โกลิมิวแมบ (Golimumab)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาโกลิมิวแมบ(Golimumab หรือ CNTO 148) เป็นยาประเภทยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressants)ในกลุ่มที่เรียกว่า TNF inhibitor(Tumor necrosis factor inhibitor, กลุ่มยาที่มีคุณสมบัติต้านการอักเสบของเนื้อเยื่อต่างๆ) ถูกพัฒนาขึ้นโดยบริษัท Janssen Biotech และจัดจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า “Simponi” ทางคลินิกนำยานี้มาใช้บำบัดอาการของกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) เช่น Ankylosing spondylitis , Ulcerative colitis , โรคสะเก็ดเงินที่ทำให้เกิดข้ออักเสบ(Psoriatic arthritis) , โรคข้อรูมาตอยด์, โดยยานี้จะทำหน้าที่ต้านฤทธิ์สารเคมีชนิดต่างๆในร่างกาย ที่ก่อให้เกิดการอักเสบต่อเนื้อเยื่อต่างๆ

ยาโกลิมิวแมบมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด หลังจากได้รับยานี้โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง อาจต้องให้เวลาประมาณ 2-6 วัน เพื่อให้ยานี้มีระดับสูงสุดในกระแสเลือด ร่างกายต้องใช้เวลา 14 วันโดยประมาณ เพื่อกำจัดตัวยานี้ออกจากกระแสเลือด

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโกลิมิวแมบ จะเกิดขึ้นโดยยาจะเข้ารวมตัวกับสารโปรตีนในร่างกายประเภทหนึ่งที่เรียกว่า Cytokine ชนิดที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า Tumor necrosis factor alpha (TNF-alpha) ทำให้สารโปรตีนดังกล่าวไม่สามารถเข้ารวมตัวกับตัวรับ(Receptor)ภายในเซลล์ได้ ส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกัน หรือ ภูมิต้านทาน (ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)หยุดต่อต้านหรือหยุดทำลายเซลล์ปกติของร่างกายเอง จึงทำให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น

การใช้ยาโกลิมิวแมบ ยังมีข้อห้าม ข้อควรระวัง ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วย ควรทราบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยา หรือแพ้ส่วนประกอบ ของยาโกลิมิวแมบ
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะติดเชื้อระดับรุนแรง เช่น การติดเชื้อรา เชื้อไวรัส แบคทีเรีย รวมถึง วัณโรค ด้วยยาโกลิมิวแมบเป็นยาประเภทกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงสามารถส่งผลทำให้อาการติดเชื้อดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น
  • ห้ามใช้กับผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันตัวอื่นๆ เช่น Abatacept, Adalimumab, Anakinra, Canakinumab, Certolizumab, Etanercept, Rilonacept, Rituximab, Tocilizumab, Tofacitinib, ด้วยสามารถทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาโกลิมิวแมบ

นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขทางสุขภาพอื่นๆที่ผู้ป่วยต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกรก่อนที่จะได้รับยาโกลิมิวแมบ เช่น

  • อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะที่ให้นมบุตร
  • มีประวัติป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆอยู่ก่อน
  • เป็นผู้ที่มีปัญหาด้านภูมิต้านทานโรค
  • ป่วยด้วย โรคระบบเลือด ป่วยด้วยโรคตับ มีปัญหาเลือดออกง่าย หรือเป็นผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ

ด้วยเงื่อนไขทางสุขภาพดังกล่าว สามารถสร้างความเสี่ยงและก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาโกลิมิวแมบได้อย่างมากมาย

