โคลทาร์ทอปิคอล (Coal tar topical)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคลทาร์ (Coal tar) หรือ ‘น้ำมันดิน’ มีลักษณะเป็นของเหลวสีดำ และมีความหนืดข้น ซึ่ง ยาโคลทาร์ทอปิคอล(Coal tar topical) เป็นกลุ่มเภสัชภัณฑ์จำพวกน้ำมันดินบริสุทธิ์ที่โดนแปลรูปมาเป็น ‘ยาทาผิวหนังภายนอก’ ซึ่งมีทั้ง โลชั่น ครีม ขี้ผึ้ง แชมพู และโฟมอาบน้ำ ทางคลินิกจะใช้ยาทาโคลทาร์ทอปิคอลในการรักษาโรคผิวหนังหลายประเภท เช่น โรคสะเก็ดเงิน, ผดผื่นคัน, ผื่นผิวหนังอักเสบ, รังแคบนหนังศีรษะ, โดยต้องทายาบริเวณผิวหนังภายนอกเท่านั้น

จากงานศึกษาวิจัยทางการแพทย์ ยังพบว่าการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดินร่วมกับยาทาจำพวกวิตามินดี หรือ ยาสเตียรอยด์ ชนิดทาผิวภายนอก สามารถเพิ่มประสิทธิภาพบำบัดอาการของโรคทางผิวหนัง/โรคผิวหนังได้เป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ การใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลจะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ตัวอย่างการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันดิน เพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงินในผู้ใหญ่ อาจต้องใช้ระยะเวลาของการทายายาวนานติดต่อกันประมาณ 4 สัปดาห์ และประมาณ 2 สัปดาห์สำหรับเด็ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วยด้วยเช่นกัน

ในตลาดยาต่างประเทศ สามารถซื้อหาผลิตภัณฑ์น้ำมันดินได้ตามร้านขายยา และเพื่อประสิทธิผลในการรักษา แพทย์จะเป็นผู้เลือกรูปแบบเภสัชภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอลได้อย่างเหมาะสมที่สุด

โคลทาร์ทอปิคอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โคลทาร์ทอปิคอล

ยาโคลทาร์ทอปิคอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคสะเก็ดเงิน
  • บำบัดอาการโรคเซบเดิร์ม (Seborrheic dermatitis)
  • บำบัดรังแคบนหนังศีรษะด้วยมีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อรา
  • บรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ลดอาการคันของผิวหนัง
  • รักษาโรคกลาก

โคลทาร์ทอปิคอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ในเชิงอุตสาหกรรม น้ำมันดินถูกนำมาใช้เทพื้นถนนเพื่อเพิ่มความทนทาน แต่ทางคลินิก การใช้น้ำมันดินมารักษาโรคทางผิวหนัง น่าจะเป็นเหตุผลจากองค์ประกอบของน้ำมันดิน ซึ่งมีสารประกอบจำพวก Phenols, Polycyclic aromatic hydrocarbons, และสารประเภท Heterocyclic compounds, ทำให้น้ำมันดินมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ผิวหนังให้หลุดลอก หรือช่วยชะลอการเจริญของชั้นผิวหนังที่ก่อโรค การใช้น้ำมันดินแบบทาภายนอกในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์ จึงช่วยบำบัดอาการโรคทางผิวหนังได้ตามสรรพคุณ

โคลทาร์ทอปิคอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

อาจสรุปรูปแบบผลิตภัณฑ์ของน้ำมันดินที่ใช้ภายนอกร่างกายได้ดังนี้ เช่น

  • โคลทาร์โลชั่น ที่ประกอบด้วยน้ำมันดิน 5% (5% Coal tar solution)
  • โคลทาร์โลชั่นเข้มข้น 2.5% สำหรับทาหนังศีรษะ (Coal tar 2.5%+Lecithin 0.3%)
  • โคลทาร์ครีม ที่ประกอบด้วยน้ำมันดิน 6% (6% Coal tar solution)
  • โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 5% (Alcohol coal tar extract 5%)
  • โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 2% (Coal tar extract 2%)
  • โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 4% (Coal tar 4%)
  • โคลทาร์แชมพูเข้มข้น 1% (Coal tar 1% + Coconut oil 1% + Salicylic acid 0.5%)
  • โคลทาร์ขี้ผึ้งสำหรับทาหนังศีรษะเข้มข้น 12% (Coal tar solution 12% + Salicylic acid 2% + Precipitated sulphur 4%)
  • โคลทาร์อีมัลชั่นสำหรับอาบน้ำ (Bath emulsion coal tar 40%)

