โคลนิดีน (Clonidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 22 ธันวาคม 2557
- Tweet
- บทนำ
- ยาโคลนิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนิดีนอย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโคลนิดีนอย่างไร?
- ยาโคลนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไมเกรน (Migraine)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
- ท้องเสีย (Diarrhea)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder)
บทนำ
ยาโคลนิดีน (Clonidine) เป็นยากลุ่ม Sympathomimetic ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล ไมเกรน บรรเทาอาการร้อนวูบวาบหลังหมดประจำเดือน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัยหมดประจำเดือน) โรคท้องเสียรุนแรง รวมถึงอาการปวดที่มีสาเหตุจากเส้นประสาทอีกด้วย
จากการศึกษาด้านการกระจายตัวของโคลนิดีนพบว่า ยาสามารถถูกดูดซึมจากทางเดินอาหารประมาณ 75 - 95% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 20 - 40% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของปริมาณยาที่ได้รับ และร่างกายต้องใช้เวลา 6 - 24 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยมีวัตถุประ สงค์ให้เป็นยาบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด และจัดยานี้อยู่ในหมวดยาอันตราย แพทย์เท่านั้นที่สามารถสั่งจ่ายยานี้ให้ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
ยาโคลนิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโคลนิดีนมีสรรพคุณดังนี้
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ป้องกันการเกิดไมเกรน
- บำบัดอาการวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน
ยาโคลนิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลนิดีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ก้านสมอง ส่งผลให้หลอดเลือดส่วนปลายตามอวัยวะต่างๆเกิดการขยายตัว และทำให้ความดันโลหิตกับอัตราการเต้นของหัวใจลดลง จึงส่งผลให้ยามีสรรพคุณดังกล่าว
ยาโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลนิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาเม็ด ขนาด 0.075 และ 0.15 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ด ขนาด 0.1, 0.2 และ 0.3 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาฉีด ขนาด 100 และ 500 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนังขนาดบรรจุยา 0.1, 0.2 และ 0.3 มิลลิกรัม/แผ่น
ยาโคลนิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโคลนิดีนมีขนาดรับประทานดังนี้
ก.สำหรับความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 50 - 100 ไมโครกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2,400 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 2 - 18 ปี: ขนาดเริ่มต้นรับประทาน 0.5 - 1 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมโดยแบ่งรับประทานหรือไม่เกิน 1.2 มิลลิกรัม/วัน
- ด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี: ไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึงขนาดยาที่ใช้ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้ จึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ข.สำหรับป้องกันไมเกรน:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 75 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
- เด็ก: ไม่มีข้อมูลทางการศึกษาถึงขนาดยาที่ใช้ชัดเจนในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงขึ้นกับดุล พินิจของแพทย์
ค.สำหรับบรรเทาอาการวัยทองหรือวัยหมดประจำเดือน:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 50 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์สามารถเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 75 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น
*****หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลนิดีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลนิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคลนิดีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยานี้ในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโคลนิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโคลนิดีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ปากแห้ง ง่วงนอน วิงเวียน ปวดศีรษะ ท้องผูก ปัสสาวะขัด ผื่นคัน มีความรู้สึกร้อนวูบในลูกตา รู้ สึกไม่สบายในทางเดินอาหาร ความดันโลหิตต่ำ ลำไส้เล็กเคลื่อนตัวน้อยลง ลมพิษ คลื่นไส้ นอนไม่หลับ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
อนึ่ง การรับประทานยาโคลนิดีนเกินขนาด อาจส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูงและติดตามมาด้วยความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้าลง หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง อ่อนเพลีย กดประสาทส่วนกลาง (ซึ่งมักพบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่เช่น ง่วงซึม) มีอาการโคม่า และเกิดการชักในที่สุด อาการที่ได้รับยานี้เกินขนาดจะแสดงออกมาในช่วง 30 นาที - 2 ชั่วโมง หลังจากได้รับยาโคลนิดีน หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาทันที
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลนิดีนดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- การหยุดยานี้เองโดยทันทีอาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
- ระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ และผู้ที่มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลนิดีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาฟีนิลเอฟรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลนิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นดังนี้เช่น
- การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยาขับปัสสาวะหรือยาขยายหลอดเลือด (เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูงกลุ่ม Beta blocker) อาจก่อให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำมากจนเกิดอันตราย ซึ่งหากต้อง ใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป
- การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยารักษาโรคหัวใจเช่น Digitalis หรือยารักษาอาการทางจิตประสาท เช่น Lithium อาจทำให้เกิดพิษต่อร่างกายได้เพิ่มมากขึ้นจากยาโรคหัวใจและยาจิตประสาท หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรเลี่ยงการใช้ยาเหล่านี้ร่วมกัน
- การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับยาต้านการซึมเศร้าเช่น Nortriptyline อาจก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หน้าแดง วิงเวียน ปวดศีรษะ หรือมีอาการชีพจรเต้นผิดจังหวะ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาโคลนิดีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำ วิงเวียน เป็นลม อัตราการเต้นหัวใจผิดปกติ ถือเป็นข้อห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด
ควรเก็บรักษายาโคลนิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาโคลนิดีนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาโคลนิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลนิดีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Hypodine (ไฮโปดีน) | Central Poly Trading |
Clonidine Hydrochloride Injection (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ อินเจ็กชั่น) | APP Pharmaceuticals, LLC |
Clonidine Hydrochloride Tablet (โคลนิดีน ไฮโดรคลอไรด์ แท็บเล็ท) | Qualitest Pharmaceuticals |
Catapres (คาทาเพรส) | Boehringer Ingelheim Pharmaceutical Inc |
Duraclon (ดูราคลอน) | Xanodyne |
Clonidine Patch (โคลนิดีน แพทช์) | Mylan Pharmaceuticals Inc |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Clonidine [2014,Nov29]
2 http://en.wikipedia.org/wiki/Alpha-adrenergic_agonist [2014,Nov29]
3 http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/658#item-8572 [2014,Nov29]
4 http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Hypodine/?type=brief [2014,Nov29]
5 http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=clonidine[2014,Nov29]
6 http://www.mims.com/USA/drug/info/clonidine/?type=full&mtype=generic#Dosage [2014,Nov29]
7 http://www.drugs.com/drug-interactions/clonidine.html[2014,Nov29]
8 http://www.mims.com/USA/drug/info/Clonidine%20Hydrochloride/Clonidine%20Hydrochloride%20Tablet?type=full [2014,Nov29]