โคลบาแซม (Clobazam)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลบาแซม(Clobazam ย่อว่า CLB)เป็นยาในกลุ่มเบนโซไดอะซีปีน(Benzodiazepine)ที่มีการออกฤทธิ์นาน ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการวิตกกังวลตั้งแต่ปี ค.ศ.1975 (พ.ศ.2518) และใช้บำบัดอาการลมชักเมื่อปี ค.ศ.1984 (พ.ศ.2527) ยานี้สามารถใช้ได้ทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาโคลบาแซมเป็นยารับประทาน โดยตัวยามีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 87% เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด ยานี้จะถูกทำลายโดยตับ และมีการขับทิ้งโดยผ่านไปกับปัสสาวะ รวมระยะเวลาที่ยาโคลบาแซมสามารถอยู่ในร่างกายได้ประมาณ 18–42 ชั่วโมง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงอาจรับประทานยานี้วันละ1ครั้งก่อนนอน หรือวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการโรคและดุลยพินิจของแพทย์ที่เห็นว่าเหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ยาโคลบาแซมก็มีข้อห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีสถานะของสุขภาพดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติติดสาร/ยาเสพติด
  • ห้ามใช้ยาโคลบาแซมกับผู้ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร ผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับรวมถึงผู้ที่มีภาวะระบบทางเดินหายใจทำงานผิดปกติ เช่น โรคหืด
  • ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยาแก้ปวดประเภท Opioid หรือยาเบนโซไดอะซีปีนตัวอื่น ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) อย่างเช่น ง่วงนอน การหายใจช้าลง หรือมีความรู้สึกสับสนเพิ่มมากขึ้น
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานโดยไม่ได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • *การรับประทานยาโคลบาแซมเกินขนาด จะก่อให้เกิดอาการง่วงนอนมาก รู้สึกสับสน ตัวเย็น ความดันโลหิตต่ำ และมีภาวะกดการหายใจจนเข้าขั้นโคม่า ซึ่งหากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามหยุดรับประทานยานี้โดยกะทันหัน เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงจากอาการโรคที่เป็นอยู่ทวีความรุนแรงขึ้น เช่น เกิดการชัก อารมณ์แปรปรวน นอนไม่หลับ การหยุดใช้ยานี้ที่ปลอดภัยต่อผู้ป่วย ต้องให้แพทย์เป็นผู้ค่อยๆปรับลดขนาดรับประทานลงเป็นลำดับ
  • ยานี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกอยากทำร้ายตนเองขึ้นได้ ญาติผู้ป่วยจึงต้องเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญคอยเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของผู้ป่วย หากพบว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ซึมเศร้ามากขึ้น หรือเกิดภาวะก้าวร้าว อารมณ์เหวี่ยง/อารมณ์แปรปรวน ควรรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด

ผู้ป่วยที่ได้รับยาโคลบาแซมต้องทำความเข้าใจเรื่องการใช้ยานี้อย่างถูกต้องจาก แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร ต้องสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการใช้ยานี้ได้ เช่น หากพบอาการ แน่นหน้าอก มีไข้ เกิดผื่นคัน ไออย่างรุนแรง สีผิวคล้ำขึ้น ใบหน้าบวม เกิดอาการชัก ต้องรีบนำผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน การใช้ยานี้ได้ถูกต้องตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น จึงจะทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

อนึ่ง ในบ้านเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาโคลบาแซมภายใต้ชื่อการค้าว่า “Frisium”

โคลบาแซมมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคลบาแซม

ยาโคลบาแซมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้รักษาอาการวิตกกังวล ที่มีระดับความรุนแรงสูง โดยใช้ยานี้เพียงระยะสั้นๆตามดุลพินิจของแพทย์
  • รักษาอาการลมชัก ซึ่งอาจต้องใช้ยานี้เป็นเวลานานทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เช่นกัน

โคลบาแซมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคลบาแซม มีกลไกการออกฤทธิ์ที่สมอง โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า GABA receptors ส่งผลให้เกิดการปรับการส่งผ่านของกระแสประสาทอย่างมีสมดุลจนใกล้เคียงกับภาวะปกติ ด้วยกลไกนี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

โคลบาแซมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคลบาแซมมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Clobazam ขนาด 5, 10 และ 20 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาน้ำชนิดรับประทานที่ประกอบด้วยยา Clobazam ขนาด 2.5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

โคลบาแซมมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาโคลบาแซมมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็กอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป: รับประทานยาขนาด 20–30 มิลลิกรัม ครั้งเดียว ก่อนนอน หรือจะแบ่งรับประทานระหว่างวันก็ได้ตามคำแนะนำของแพทย์ กรณีที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 60 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุ 3–12 ปี: รับประทานยาขนาด 0.125 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษา คือ 0.250 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 0.500 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3ปี: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดถึง ขนาดยานี้ ผลข้างเคียง และความปลอดภัยในการใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
  • ผู้สูงอายุ: รับประทานยา 10–20 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้
  • แพทย์จะปรับขนาดรับประทานของยานี้ลดลง เมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ หรือโรคไต

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคลบาแซม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคกล้ามเนื้อ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลบาแซม อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาโคลบาแซม สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาโคลบาแซม อาจก่อให้เกิดอาการถอนยาตามมา

โคลบาแซมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคลบาแซมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องผูก อาเจียน คลื่นไส้ ปากแห้ง
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน อาจมีอาการตัวสั่นเล็กน้อย ง่วงนอน สูญเสียการทรงตัว ความจำเสื่อม
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทางเดินปัสสาวะอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) ปัสสาวะขัด
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน ปอดบวม หลอดลมอักเสบ ไอ หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคันตามผิวหนัง เหงื่อออกมาก
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น หิวอาหารบ่อย หรือไม่ก็เบื่ออาหาร
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตต่ำ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ก้าวร้าว นอนไม่หลับ ซึม สมรรถภาพทางเพศถดถอย รู้สึกสับสน มีความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง
  • ผลต่อตา: เช่น การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน

มีข้อควรระวังการใช้โคลบาแซมอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลบาแซม เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง และใช้ยานี้ตามที่แพทย์แนะนำ
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเม็ดยาเปลี่ยน เม็ดยาแตกหัก
  • ห้ามหยุดใช้ยานี้กะทันหัน
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ ผู้ที่ติดสาร/ยาเสพติด ผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • เฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยระหว่างที่ใช้ยาโคลบาแซม โดยเฉพาะเรื่องพฤติกรรม และอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น ก้าวร้าวขึ้น ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลบาแซมด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลบาแซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลบาแซมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลบาแซมร่วมกับยา Hydrocodrone , Codeine , Fentanyl, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น รวมถึงมีการกดทางเดินหายใจจนถึงขั้นโคม่าได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลบาแซมร่วมกับยา Diphenhydramine ด้วยยาโคลบาแซมจะทำให้ระดับยา Diphenhydramine ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Diphenhydramine สูงขึ้นตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลบาแซมร่วมกับยา Acetylcarbromal(ยารักษาทางจิตเวช) ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง อาทิ วิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน การครองสติทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม
  • ห้ามใช้ยาโคลบาแซมร่วมกับยา Perindopril ด้วยจะทำให้ความดันโลหิตต่ำ

ควรเก็บรักษาโคลบาแซมอย่างไร?

เก็บยายาโคลบาแซมภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส(Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ และเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น

โคลบาแซมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลบาแซม ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Frisium (ฟริสเซียม)Sanofi Winthrop Industrie

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Onfi, Tapclob, Urbanol

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/ppa/clobazam.html[2017,July1]
  2. https://www.drugs.com/sfx/clobazam-side-effects.html[2017,July1]
  3. https://www.drugs.com/drug-interactions/clobazam-index.html?filter=3&generic_only=[2017,July1]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/clobazam/?type=brief&mtype=generic[2017,July1]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Clobazam[2017,July1]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/8300/PIL/Frisium+Tablets+10+mg[2017,July1]