โคนิแวปแทน (Conivaptan)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคนิแวปแทน (Conivaptan) เป็นยาที่อยู่ในกลุ่มวาโซเพรสซิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Vasopressin receptor antagonist) ด้วยมีโครงสร้างเคมีคล้ายฮอร์โมนวาโซเพรสซิน(Vasopressin) ที่ทำหน้าที่ยับยั้งการหลั่ง/การขับปัสสาวะ ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาภาวะเกลือโซ เดียมในร่างกาย/ในเลือดต่ำ และได้รับการขึ้นทะเบียนภายใน ปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) มีบางกรณีที่แพทย์ได้ใช้ยานี้มารักษาโรคหัวใจล้มเหลว รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาฉีดเท่านั้น มีข้อจำกัดบางประการที่ไม่สามารถใช้ยานี้กับผู้ป่วยบางรายได้เช่น

  • ผู้ป่วยแพ้ยานี้
  • เป็นผู้ที่มีภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำร่วมกับมีภาวะปริมาณสารน้ำ (Fluid volume) ในร่างกายต่ำ
  • ผู้ป่วยมีภาวะโรคไตในระยะรุนแรงและไม่สามารถขับปัสสาวะได้
  • ผู้ป่วยมีการใช้ยาบางตัวที่จะเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาโคนิแวปแทนได้อย่างมากจนเป็นอันตรายกับผู้ป่วยเช่น Ketoconazole, Itraconazole, Indinavir, Ritonavir, Clarithromycin
  • ผู้ป่วยติดสุราเรื้อรัง

อนึ่ง เราจะพบเห็นการใช้ยาโคนิแวปแทนแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น แพทย์มักจะชี้แจงให้ผู้ป่วยทราบเมื่อได้รับยานี้ทั้งนี้เพื่อผู้ป่วยจะได้ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมขณะที่ได้รับการรักษาเช่น

  • ผู้ป่วยอาจมีอาการวิงเวียนระหว่างที่ยานี้ออกฤทธิ์
  • การลุก-เดิน-นั่งหรือกิริยาการเคลื่อนไหวร่างกายของผู้ป่วยควรทำอย่างช้าๆค่อยเป็นค่อยไป
  • หากเป็นผู้ป่วยเบาหวานการได้รับยานี้อาจทำให้น้ำตาลในเลือดผิดปกติได้
  • นอกจากนี้อาจมีอาการท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ปากแห้ง ปวดศีรษะ ติดตามมา

ทั้งนี้ สำหรับประเทศไทยอาจไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยานี้มากเท่าใด แต่ในต่างประเทศใช้ยานี้ภายใต้ชื่อยาชื่อการค้าว่า “Vaprisol”

โคนิแวปแทนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โคนิแวปแทน

ยาโคนิแวปแทนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาภาวะเกลือโซเดียมในร่างกายต่ำ

โคนิแวปแทนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโคนิแวปแทนคือ ต้วยาจะออกฤทธิ์ที่ตำแหน่งตัวรับ (Receptor) ที่ชื่อ V1B receptor (Vasopressin 1B receptor) และ V2 receptor (Vasopressin 2 receptor) ในต่อมใต้สมอง โดยมีการแข่งขันกับการทำงานของฮอร์โมนวาโซเพรสซินจากต่อมใต้สมองที่ทำหน้าที่ยับยั้งการขับปัสสาวะ ส่งผลให้ไตขับปัสสาวะโดยที่ยังคงรักษาปริมาณเกลือโซเดียมในร่างกาย/ในเลือดได้อย่างปกติ และทำให้มีฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

โคนิแวปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคนิแวปแทนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น

  • ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/ 4 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ขนาด 20 มิลลิกรัม/ 100 มิลลิลิตร

โคนิแวปแทนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคนิแวปแทนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากภาวะเกลือดโซเดียมในเลิอดต่ำเช่น

