แอสไพริน อย่ากินพร่ำเพรื่อ (ตอนที่ 2)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 27 ตุลาคม 2561
- Tweet
กรณีที่มีอาการปวดอย่างอ่อนจนถึงปานกลาง เราสามารถใช้ยาแอสไพรินตัวเดียวเดี่ยวๆ แต่หากเป็นการปวดระดับปานกลางจนถึงรุนแรงมักใช้ร่วมกับยากลุ่ม Opioid analgesic และ ยากลุ่มเอ็นเสด
ซึ่งการใช้แอสไพรินในปริมาณที่สูง จะช่วยรักษาหรือลดอาการดังต่อไปนี้
- ไข้รูมาติก (Rheumatic fever)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatic arthritis)
- การอักเสบของข้อต่อ
- ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis)
ส่วนกรณีใช้ในปริมาณที่ต่ำจะใช้เพื่อ
- ป้องกันการก่อตัวของลิ่มเลือด (Blood clots) ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดสมองตีบชั่วคราว (Transient ischemic attack = TIA) และอาการเจ็บหน้าอกแบบปวดเค้น (Unstable angina)
- ป้องกันกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease) ด้วยการป้องกันการแข็งตัวของเลือด
- ป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่ไม่ได้ใช้รักษา
- ป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer)
แอสไพรินไม่เหมาะกับเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี เพราะสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye's syndrome) ที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังการติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด หรือ อีสุกอีใส (Chicken pox) และสามารถทำลายสมองอย่างถาวรหรือทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ จะมีการใช้ยา Acetaminophen และ ยา Ibuprofen แทน
อย่างไรก็ดี แพทย์อาจจ่ายยาแอสไพรินให้กับเด็กกรณีที่เป็นโรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) และป้องกันการแข็งตัวของเลือดหลังการผ่าตัดหัวใจ
[Reye's Syndrome (กลุ่มอาการราย) เป็นกลุ่มอาการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองและตับ ผู้ป่วยมักอาเจียนอย่างต่อเนื่อง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว หรือหมดสติ บางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สาเหตุสำคัญมักเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อไวรัส หรือการใช้ยาแอสไพรินเพื่อรักษาการติดเชื้อไวรัส เป็นภาวะเจ็บป่วยที่พบได้น้อยมากแต่เกิดขึ้นได้]
[โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นโรคที่เกิดการอักเสบของเยื่อบุผิวหนัง หลอดเลือดและต่อมน้ำเหลือง ส่วนใหญ่จะพบในเด็ก โดยพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิงเล็กน้อย ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดตามหลังการติดเชื้อ และเชื้อโรคกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ]
แหล่งข้อมูล:
- Uses, benefits, and risks of aspirin. https://www.medicalnewstoday.com/articles/161255.php [2018, October 26].