เพื่อความเข้าใจต่อการใช้ยาโกลิมิวแมบได้อย่างเหมาะสม ผู้ป่วยควรเรียนรู้ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากการใช้ยาโกลิมิวแมบได้เป็นลำดับ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาโกลิมิวแมบ อาจมีความเสี่ยงของการติดเชื้อที่รุนแรงบางอย่าง เช่น แบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา รวมถึงการติดเชื้อวัณโรค ดังนั้นก่อนที่จะเริ่มต้นใช้ยาโกลิมิวแมบ แพทย์จะตรวจทดสอบร่างกายผู้ป่วยว่า ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่จะเกิดการ ติดเชื้อ อย่างเช่น วัณโรค หรือไม่
  • ผู้ที่ได้รับยาโกลิมิวแมบอาจเกิดอาการ วิงเวียนศีรษะ ตาพร่า กรณีพบอาการเหล่านี้ ต้องหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และการทำงานกับเครื่องจักร ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย รวมถึงงดเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ที่จะทำให้อาการดังกล่าวรุนแรงขึ้น
  • ผู้ป่วยยังต้องหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่ป่วยด้วยโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น โรคหวัด และระหว่างการใช้ยานี้แล้วเกิดมีอาการ ไข้ หนาวสั่น มีผื่นคันตามร่างกาย ผู้ป่วย จะต้องรีบมาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันแพทย์นัด
  • ผู้ที่ใช้ยานี้อาจเกิดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น Leukemia(มะเร็งเม็ดเลือดขาว), Lymphoma(มะเร็งต่อมน้ำเหลือง), และมะเร็งผิวหนัง, ผู้ป่วยจึงควรสังเกตร่างกายตนเองว่า มีก้อนเนื้อ หรือ อาการบวม(ต่อมน้ำเหลืองโต)ที่บริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ หรือมีแผลเรื้อรังที่ผิวหนัง ซึ่งถ้าพบความผิดปกติดังกล่าว ผู้ป่วยจะต้องรีบเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยาโกลิมิวแมบ ยังอาจก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบประสาทของร่างกายได้ เช่น ก่อให้เกิดโรคปลอกประสาทอักเสบ(เช่น มีการทรงตัวผิดปกติ การรับความรู้สึกสัมผัสผิดปกติ) หรืออาจเกิดภาวะลมชัก ตามมา หากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ผู้ป่วยบางราย หลังได้รับยานี้ จะเกิดอาการของโรคสะเก็ดเงินขึ้นมาใหม่ หรืออาจมีอาการของโรคสะเก็ดเงินที่รุนแรงมากกว่าเดิม ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองตามคำแนะนำ ของ แพทย์ พยาบาล เพื่อหลีกเลี่ยงการกลับมาของโรคสะเก็ดเงินดังกล่าว
  • ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บเป็นแผลเลือดออก ด้วยผลข้างเคียงประการหนึ่งของยานี้ คือ ทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายลดต่ำลง เลือดจึงจะออกได้ง่ายและรุนแรง
  • ระหว่างการใช้ยานี้ ห้ามผู้ป่วยรับการฉีดวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนหัด วัคซีนคางทูม บีซีจี (BCG) เพราะนอกจากการกระตุ้นของวัคซีนให้เกิดภูมิคุ้มกันโรค จะไม่เป็นผลสำเร็จแล้ว ผู้ป่วยยังอาจเกิดการติดเชื้อจากวัคซีนเหล่านี้ได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการตั้งครรภ์ขณะได้รับยาโกลิมิวแมบ ด้วยตัวยาจะก่อให้เกิดผลกระทบ ต่อทารกในครรภ์มารดา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ตรงตามแพทย์นัดทุกครั้ง เพื่อยืนยันสถานะอาการป่วยว่าทุเลาและดีขึ้นเพียงใด ตลอดจนดูอาการผู้ป่วยว่า มีการติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง)อื่นใดอีกหรือไม่

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาโกลิมิวแมบเป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์กำกับการใช้ยานี้ทุกครั้ง และเราจะพบเห็นการใช้ยานี้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งหากผู้ป่วยมีข้อสงสัยเพิ่มเติมของการใช้ยานี้ สามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้รักษา หรือจากเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้ตลอดเวลา

โกลิมิวแมบมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

โกลิมิวแมบ

ยาโกลิมิวแมบมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อ รักษาอาการกลุ่มโรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ , โรคสะเก็ดเงินระยะมีข้ออักเสบ(Psoriatic arthritis), Ankylosing spondylitis , Ulcerative colitis

โกลิมิวแมบมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโกลิมิวแมบคือ ตัวยาจะเป็นยาประเภทแอนติบอดี(Antibody) ที่ออกฤทธิ์โดยทำการรวมตัวกับสารโปรตีนในร่างกายที่เป็นสารก่อการอักเสบที่มีชื่อว่า TNF-alpha ทำให้สาร TNF-alpha หมดความสามารถที่จะเข้ารวมตัวกับตัวรับในร่างกาย จึงมีผลให้กระบวนการทำงานของสารที่กระตุ้นการอักเสบหยุดชะงัก จึงทำให้อาการป่วยทุเลาลง

โกลิมิวแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโกลิมิวแมบมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Golimumab ขนาด 100 มิลลิกรัม/1 มิลลิลิตร
  • ยาฉีด ที่ประกอบด้วยตัวยา Golimumab ขนาด 50 มิลลิกรัม/0.5 มิลลิลิตร

โกลิมิวแมบมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโกลิมิวแมบ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาอาการโรคข้อรูมาตอยด์:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 มิลลิกรัม เดือนละ 1 ครั้ง หรือในสัปดาห์เริ่มต้นให้หยดยาเข้าหลอดเลือดดำ ขนาด 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยใช้เวลาให้ยานาน 30 นาทีขึ้นไป และให้ยาซ้ำในสัปดาห์ที่ 4 จากนั้นให้ยาอีกทุก 8 สัปดาห์ อาจใช้ร่วมกับยา Methotrexate , Corticosteroids, NSAIDs ตามที่แพทย์เห็นเหมาะสม

ข.สำหรับรักษาอาการ Ulcerative colitis:

