้การเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ผิดปกติไป นอกจากนี้ยาโคลมิพรามีนยังสามารถซึมผ่านออกมากับน้ำนมของมารดาและสามารถเข้าสู่ทารกที่ดื่มนมของมารดาได้ หรือการใช้กับผู้ป่วยเด็กรวมถึงวัยรุ่น ผู้ปกครองต้องเฝ้าระวังอาการหรือความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง กรณีที่ผู้ป่วยมีการใช้ยากลุ่ม MAOIs อยู่ก่อนแล้ว แพทย์จะหลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลมิพรามีนด้วยจะเกิดความเสี่ยงของการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาทั้ง 2 กลุ่มนั่นเอง หรือการใช้โคลมิพรามีนร่วมกับยารักษาโรคซึมเศร้ากลุ่ม Selective serotonin reuptake inhibitors ก็สามารถก่อให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome ติดตามมาได้
ยังมีโรคประจำตัวต่างๆที่ถือเป็นข้อพึงระวัง/ข้อห้ามเมื่อจะใช้ยาโคลมิพรามีนเช่น ต้อหิน โรคลมชัก โรคหัวใจล้มเหลว ด้วยตัวยาอาจทำให้โรคเหล่านี้มีอาการรุนแรงมากขึ้น
ก่อนการสั่งจ่ายยาโคลมิพรามีนให้กับผู้ป่วย แพทย์จะซักถามประวัติและสถานภาพทางสุขภาพของผู้ป่วยอยู่หลายประการเช่น
- ถ้าเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- หากเป็นเด็ก - วัยรุ่น เคยมีประวัติอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองหรือไม่
- ติดสุราหรือดื่มสุราเป็นประจำหรือไม่
- มีโรคประจำตัวอะไรบ้างรวมถึงอาการทางจิตประสาทอย่างอื่นเช่น มีอารมณ์แปรปรวนหรือ เป็นโรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้วหรือไม่
- มีกำหนดที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดในเวลาอันใกล้นี้หรือไม่
- ใช้ยาชนิดใดอยู่บ้าง ใช้เป็นประจำหรือใช้เฉพาะกิจ
หลังมีการสั่งจ่ายยาโคลมิพรามีน แพทย์อาจชี้แจงผลข้างเคียงจากการใช้ยานี้ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยปรับตัวในระหว่างที่ได้รับยาโคลมิพรามีนได้ดีขึ้นเช่น
- ยาโคลมิพรามีนอาจทำให้รู้สึกมึนงง ง่วงนอน ตาพร่า จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆรวมถึงการทำงานกับเครื่องจักร
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อนหรือที่ที่มีอุณหภูมิสูงๆด้วยยาโคลมิพรามีนอาจกระตุ้นให้เกิดอาการเป็นลมได้ง่ายยิ่งขึ้น
- ระวังการเกิดภาวะ Serotonin syndrome ในระหว่างที่ใช้ยานี้
- หากพบปัญหาเรื่องการมองเห็นหลังใช้ยานี้ ให้รีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ยาโคลมิพรามีนยังกระตุ้นให้ผิวหนังของผู้ป่วยเกิดผิวแพ้แสงแดดได้ง่ายจึงควรหลีกเลี่ยงการออกแดดหรือเลี่ยงการอยู่ภายใต้แสงไฟเป็นเวลานานๆ
อนึ่งคณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยาโคลมิพรามีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ดังนั้นจึงสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป
โคลมิพรามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อรักษาภาวะย้ำคิดย้ำทำ
โคลมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะยับยั้งการดูดกลับของสารสื่อประสาทประเภท Serotonin ในสมอง ทำให้ปริมาณของสารสื่อประสาทอยู่ในภาวะสมดุล มีผลทำให้อาการของผู้ป่วยกลับมาเป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติ
โคลมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25 มิลลิกรัม/เม็ด
โคลมิพรามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่อายุมากกว่า 17 ปี: รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน ขนาดที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 100 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทาน และขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 250 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 10 - 17 ปี: รับประทานเริ่มต้น 25 มิลลิกรัมวันละครั้งก่อนนอน ขนาดที่ใช้คงระดับของการรักษาอยู่ที่ 100 มิลลิกรัม/วันหรือใช้ขนาดต่ำกว่านี้ ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิ กรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี: ขนาดการใช้ยานี้แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้พิจารณาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ:
- ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลมิพรามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคลมิพรามีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโคลมิพรามีนตรงเวลา
โคลมิพรามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปวดกระเพาะปัสสาวะ มีเลือดปนขณะปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะขัด ตาพร่า ปวดตามร่างกาย แสบคันบริเวณผิวหนัง รู้สึกสับสน วิงเวียน ง่วงนอนคล้ายจะเป็นลม กระสับกระส่าย รู้สึกซึมเศร้า การได้ยินเสียงเปลี่ยนไป ขาดสมาธิ หายใจสั้นๆ เหนื่อยง่าย อาจมีอาการจามหรือมีเสียงเปลี่ยนไป ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะผิวแห้ง ท้องเสีย และแสบร้อนกลางอกร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้โคลมิพรามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลมิพรามีนเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาโคลมิพรามีนร่วมกับยากลุ่ม MAOIs
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นสภาพจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดการใช้ยานี้เองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุราหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคลมชัก ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์ โรคหัวใจ เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะและการทำงานกับเครื่องจักรขณะใช้ยานี้
- หากมีอาการแพ้ยานี้ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลมิพรามีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โคลมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลมิพรามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาโคลมิพรามีนร่วมกับยา 5-hydroxytryptophan อาจทำให้เกิดภาวะ Serotonin syndrome หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโคลมิพรามีนร่วมกับยา Chlorpheniramine อาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง เกิดภาวะเป็นลมแดดได้ง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโคลมิพรามีนร่วมกับยา Epinephrine สามารถทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยผิดปกติ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาโคลมิพรามีนร่วมกับยา Phentermine อาจทำให้ความดันโลหิตของผู้ป่วยสูงขึ้น รวมถึงเกิดอาการไข้ ปวดศีรษะติดตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
ควรเก็บรักษาโคลมิพรามีนอย่างไร?
เก็บยาโคลมิพรามีนในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
โคลมิพรามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลมิพรามีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anafranil (อะนาฟรานิล) | Novartis |
Clofranil (โคลฟรานิล) | Sun Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Clomipramine [2016,Jan9]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Anafranil/?type=brief [2016,Jan9]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/clomipramine-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan9]
- http://dmsic.moph.go.th/dmsic/admin/files/userfiles/files/essential_book_56.pdf [2016,Jan9]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Clomipramine [2016,Jan9]