โคบิซิสแตท (Cobicistat)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- โคบิซิสแตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โคบิซิสแตทอย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโคบิซิสแตทอย่างไร?
- โคบิซิสแตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอดส์ (AIDS)
- เอชไอวี: โรคติดเชื้อเอชไอวี (HIV: HIV infection)
- ดารุนาเวียร์ (Darunavir)
- อะทาซานาเวียร์ (Atazanavir)
- ไตรอาโซแลม (Triazolam)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ยาต้านไวรัส (Antiviral drugs)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
บทนำ
ยาโคบิซิสแตท (Cobicistat หรือชื่อในครั้งแรกคือยา GS-9350) เป็นยาที่นำมาช่วยเสริมสร้างการต่อต้านไวรัสเอดส์ ตัวยามิได้มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสแต่อย่างใด แต่ตัวยาโคบิซิสแตทจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับที่มีชื่อว่า ไซโตโครม พี450 3เอ (Cyto chrome P450 3A หรือในชื่อย่อว่า CYP3A) ซึ่งเอนไซม์ชนิดนี้มีหน้าที่คอยทำลายยาและสารแปลกปลอมอื่นๆที่เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ยาต้านไวรัสเอดส์หลายตัว (เช่น Darunavir) ที่ถูกทำลายด้วย CYP3A จึงทำให้ระดับยาต้านไวรัสเอดส์เหล่านั้นในร่างกายลดน้อยลงจนส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษาและฤทธิ์ในการต่อต้านไวรัสเอดส์ด้อยลงไปตามกัน
สูตรตำรับของยารักษาโรคเอดส์ที่ใช้ร่วมกับยาโคบิซิสแตทที่อาจพบเห็นเช่น
- Cobicistat 150 มิลลิกรัม + Atazanavir 300 มิลลิกรัม หรือ
- Cobicistat 150 มิลลิกรัม + Darunavir 800 มิลลิกรัม
ยาโคบิซิสแตทรับประทานวันละ 1ครั้งโดยแพทย์เป็นผู้พิจารณาในการสั่งจ่ายหลังการดูดซึมยาโคบิซิสแตทจากระบบทางเดินอาหารและตัวยาเข้าสู่กระแสเลือด ตัวยานี้ประมาณ 97 - 98% จะเข้ารวมกับพลาสมาโปรตีนในกระแสเลือด จากนั้นร่างกายจะกำจัดยาโคบิซิสแตทออกไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมากและกับปัสสาวะเป็นบางส่วน
ยาโคบิซิสแตทสามารถรับประทานพร้อมอาหารหรือก่อนอาหารก็ได้ โดยผลข้างเคียงของยานี้สามารถกระตุ้นให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง
โดยทั่วไปแพทย์จะมีเกณฑ์ในการพิจารณาสั่งจ่ายยาโคบิซิสแตทให้กับผู้ป่วยโรคเอดส์เช่น
- ต้องไม่เคยมีประวัติแพ้ยาโคบิซิสแตทมาก่อน
- ต้องไม่มีการใช้ยาอื่นที่ทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโคบิซิสแตทซึ่งมีอยู่หลายรายการและขอยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วนเช่น Alfuzosin, Avanafil, Boceprevir, Cisapride, Dihydroergota mine, Dronedarone, Ergotamine, Etravirine, Fosamprenavir, Lopinavir, Lovastatin, Methyl ergonovine, Nevirapine, Midazolam, Pimozide, Rifampin, Salmeterol, Saquinavir, Simeprevir, Simvastatin,Telaprevir, Tipranavir, Triazolam
- การเลือกยาต้านไวรัสเอดส์แพทย์จะหลีกเลี่ยงการจ่ายยาซ้ำซ้อนที่จะเป็นผลเสีย (เพิ่มผลข้างเคียง) ต่อผู้ป่วยเช่น ถ้าผู้ป่วยรับประทานยา Darunavir ร่วมกับยา Efavirenz แพทย์จะงดจ่ายยาโคบิซิสแตท
- ผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการสั่งจ่ายยากลุ่ม Aminoglycoside หรือยาปฏิชีวนะใดๆ หรือกลุ่มยา NSAIDs ที่สามารถสร้างผลเสียต่อไตของผู้ป่วยได้อย่างรุนแรง แพทย์จะไม่ทำการจ่ายยาโคบิซิสแตทร่วมด้วย
- สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาต่างๆแทบทุกประเภทรวมถึงยาโคบิซิสแตท แพทย์จะพิจารณาเป็นกรณีไปว่าเหมาะสมจะใช้ยาตัวใดบ้างที่ก่อประโยชน์สูงสุดกับตัวผู้ป่วยกลุ่มนี้
- ผู้ป่วยโรคไตเช่นผู้ป่วยไตวาย ไม่เหมาะที่จะได้รับยานี้เช่นกัน แพทย์อาจต้องพิจารณาใช้ยาทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ยาโคบิซิสแตท