โคลทาร์ทอปิคอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคลทาร์ทอปิคอล มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา สำหรับรักษาโรค กลาก, สะเก็ดเงิน, โรคเซบเดิร์ม, และโรคผิวหนังอื่นๆ เช่น

  • โคลทาร์แชมพู: ใช้สระผมวันละ1ครั้งหรือสัปดาห์ละ1ครั้ง โดยเป็นไปตามคำสั่ง แพทย์
  • โคลทาร์ขี้ผึ้ง: ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรควันละ 2–3 ครั้ง จนอาการดีขึ้น
  • โคลทาร์ครีม: ใช้ทาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรควันละ 1–4 ครั้ง
  • โคลทาร์อีมัลชั่น: อุ่นโคลทาร์โซลูชั่นชนิดอีมัลชั่น 40% ในน้ำอุ่น เพื่อให้ตัวยาเหลวขึ้นและไม่ข้นเกินไป แล้วทาผิวหนังบริเวณที่เป็นโรคสะเก็ดเงินเพียงบางๆ ถูยาจนกระทั่งแห้ง อาจทายา 1–4ครั้ง/วัน โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • โคลทาร์โลชั่น: ใช้ทาแขนหรือเท้าตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้โคลทาร์ในรูปแบบเภสัชภัณฑ์ใดๆกับผู้ป่วยเด็ก ต้องเป็นไปตามคำสั่ง แพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่ง เท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยา โคลทาร์ทอปิคอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลทาร์ทอปิคอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล ตรงเวลา หากลืมใช้ยานี้สามารถใช้ยานี้เมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยานี้ในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยานี้เป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาที่ขนาดปกติ

โคลทาร์ทอปิคอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

การใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล อาจทำให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • ระคายเคืองผิวหนังที่มีการสัมผัสกับยานี้ หรือก่อให้เกิดอาการคันตามร่างกาย
  • อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ใช้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล อาการข้างเคียงดังกล่าวอาจหายไปเองด้วยมีการปรับตัวของร่างกายผู้ป่วย
  • แพทย์ผู้ที่ทำการรักษาจะสามารถให้คำแนะนำ หรือวิธีป้องกันอาการข้างเคียงจากยาโคลทาร์ทอปิคอลได้เป็นอย่างดี

มีข้อควรระวังการใช้โคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยา โคลทาร์ทอปิคอล
  • ห้ามใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลกับผิวหนังที่มีแผลเปิด หรือมีการอักเสบ หรือผิวหนังที่เพิ่งได้รับการบำบัดด้วยแสงยูวี
  • ห้ามมิให้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล เข้าตา หรือ เข้าปาก
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป ให้ใช้ยานี้ตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้รุนแรง เช่น ผื่นคัน ตัวบวม/ผิวหนังบวม อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • หลีกเลี่ยงการออกแดดขณะใช้ผลิตภัณฑ์ยาโคลทาร์ทอปิคอล
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลทาร์ทอปิคอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคลทาร์ทอปิคอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคลทาร์ทอปิคอล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคลทาร์ทอปิคอลในรูปแบบต่างๆร่วมกับยา Aminolevulinic acid, Methyl aminolevulinate topical, และ Hexaminolevulinate , ด้วยอาจกระตุ้นให้ผิวหนังแพ้แสงแดดง่าย

ควรเก็บรักษาโคลทาร์ทอปิคอลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาโคลทาร์ทอปิคอล เช่น

  • เก็บยาโคลทาร์ทอปิคอลภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บยานี้ในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยานี้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

โคลทาร์ทอปิคอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคลทาร์ทอปิคอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Coal Tar Srichand (โคลทาร์ ศรีจันทร์)Srichand
Elta (เอลทา)Swiss American Products
Exorex (เอ็กโซเร็กซ์)Meyer Zall Laboratories Pty Ltd.
Balnetar (บัลเนทาร์)Westwood Squibb
Derm oil (เดิร์ม ออยล์)Dermtek Pharma Inc
Dermabon (เดอร์มาบอน)Jose Maria Licona Saenz

บรรณานุกรม

  1. https://www.psoriasis-association.org.uk/media/InformationSheets/Coal_Tar.pdf [2019,April20]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Coal_tar#Mechanism_of_action [2019,April20]
  3. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/coal-tar-topical-route/proper-use/drg-20068614 [2019,April20]
  4. https://www.drugs.com/sfx/coal-tar-topical-side-effects.html [2019,April20]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/coal-tar-topical.html [2019,April20]
  6. https://www.drugbank.ca/drugs/DB11082 [2019,April20]