โคลฟาซิมีน (Clofazimine)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลฟาซิมีน (Clofazimine) เป็นสารที่ละลายได้ดีในไขมัน ใช้ร่วมกับยา Rifampicin และยา Dapsone เพื่อรักษาโรคเรื้อน (Leprosy) ซึ่งมีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Mycobac terium leprae และ Mycobacterium lepromatosis ในต่างประเทศจะรู้จักยานี้ภายใต้ชื่อการ ค้า “Lamprene” ถูกจัดจำหน่ายโดยบริษัทยา Novatis ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) รูป แบบยาแผนปัจจุบันของยานี้ที่สามารถพบเห็นได้จะเป็นยาชนิดรับประทาน

ยาโคลฟาซิมีนมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 45 - 70% จากนั้นจะกระ จายไปตามเนื้อเยื่อไขมันของร่างกาย ซึ่งทำให้การกำจัดยาโคลฟาซิมีน 50% ออกจากกระแสเลือดต้องใช้เวลาถึงประมาณ 70 วัน ยาโคลฟาซิมีนยังสามารถซึมผ่านเข้ารกและเข้าไปในน้ำ นมของมารดาได้อีกด้วย ซึ่งร่างกายสามารถกำจัดยานี้โดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระ ปัสสาวะ และต่อมเหงื่อ

องค์การอนามัยโลกระบุให้ยาโคลฟาซิมีนเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน คณะ กรรมการอาหารและยาของไทยก็ได้บรรจุยาโคลฟาซิมีนลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่นกัน ด้วยความจำเพาะเจาะจงของตัวยากับอาการโรค การใช้ยานี้กับผู้ป่วยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

โคลฟาซิมีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โคลฟาซิมีน

ยาโคลฟาซิมีนมีสรรพคุณดังนี้

  • บำบัดรักษาอาการของโรคเรื้อน (Multibacillary leprosy)
  • รักษาอาการของโรคเรื้อนที่บำบัดด้วยยา Dapsone แล้วไม่ได้ผล (Dapsone-resistant leprosy)
  • บำบัดระยะอาการที่เกิดตุ่มหรือก้อนเนื้อของโรคเรื้อนหรือที่เรียกว่า Erythema nodosum leprosum (Type 2)

โคลฟาซิมีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลฟาซิมีนคือ ตัวยาจะยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย โดย ตัวยาจะเข้าไปรวมตัวกับสารพันธุกรรม (DNA) ในตัวแบคทีเรีย ส่งผลให้แบคทีเรียหยุดการเจริญเติบ โตและตายลงในที่สุด

โคลฟาซิมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลฟาซิมีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้เช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 100 มิลลิกรัม/เม็ด

โคลฟาซิมีนมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?

ยาโคลฟาซิมีนมีขนาดรับประทานสำหรับรักษาอาการของโรคเรื้อนดังนี้เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 12 เดือน โดยในแต่ละเดือนให้กำหนด 1 วันที่ต้องรับประทานยาเพิ่มจาก 50 มิลลิกรัมเป็น 300 มิลลิกรัม เช่น วันที่ 1 - 14 รับประทาน 50 มิลลิ กรัม/วัน, วันที่ 15 รับประทาน 300 มิลลิกรัม, วันที่ 16 - 30 รับประทาน 50 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 10 - 14 ปี: รับประทาน 50 มิลลิกรัมวันเว้นวันเป็นเวลา 12 เดือน และเช่นกันกับในผู้ใหญ่ดังได้กล่าวแล้วที่ในแต่ละเดือนให้กำหนด 1 วันที่ต้องรับประทานยาเพิ่มจาก 50 มิลลิกรัมเป็น 150 มิลลิกรัม
  • เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีลงมา: รับประทาน 50 มิลลิกรัมสัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลา 12 เดือน และเช่นกันในแต่ละเดือนให้กำหนด 1 วันที่ต้องรับประทานยาเพิ่มจาก 50 มิลลิกรัมเป็น 100 มิลลิ กรัม

*อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ปกติการรักษาโรคเรื้อนจะใช้ยาโคลฟาซิมีนร่วมกับยา Dapsone และ Rifampicin แต่ในบทความนี้จะไม่ขอกล่าวถึงขนาดการใช้ของยา Dapsone และ Rifampicin แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง Dapsone และเรื่อง Rifampicin

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาโคลฟาซิมีนที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลฟาซิมีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลฟาซิมีนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลฟาซิมีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

โคลฟาซิมีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลฟาซิมีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น ทำให้ผิวหนังมีสีแดง-น้ำตาลคล้ำเมื่อถูกแสงแดดในระหว่างการใช้ยา พบอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย น้ำหนักลด ปวดศีรษะ วิงเวียน ผิวแห้ง ตามัว ร่างกายลดการผลิตน้ำ ตาและเหงื่อ

อนึ่ง หากผู้ป่วยเผลอรับประทานยานี้เกินขนาด แพทย์จะให้การรักษาโดยอาจใช้วิธีทำให้อาเจียนหรือการล้างท้องร่วมกับรักษาผู้ป่วยตามอาการที่ปรากฏ

มีข้อควรระวังการใช้โคลฟาซิมีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลฟาซิมีนดังนี้เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคตับ
  • ระวังการขับขี่ยวดยานพาหนะระหว่างที่ใช้ยานี้จากผลข้างเคียงของยานี้ที่ทำให้เห็นภาพไม่ชัด
  • ระวังไม่ให้ผิวหนังถูกแสงแดดโดยตรง เพราะจะก่อให้ผิวหนังเปลี่ยนสีได้ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ ผลไม่พึงประสงค์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลฟาซิมีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคลฟาซิมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลฟาซิมีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น เมื่อใช้ยาโคลฟาซิมีนร่วมกับยารักษาวัณโรคเช่น Bedaquiline สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ การใช้ยาทั้งคู่ร่วมกันแพทย์จะประเมินข้อดีข้อเสียรวมถึงเฝ้าระวังอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องใช้โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

ควรเก็บรักษาโคลฟาซิมีนอย่างไร?

ควรเก็บยาโคลฟาซิมีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

โคลฟาซิมีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลฟาซิมีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Aplaket (อะพลาเค็ท)Rottapharm

บรรณานุกรม

1. http://en.wikipedia.org/wiki/Clofazimine [2015,April18]
2. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=clofazimine [2015,April18]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Lamcoin/ [2015,April18]
4. http://www.mims.com/USA/drug/info/clofazimine/clofazimine?type=brief&mtype=generic[2015,April18]
5. http://apps.who.int/medicinedocs/en/d/Jh2988e/14.html[2015,April18]
6. http://www.medicinenet.com/clofazimine-oral/page2.htm#DrugInteractions [2015,April18]