การใช้ยาโคบิซิสแตทในประเทศไทยเท่าที่พบเห็นจะเป็นลักษณะยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น (เช่น Darunavir) โดยถูกระบุให้เป็นกลุ่มยาควบคุมพิเศษและต้องถูกสั่งจ่ายโดยแพทย์ในสถานพยาบาลเท่านั้น การหาซื้อในลักษณะของยาเดี่ยวๆตามร้านขายยาอาจจะไม่สามารถพบเห็นได้เลย
หากผู้บริโภค/ผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาโคบิซิสแตท สามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยานี้จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป
โคบิซิสแตทมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโคบิซิสแตทมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อใช้เป็นยาร่วมสนับสนุนเพิ่มฤทธิ์ยาต้านไวรัสโรคเอดส์
โคบิซิสแตทมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคบิซิสแตทคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับที่มีชื่อว่า ไซโตโครม พี450 3เอ (Cytochrome P450 3A ที่ย่อว่า CYP3A) ซึ่งคอยทำลายยาต้านไวรัสเอดส์ชนิดต่างๆอย่างเช่นยา Atazanavir และยา Darunavir จากฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในตับดังกล่าวส่งผลให้ยาต้านไวรัสเอดส์ที่ใช้ร่วมกับยาโคบิซิสแตทมีระดับในกระแสเลือดสูงเพียงพอที่จะต่อต้านเชื้อไวรัสโรคเอดส์ และเป็นที่มาของสรรพคุณ
โคบิซิสแตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโคบิซิสแตทมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาเดี่ยวชนิดเม็ดแบบรับประทานขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมร่วมกับยาต้านไวรัสชนิดอื่นเช่น Elvitegravir 150 มิลลิกรัม + Cobicistat 150 มิลลิกรัม + Emtricitabine 200 มิลลิกรัม + Teno fovir disoproxil fumarate 300 มิลลิกรัม/เม็ด
โคบิซิสแตทมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาโคบิซิสแตทมีขนาดรับประทานเช่น
- ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป: รับประทานยา 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง โดยสามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้
- เด็กและผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี: ทางคลินิกยังไม่มีการระบุขนาดรับประทานยานี้ของผู้ป่วยในกลุ่มอายุนี้ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้จึงเป็นดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง การใช้ยานี้ร่วมกับผู้ป่วยโรคตับโรคไต แพทย์ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆทั้งนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคตับโรคไตดังกล่าว
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคบิซิสแตท ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคบิซิสแตทอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโคบิซิสแตทสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าลืมรับประทานยาเกินกว่า 12 ชั่วโมงขึ้นไปจากเวลาที่ต้องรับประทานจริง ให้รับประทานยาในขนาดที่เป็นปกติและไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาโคบิซิสแตทตรงเวลา
โคบิซิสแตทมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาโคบิซิสแตทสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อตับ: เช่น มีภาวะบิลิรูบินในเลือดสูง เกิดภาวะดีซ่าน ค่าเอนไซม์การทำงานของตับบางตัวในเลือดเพิ่มสูงขึ้นอย่างเช่น ALT (Alanine aminotransferase), AST (Aspartate aminotransfe rase) และ GGT (Gamma-glutamyl transpeptidase)
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีภาวะคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องอืด/แน่น ปากแห้ง มีเอนไซม์จากตับอ่อนอะมัยเลส (Amylase) ในเลือดเพิ่มขึ้น
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด มีน้ำตาลปนมากับปัสสาวะ (ปกติในปัสสาวะจะไม่มีน้ำตาล อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การตรวจปัสสาวะ)
- ผลต่อไต: เช่น เพิ่มระดับสาร Creatinine ในกระแสเลือด เกิดภาวะโรคไต