  • ผู้ใหญ่: ในสัปดาห์เริ่มต้น ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 200 มิลลิกรัม จากนั้น ให้ยาในสัปดาห์ที่ 2 ขนาด 100 มิลลิกรัม และให้ยาซ้ำขนาด 100 มิลลิกรัมทุก 4 สัปดาห์

ค. สำหรับรักษาอาการ Ankylosing spondylitis และ Psoriatic Arthritis:

  • ผู้ใหญ่: ให้ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนังขนาด 50 มิลลิกรัม เดือนละ 1ครั้ง

อนึ่ง:

  • เด็ก: การใช้ยานี้กับเด็ก จะอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับยาตามแพทย์นัดทุกครั้ง

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโกลิมิวแมบ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคภูมิคุ้มกันเล่นงานตนเอง(โรคออโตอิมมูน) โรคมะเร็ง โรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโกลิมิวแมบ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาโกลิมิวแมบ ตรงเวลา หากลืมมารับการฉีดยา ควรรีบแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบ และทำการนัดหมายการให้ยานี้โดยเร็ว

โกลิมิวแมบมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโกลิมิวแมบอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อการเกิดโรคมะเร็ง: เช่น เกิดมะเร็งผิวหนัง Lymphoma(มะเร็งต่อมน้ำเหลือง), Leukemia(มะเร็งเม็ดเลือดขาว), Melanoma(มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา)
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น เกิดการติดเชื้อ แบคทีเรีย หรือ ติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ ติดเชื้อเริม ติดเชื้อรา ติดเชื้อในกระแสเลือด (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น โรคติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
  • ต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูก เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ กรดไหลย้อน กระเพาะอาหารอักเสบ
  • ผลต่อหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตสูง หัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ใบหน้าแดง เจ็บหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน ผมร่วง ผื่นผิวหนังอักเสบ
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับทำงานผิดปกติ เกิดการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ-บี
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เกิดภาวะLeucopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) , Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ) , Pancytopenia(เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ)
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียในข้อกระดูก(ข้ออักเสบติดเชื้อ) กระดูกหักง่าย
  • ผลต่อไต: เช่น ไตทำงานผิดปกติ
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และมีไขมันในเลือดสูง
  • ผลต่อตา: เช่น ตาพร่า เยื่อตาอักเสบ
  • ผลต่อสภาวะทางจิตใจ: เช่น ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ(ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)หรือ ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ มีภาวะคอพอก

มีข้อควรระวังการใช้โกลิมิวแมบอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโกลิมิวแมบ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเชื้อ
  • การใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • แจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาว่า ตนเองมีการเจ็บป่วยติดเชื้อ หรือเพิ่งได้รับการฉีดวัคซีน รวมถึงมีการใช้ยาอื่นใด อยู่ก่อนบ้าง
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้ ควรมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย การตรวจภาวะแทรกซ้อนต่างๆจากยานี้ ตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • หากพบอาการป่วยหรือมีการติดเชื้อใดๆเกิดขึ้น ให้รีบมาโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอถึงวันนัด
  • ระหว่างการใช้ยานี้ หากพบอาการ อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่าอาจเกิดอาการแพ้ยานี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโกลิมิวแมบด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

โกลิมิวแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโกลิมิวแมบมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโกลิมิวแมบร่วมกับยา Methyprednisolone , Hydrocortisone Zidovudine, อาจทำให้มีการติดเชื้อชนิดต่างๆในระดับรุนแรงตามมา หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโกลิมิวแมบร่วมกับวัคซีนบีซีจี (BCG) ด้วยมีความเสี่ยงที่จะ ทำให้ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อวัณโรคจากการใช้วัคซีนบีซีจี และการกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนนี้ต่อวัณโรคยังจะล้มเหลว/ไม่ได้ผล
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโกลิมิวแมบร่วมกับยา Clozapine ด้วยยา Clozapine สามารถทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวในร่างกายต่ำลงและรวมถึงเกิดผลกระทบ/เกิดการกดไขกระดูก
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาโกลิมิวแมบร่วมกับยา Leflunomide ด้วยอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาโกลิมิวแมบเพิ่มมากขึ้น และส่งผลต่อการกดไขกระดูกตามมา

ควรเก็บรักษาโกลิมิวแมบอย่างไร?

ควรเก็บยาโกลิมิวแมบ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

กลิมิวแมบมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโกลิมิวแมบ ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Simponi (ซิมโพนิ)Janssen-Cilag

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Golimumab#Uses[2017,April8]
  2. http://www.simponi.com/[2017,April8]
  3. http://www.medicinenet.com/golimumab/article.htm[2017,April8]
  4. https://www.drugs.com/ppa/golimumab.html[2017,April8]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/simponi/?type=brief[2017,April8]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/golimumab-index.html?filter=3&generic_only=#B[2017,April8]