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 20 มิลลิกรัมโดยละลายในสารน้ำ 5% Dextrose 100 มิลลิลิตรและใช้เวลา 30 นาทีขึ้นไปในการให้ยา หลังจากนั้นให้ยานี้ต่อเนื่อง (Loading dose) โดยละลายตัวยา 20 มิลลิกรัมในสารน้ำ 5% Dextrose 250 มิลลิลิตร ให้ยาทางหลอดเลือดดำโดยใช้เวลา 24 ชั่วโมง และสามารถให้ยานี้ต่อเนื่องได้ทุกๆ 1 - 3 วันขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยให้ยาขนาด 20 มิลลิกรัม/วันในลักษณะเป็น Loading dose
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงประสิทธิผลและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ:

  • ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโคนิแวปแทน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาโคนิแวปแทนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โคนิแวปแทนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคนิแวปแทนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้โดยทั่วไป: มีภาวะเลือดออกง่าย ตัวเย็น ผิวซีด มีผื่นคัน ใบหน้า-แขน-มือ-เท้าบวม ตาพร่า วิงเวียน ปัสสาวะลดลง ปวดศีรษะ กระหายน้ำมากขึ้น อารมณ์แปรปรวน คลื่นไส้ อาเจียน เกิดภาวะลมชัก หายใจติดขัด/หายใจลำบาก

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้น้อย: เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะมีเลือดปน/ปัสสาวะเป็นเลือด เจ็บหน้าอก รู้สึกสับสน ไอ ซึมเศร้า เป็นลม มีไข้ หนาวสั่น นอนไม่หลับ พูดไม่ชัด เจ็บคอ เหงื่อออกมาก

มีข้อควรระวังการใช้โคนิแวปแทนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคนิแวปแทนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยาในสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยากับผู้ป่วยที่ร่างกายมีภาวะขาดน้ำ
  • ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบ
  • ระวังการใช้ยานี้กับเด็กและคนชรา/ผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยไตทำงานผิดปกติ
  • การใช้ยานี้ควรต้องกระทำในสถานพยาบาลเพราะต้องตรวจสอบระดับเกลือโซเดียมในร่างกายเป็นระยะๆ/ในเลือดควบคู่กันไปกับการใช้ยานี้
  • ระวังร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำรวมถึงมีอาการชักและอาการโคม่าติดตามมา
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

  • ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคนิแวปแทนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โคนิแวปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคนิแวปแทนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโคนิแวปแทนร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียง/ผล ข้างเคียงของยาโคนิแวปแทนเพิ่มขึ้นเช่น ง่วงนอน วิงเวียน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะโคม่า หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโคนิแวปแทนร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้ระดับยา Fentanyl ในเลือดเพิ่มขึ้นจนทำให้ได้รับอาการข้างเคียงของยา Fentanyl ติดตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • ห้ามใช้ยาโคนิแวปแทนร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะทำให้ระดับยาโคนิแวปแทนเพิ่มมากขึ้นจนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงทางระบบประสาทจากยาโคนิแวปแทนอย่างรุนแรงเช่น มีอาการกลืนอาหารลำบาก พูดจาติดขัด การควบคุมการทรงตัวทำได้แย่ลง ผู้ป่วยบางรายอาจมีภาวะโคม่าหรืออาการชักติดตามมา

ควรเก็บรักษาโคนิแวปแทนอย่างไร?

ควรเก็บยาโคนิแวปแทนภายใต้อุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โคนิแวปแทนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

โคนิแวปแทนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Vaprisol (วาพริซอล) Baxter
HYPONAT (ไฮโปแนท) Zydus

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Vasopressin_receptor_antagonist [2015,Oct17]
  2. http://www.drugs.com/sfx/conivaptan-side-effects.html [2015,Oct17]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Conivaptan [2015,Oct17]
  4. http://www.drugs.com/drug-interactions/conivaptan-index.html?filter=3&generic_only= [2015,Oct17]