โคซินโทรปิน (Cosyntropin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโคซินโทรปิน (Cosyntropin) หรือมีชื่อเรียกอื่นว่า เตตระโคแซคไทด์ (Tetracosactide) หรือเตตระโคแซคทริน (Tetracosactrin) เป็นสารที่สังเคราะห์เลียนแบบ อะดรีโนคอร์ติโคโทรปิก ฮอร์โมน (Adrenocorticotropic hormone) ที่มักนิยมเรียกย่อว่า เอซีทีเอช (ACTH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมอง (Pituitary gland) ทางคลินิกนำยานี้มาใช้ในการตรวจวิเคราะห์โรคหรือตรวจหาความผิดปกติของต่อมหมวกไต (Adrenal gland) เช่นในโรคแอดดิสัน (Addison disease) หรือในภาวะที่ต่อมหมวกไตผลิตฮอร์โมนไม่เพียงพออันมีสาเหตุจากการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์มากไป หรือเกิดภาวะเนื้องอกของต่อมหมวกไตเช่น Pheochromocytoma

อนึ่ง อาจทำความเข้าใจการทำงานของฮอร์โมนที่กล่าวมาโดยที่มีความสัมพันธ์กันดังต่อไปนี้ คือ เอซีทีเฮช (ATCH) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมใต้สมองจะออกฤทธิ์กระตุ้นต่อมหมวกไตให้ผลิตฮอร์โมนประเภทกลูโคคอร์ติคอยด์ (Glucocorticoids) ถ้าต่อมหมวกไตทำงานปกติ การฉีดยาโคซินโทรปินเพียง 1 เข็มก็สามารถทำให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา และมีความเข้มข้นเพิ่มในกระแสเลือดภายใน 30 นาที แต่ถ้าไม่มีการหลั่งคอร์ติซอลหลังจากได้รับยาโคซินโทรปินก็ถือเป็นข้อยืนยัน/ข้อวินิจฉัยได้ว่า ต่อมหมวกไตมีการทำงานผิดปกติเช่น เกิดโรคหรือมีความเสียหายเกิดขึ้น หรือมีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยขาดฮอร์โมนเอทีซีเอชจากต่อมใต้สมองเสียเอง และเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่จะทำการตรวจสอบรอยโรคที่ต่อมหมวกไตและ/หรือที่ต่อมใต้สมองต่อไป(เช่น การตรวจภาพต่อมเหล่านั้นด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือด้วยเอมอาร์ไอ) รวมถึงหาสาเหตุที่ก่อให้เกิดความผิดปกติของระบบฮอร์โมนดังกล่าวเพื่อจะทำการรักษาต่อไป

บางครั้งยาโคซินโทรปินยังถูกนำมาใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) อีกด้วยซึ่งจะมีขนาดการใช้ยานี้ที่แตกต่างกันออกไปตามอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

รูปแบบยาแผนปัจจุบันที่พบเห็นของยาโคซินโทรปินจะเป็นยาผงปราศจากเชื้อชนิดนำมาละลายเพื่อใช้เป็นยาฉีด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง รูปแบบยาเตรียม) โดยมีการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งหลังการให้ยานี้กับผู้ป่วย แพทย์จะต้องตรวจสอบระดับฮอร์โมนในกระแสเลือดที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อนำมาวิเคราะห์อาการโรคและหาแนวทางการรักษาต่อไป

ข้อจำกัดในการใช้ยาโคซินโทรปินที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้

  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาต้านมะเร็งอย่างยา Aldesleukin
  • ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยาโคซินโทรปินด้วย
  • การใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆจะต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ว่ามีความเหมาะสมและปลอดภัยมากน้อยเพียงใด
  • มียาหลายรายการที่จะส่งผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อร่างกายผู้ป่วยหากใช้ร่วมกับยาโคซินโทรปินเช่น ยา Furosemide, Hydrochlorothiazide, Itraconazole, Carbamazepine และ Warfarin จึงเป็นกฎเกณฑ์ทางคลินิกที่แพทย์จะต้องทราบว่าผู้ป่วยได้รับยาประเภทใดอยู่บ้างก่อนที่จะลงมือรักษาด้วยยานี้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาโคซินโทรปินที่ควรทราบ นอกจากจะเป็นเรื่องการเจ็บปวดบริเวณที่ฉีดยาแล้ว ยานี้ก็อาจทำให้ระดับเกลือแร่/อิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte) ในเลือดเปลี่ยนแปลงไปเช่น มีระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูง เป็นต้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาโคซินโทรปินอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเงื่อนไขการใช้เพื่อวินิจฉัยโรคทางต่อมไร้ท่อ

โคซินโทรปินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

โคซินโทรปิน

ยาโคซินโทรปินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น ใช้สำหรับวินิจฉัยโรคต่อมไร้ท่อเช่น โรคจากความผิดปกติของต่อมหมวกไต (Adrenal gland) เช่น โรค Addison disease

โคซินโทรปินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาโคซินโทรปินมีโครงสร้างเคมีคล้ายกับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองคือ ฮอร์โมนเอทีซีเอช (ATCH) สามารถออกฤทธิ์กระตุ้นให้ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งการหลั่งหรือไม่หลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลนั้นจะใช้เป็นตัวชี้วัดความผิดปกติของต่อมหมวกไต และจากกลไกดังกล่าวนี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์การรักษา/การวินิจฉัยโรคตามสรรพคุณ

โคซินโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโคซินโทรปินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาผงปราศจากเชื้อชนิดใช้ละลายเป็นยาฉีดขนาด 0.25 มิลลิกรัม (250 ไมโครกรัม)

โคซินโทรปินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโคซินโทรปินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาคือ สามารถใช้ได้กับผู้ใหญ่และเด็กที่ได้รับการตรวจคัดกรองความเหมาะสมจากแพทย์ว่ามีความปลอดภัยต่อการใช้ยาชนิดนี้แล้วเท่านั้น ซึ่งขนาดการใช้ยานี้จะขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาและอาการโรค และการใช้ยานี้ต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโคซินโทรปิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโคซินโทรปินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โคซินโทรปินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโคซินโทรปินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น กระตุ้นให้เกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดสูง รวมถึงเกิดภาวะคั่งน้ำในร่างกาย (มีน้ำในร่างกายปริมาณมากผิดปกติ) และอาจทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำลง

*หากมีอาการแพ้ยานี้อาจพบอาการหายใจลำบากและมีลมพิษขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะหยุดใช้ยานี้ทันที (การใช้ยานี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และจะใช้ในโรงพยาบาลเท่านั้น) และให้การรักษาผู้ป่วยด้วยการรักษาประคับประคองตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้โคซินโทรปินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโคซินโทรปินเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
  • ห้ามใช้กับผู้ที่เพิ่งได้รับวัคซีนชนิดเชื้อที่มีชีวิต/เชื้อเป็น (Live attenuated vaccine, วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อไวรัสที่ยังมีชีวิตแต่นำมาทำให้อ่อนกำลังจนก่อโรคไม่ได้ แต่กระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิ คุ้มกันต้านทานโรคต่อเชื้อไวรัสนั้นๆได้เช่น วัคซีนโรคหัด โรคคางทูม)
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหืด
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้เช่น หัวใจล้มเหลวหรือเพิ่งเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว โรคต้อหิน โรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน โรคตับ โรคไต โรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคไมเกรน โรคกระดูกพรุน ผู้ที่มีอาการทางจิตประสาท/โรคทางจิตเวช โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคลำไส้อักเสบ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมถึงผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคงูสวัด
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และมาตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโคซินโทรปินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกประเภท (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โคซินโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโคซินโทรปินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยาโคซินโทรปินร่วมกับยาขับปัสสาวะอย่างเช่น ยา Furosemide, Hydrochlorothiazide อาจทำให้ระดับอิเล็กโทรไลต์/เกลือแร่ในเลือดผิดปกติจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคซินโทรปินร่วมกับยา Itraconazole ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการได้รับผลข้างเคียงของยาโคซินโทรปินมากยิ่งขึ้น
  • การใช้ยาโคซินโทรปินร่วมกับยา Carbamazepine อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของยาโคซินโทรปินลดน้อยลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวจึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโคซินโทรปินร่วมกับยาต่อไปนี้เช่น Aldesleukin, Mifepristone, Ritodrine, ยากลุ่ม Quinolones (เช่น Levofloxacin) ด้วยยาโคซินโทรปินอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากยากลุ่มดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น

ควรเก็บรักษาโคซินโทรปินอย่างไร?

ควรเก็บยาโคซินโทรปินในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โคซินโทรปินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโคซินโทรปินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Cortrosyn (คอร์โทรซิน) MSD

อนึ่งยาชื่อการค้าของยานี้ในประเทศต่างๆเช่น Synacthen, Tetracosactide acetate, Cortrosina, Nuvacthen, Synacthen, Astetracosactrin acetate

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tetracosactide [2016,May28]
  2. http://www.drugs.com/pro/cosyntropin.html [2016,May28]
  3. http://www.thaihp.org/index.php?option=other_detail&lang=th&id=42&sub=26 [2016,May28]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/cortrosyn/ [2016,May28]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/tetracosactide/?type=brief&mtype=generic [2016,May28]
  6. http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/aldesleukin.aspx [2016,May28]
  7. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/115#item-8729 [2016,May28]