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน และง่วงนอน
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย: เช่น มีน้ำตาลในเลือดสูง หิวบ่อย
- ผลต่อภาวะทางจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ฝันแปลกๆ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผื่นคัน ลมพิษ
มีข้อควรระวังการใช้โคบิซิสแตทอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโคบิซิสแตทเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามปรับขนาดการรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามดื่มสุราร่วมกับการรับประทานยาโคบิซิสแตทด้วยจะทำให้เกิดอาการวิงเวียนหรือเป็นลม ติดตามมา
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา โดยไม่ มีคำสั่งจากแพทย์
- หากใช้ยานี้ไปแล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง ให้รีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดย เร็ว ไม่ต้องรอถึงวันนัด
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อรับยานี้ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคบิซิสแตทด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
โคบิซิสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโคบิซิสแตทมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- ยาโคบิซิสแตทมีข้อห้ามใช้ร่วมกับยาหลายกลุ่มด้วยยาเหล่านั้นจะส่งผลต่อร่างกายผู้ป่วยให้ได้รับผลเสีย (อาการข้างเคียง) ได้อย่างรุนแรง ยากลุ่มต่างๆเหล่านั้นเช่น ยา Alpha-blockers, ยาต้านอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ยาต้านชัก, ยาปฏิชีวนะ, อนุพันธุ์ของยาเออร์กอต (Ergot), ยาที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารเช่น ยา Cisapride, ยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบิเตอร์ (Protease inhibitor), ยานอนหลับ เป็นต้น ดังนั้นผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งว่ามียาชนิดใดที่ใช้/ที่รับประทานอยู่ก่อน
- ห้ามใช้ยาโคบิซิสแตทร่วมกับยา Alfuzosin ด้วยจะทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- ห้ามใช้ยาโคบิซิสแตทร่วมกับยา Dronedarone (ยาโรคหัวใจ) ด้วยจะทำให้ระดับยา Drone darone ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นมากจนทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยานี้อย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาโคบิซิสแตทร่วมกับยา Cisapride, Pimozide ด้วยจะทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
- ห้ามใช้ยาโคบิซิสแตทร่วมกับยา Triazolam ด้วยจะเกิดภาวะกดการหายใจ (หายใจเบา ตื้น ช้า จนถึงอาจหยุดหายใจ) หรือก่อให้เกิดฤทธิ์สงบประสาท (ลดการทำงานของระบบประสาท) อย่างรุนแรงจนถึงขั้นโคม่าได้
ควรเก็บรักษาโคบิซิสแตทอย่างไร?
ควรเก็บยาโคบิซิสแตทภายใต้อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โคบิซิสแตทมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโคบิซิสแตทที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tybost (ไทบอสท์) | Gilead |
Stribild (สตริปบิลด์) | Gilead |
บรรณานุกรม
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/stribild/?type=brief [2016,July2]
- https://www.drugs.com/ppa/cobicistat.html [2016,July2]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Cobicistat [2016,July2]
- http://www.gilead.com/~/media/Files/pdfs/medicines/hiv/tybost/tybost_pi.pdf [2016,July2]
- https://www.drugs.com/pro/tybost.html [2016,July2]
- http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/news_week_full.php?id=1271 [2016,July2]
- https://www.google.co.th/search?q=Tybost+image&espv=2&biw=1920&bih=955&tbm=isch&tbo=u&source=univ&sa=X&ved=0ahUKEwjKuuufwqnNAhUIMo8KHe0ECPgQsAQIGQ#imgrc=nt7qLeD0HPKJ9M%3A [2016,July2]