โคลชิซิน (Colchicine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กรกฎาคม 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ยาโคลชิซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาโคลชิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโคลชิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโคลชิซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโคลชิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลชิซินย่างไร?
- ยาโคลชิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโคลชิซินอย่างไร?
- ยาโคลชิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เกาต์ (Gout)
- โรคข้อ (Joint disease)
- โรคกระดูก (Bone disease)
- โรคไต (Kidney disease)
- ยาลดไขมัน (Lipid-lowering drugs)
- โรคตับ (Liver disease)
- โรคแผลเปบติค (Peptic ulcer) / โรคแผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
บทนำ : คือยาอะไร?
ยาโคลชิซิน (Colchicine) คือยารักษาโรคเกาต์ จัดเป็นยาอันตรายที่มีข้อควรระวัง ข้อห้ามใช้หลายประการ ก่อนที่จะถูกสั่งจ่ายยา ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับกรดยูริคว่าเกินกว่ามาตรฐานเท่าใด ดังนั้นขนาดรับประทานที่ถูกต้องจึงขึ้นอยู่กับคำสั่งแพทย์ผู้ทำการรักษาเท่านั้น
โดยหลังรับประทาน ยาโคลชิซิน จะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารภายในเวลา 2 ชั่วโมง ยาส่วนหนึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่อวัยวะตับ ระดับยาในกระแสเลือดประมาณ 50% จะถูกกำจัดออกภายในเวลา 12 – 30 นาทีผ่านทางอุจจาระและปัสสาวะ
อนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ค้นพบและสกัดโคลชิซินได้จากพืชตระกูล Colchicum (ไม้ดอกตระกูลหนึ่ง)ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1820 (พ.ศ.2363)
ยาโคลชิซินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาโรคของยาโคลชิซิน:
- ใช้รักษาและป้องกันโรคเกาต์ชนิดเฉียบพลัน
ยาโคลชิซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคลชิซิน คือ ตัวยาจะลดการอักเสบที่เกิดจากผลึกของกรดยูริคที่เกาะตัวกับเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย อีกทั้งยังลดการทำลายข้อกระดูกจากเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการอักเสบจากผลึกกรดยูริค นอกจากนี้ ยาโคลชิซินยังยับยั้งการผลิตกรดแลคติก (Lactic acid)ของเม็ดเลือดขาวที่มีผลรบกวนการเกาะตัวของผลึกยูริคกับเนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ด้วยกลไกดังกล่าวเหล่านี้จึงลดอาการปวด ที่เกิดขึ้น
ยาโคลชิซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคลชิซิน จัดจำหน่ายในรูปแบบ เช่น
- ยาเม็ดขนาดความแรง 0.6 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาโคลชิซินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโคลชิซินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. เมื่อมีอาการปวดจากโรคเกาต์: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งแรก 2 เม็ด จากนั้นแพทย์อาจปรับลดขนาดรับประทานเป็น 1 เม็ดทุกๆ 1 –2 ชั่วโมง จนกระทั่งอาการปวดจากเกาต์บรรเทาลง และห้ามรับประทานยาเกิน 6 กรัม/วัน
ข. ขนาดรับประทานที่ใช้ป้องกันโรคเกาต์กำเริบ: เช่น
- ผู้ใหญ่: ให้รับประทานครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยาโคลชิซินหลังอาหาร เพื่อลดอาการระคายเคือง ไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
- ในทางปฏิบัติ แพทย์อาจปรับเปลี่ยนขนาดการรับประทานของยานี้เพื่อความเหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย อาจจะด้วยเหตุผลของผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นมากกับผู้ป่วย และ/หรือ รวมไปถึงการตอบสนองของการรักษาต่อยาตัวนี้
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาตัวนี้ในเด็ก ต้องเป็นคำสั่งการใช้จากแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโคลชิซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคลชิซิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคลชิซิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาโคลชิซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ระหว่างการใช้ยาโคลชิซิน อาจพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่างๆ เช่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปวดท้อง
- อาจมีอาการท้องเสีย
- เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือในลำไส้(เลือดออกในทางเดินอาหาร)
- มีผื่นคันตามผิวหนัง
- ตับและไตมีอาการผิดปกติหรือทำงานบกพร่อง
- หรือพบความผิดปกติในระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยา
- อาการข้างเคียงอื่นๆที่พบได้น้อย: เช่น
- ผมร่วง
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคลชิซินอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ ยาโคลชิซิน เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาโคลชิซิน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วย โรคแผลในกระเพาะอาหาร – ลำไส้ ผู้ป่วยด้วยโรคตับ หรือโรคไต
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือมีการทำงานของหัวใจผิดปกติ และผู้ที่มีความผิดปกติในระบบเลือด/ระบบโลหิตวิทยาของร่างกาย
- ห้ามใช้ยากับหญิงตั้งครรภ์ เพราะอาจทำให้ทารกพิการแต่กำเนิด และ/หรือ แท้งบุตรได้
- ห้ามใช้ยาโคลชิซิน ระงับอาการปวดที่มิได้มีสาเหตุมาจากโรคเกาต์
- ระวังการใช้ยานี้ในหญิงที่กำลังให้นมบุตร ด้วยยานี้สามารถผ่านออกมากับน้ำนมมารดาได้
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้สูงอายุ เพราะผลข้างเคียงจากยาอาจสูงขึ้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอาย
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคลชิซินด้วย) ยาแผนโบราญ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโคลชิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคลชิซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยาลดไขมันในเลือด อาจก่อให้เกิด อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือก่อให้เกิดโรคไต ถึงแม้อาการทั้ง 2 อย่างจะพบได้น้อยก็ตาม แต่ควรต้องเฝ้าระวัง หากมีความผิดปกติดังกล่าวเกิดขึ้น ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันที ยาลดไขมันที่กล่าวถึง เช่นยา Atovastatin, Lovastatin, และ Simvastatin
- การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว อาจพบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ความผิดปกติของเม็ดเลือด, ของระบบประสาท, รวมไปถึงตับและไต ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Clarithomycin และ Erythromycin เป็นต้น หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มร่วมกัน แพทย์จะปรับลดขนาดรับประทานของยาโคลชิซิน
- การใช้ยาโคลชิซินร่วมกับยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจทำให้ระดับยาโคลชิซินในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆของยาโคลชิซินสูงขึ้นตามมา ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่นยา Verapamil
ควรเก็บรักษายาโคลชิซินอย่างไร?
สามารถเก็บยาโคลชิซิน เช่น
- เก็บยาที่ในอุณหภูมิห้อง
- เก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาโคลชิซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคลชิซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cochic (โคชิก) | Masa Lab |
Colchicine Asian Pharm (โคลชิซิน เอเซียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Colchicine Medinova (โคลชิซิน เมดิโนวา) | Medinova |
Colchicine Utopian (โคลชิซิน ยูโทเปียน) | Utopian |
Colchily (โคลชิลี) | Pharmasant Lab |
Colcine (โคลซิน) | Pharmahof |
Colcitex (โคลซิเท็ก) | The United Drug (1996) |
Goutichine (โกทิชิน) | Farmaline |
Koji (โคจิ) | Patar Lab |
Prochic (พรอกชิก) | Millimed |
Tolchicine (โทลชิซิน) | T.O. Chemicals |
Zoric (โซริก) | V S Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Colchicine [2021,July17]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/colchicine?mtype=generic [2021,July17]
- https://reference.medscape.com/drug/colcrys-mitigare-colchicine-342812#5 [2021,July17]
- https://www.medicinenet.com/colchicine-oral/article.htm [2021,July17]
- https://www.drugs.com/mtm/colchicine.html [2021,July17]