แอสเบสโตสิส โรคปอดจากแร่ใยหิน (Asbestosis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 26 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- แอสเบสโตสิสเกิดได้อย่างไร?
- แอสเบสโตสิสมีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยแอสเบสโตสิสอย่างไร?
- รักษาแอสเบสโตสิสอย่างไร?
- แอสเบสโตสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากแอสเบสโตสิสอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดแอสเบสโตสิส ?
- ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร์?
- ป้องกันแอสเบสโตสิสอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคปอด (Lung disease)
- โรคทางเดินหายใจ โรคระบบหายใจ โรคระบบทางเดินหายใจ (Respiratory tract disorder)
- มะเร็งปอด (Lung cancer)
- ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
- เนื้องอก (Tumor)
- มะเร็ง (Cancer)
- สารก่อมะเร็ง (Carcinogen)
- มีโซทีลิโอมา (Mesothelioma)
- พังผืดในปอด (Pulmonary fibrosis)
บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคแอสเบสโตสิส (Asbestosis)คือ โรคปอดเรื้อรังจากเนื้อเยื่อปอดเกิดพังผืดเรื้อรังรุนแรง ที่เกิดจากการสูดดมแร่ใยหิน(Asbestos)เข้าสู่ปอดในปริมาณสูง และ/หรืออย่างต่อเนื่อง โดยอาการของโรคมักพบหลังการหายใจเอาฝุ่นแร่นี้เข้าไปนานอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะประมาณ 20-30 ปีขึ้นไป
โรคแอสเบสโตสิส เป็นโรคของผู้ใหญ่ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไป พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง ซึ่งเชื่อว่ามาจากการงานอาชีพของผู้ชาย เช่น การทำเหมืองแร่ หรืองานในอุตสาหกรรมต่างๆที่นำแร่ใยหินมาใช้ เช่น อุตสาหรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า การก่อสร้างอาคาร บ้านเรื่อน เครื่องใช้ในครัวเรือน เป็นต้น ทั้งนี้สถิติการเกิดโรคนี้ทั่วโลกยังไม่มีการศึกษาชัดเจนรวมถึงในสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก รายงานว่าในปี ค.ศ. 2014 ทั่วโลกมีประชากรที่ได้รับฝุ่นแร่แอสเบสโตสประมาณ 125ล้านคน ประมาณ 107,000 คน เสียชีวิตจากโรคปอดที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นแร่แอสเบสโตส และประมาณ 1,523,000คน เจ็บป่วยเรื้อรังจากโรคที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นแร่นี้
แอสเบสโตสิสเกิดได้อย่างไร?
โรคแอสเบสโตสิส เกิดจากการสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าสู่ปอดอย่างต่อเนื่อง หรือในปริมาณสูง ซึ่งแร่ใยหินเมื่อถูกสูดดดม จะเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อปอด และจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ(ชนิดไม่ใช่จากติดเชื้อ)ต่อเนื่องของเนื่อเยื่อปอดในทุกๆส่วนของปอดทั้ง 2 ข้าง และร่างกายจะตอบสนองต่อการอักเสบนั้นด้วยการก่อให้เกิดเป็นพังผืดขึ้นในเนื้อเยื่อปอดที่เกิดการอักเสบนี้
เนื้อเยื่อปอดที่เกิดเป็นพังผืด จะส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดไม่สามารถขยายตัวทำงานหายใจเอาก๊าซที่ดีจากอากาศคือ ออกซิเจน เข้าไปแลกเปลี่ยนกับก๊าซเสียของร่างกาย/ในหลอดเลือดคือ คาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้เนื้อเยื่อปอดพยายามทำงานมากขึ้น เกิดเป็นอาการหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก เพื่อให้ร่างกายหายใจได้ออกซิเจนที่เพียงพอต่อการทำงานของทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย
กระบวนการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เนื้อเยื่อปอดเปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์มะเร็งปอด ซึ่งโอกาสเกิดมะเร็งปอดจะยิ่งสูงมากขึ้นไปอีกถ้าคนนั้นสูบบุหรี่ร่วมด้วย
นอกจากการเกิดมะเร็งปอด แร่ใยหิน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เยื่อหุ้มปอดเกิดการเปลี่ยนแปลงกลายไปเป็นก้อนเนื้อ ที่เรียกว่า “Pleural plaque” ที่มักจะตรวจพบได้จาก ซีทีสแกน/CT scan/ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ภาพปอด ซึ่งใช้เป็นตัวช่วยวินิจฉัยว่า ‘ปอดเป็นโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน หรือ โรคแอสเบสโตสิส’
แร่ใยหิน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เซลล์เยื่อหุ้มปอดเปลี่ยนไปเป็นเซลล์เนื้องอกหรือเป็นเซลล์มะเร็งเยื่อหุ้มปอด ที่เรียกว่า “มีโซทีลิโอมา (Mesothelioma หรือ Malignant mesothelioma)” และรวมไปถึงการเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดมะเร็งในอวัยวะอื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสกับแร่ใยหินเรื้อรัง เช่น มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต มะเร็งระบบท่อน้ำดี มีโซทีลิโอมาของช่องท้อง/เยื่อบุช่องท้อง
นอกจากนั้น การอักเสบของเนื้อเยื่อปอดและของเยื่อหุ้มปอด ยังอาจส่งผลให้เกิด ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด แต่โดยทั่วไปพบเกิดปริมาณน้ำได้ไม่มาก แต่ถ้าเกิดมีปริมาณน้ำมาก จะก่อให้เกิดอาการหอบเหนื่อย หายใจลำบาก จากปอดขยายตัวไม่ได้จากมีน้ำกดทับอยู่
แอสเบสโตสิสมีอาการอย่างไร?
อาการที่พบบ่อยในโรคแอสเบสโตสิส ได้แก่
- เจ็บหน้าอก ซึ่งเจ็บได้ในทุกตำแหน่งของปอดทั้ง 2 ข้าง และอาการเจ็บฯอาจสัมพันกับการหายใจหรือไม่ก็ได้
- แน่นหน้าอก อาจข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างของปอด
- ไอเรื้อรัง อาจไอมีเสมหะ(ถ้าไม่มีการติดเชื้อในปอดร่วมด้วย เสมหะจะเป็นสีขาว) หรือไอแห้งๆ(ไอไม่มีเสมหะ) และอาจไอเป็นเลือดเมื่อเกิดมะเร็งปอดร่วมด้วย
- หายใจลำบาก
- นิ้วมือ นิ้วเท้า และเล็บ มีลักษณะผิดปกติที่เกิดจากเนื้อเยื่อขาดออกซิเจน คือ ข้อปลายสุดของนิ้ว/เล็บจะมีลักษณะเป็นรูปกลมคล้ายถ้วย เรียกว่า “Clubbing finger”
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะในผู้มีประวัติสัมผัสหรือเคยสัมผัสแร่ใยหิน เช่น ทำงานในเหมืองแร่
แพทย์วินิจฉัยแอสเบสโตสิสอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคแอสเบสโตสิส ได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการงาน อาชีพ การสัมผ้สแร่ใยหินทั้งในอดีตและในปัจจุบัน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจฟังเสียงการหายใจจากหูฟังที่จะพบว่า การหายใจมีเสียงที่ผิดปกติ
- การเอกซเรย์ภาพปอด อาจร่วมกับ ซีทีสแกน/ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด
- การตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอด(Pulmomary function test)
- ในบางครั้งเมื่อประวัติสัมผัสแร่ใยหินไม่ชัดเจน อาจต้องมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา เช่น
- การส่องกล้องปอด และ
- ตัดชื้นเนื้อจากเนื้อเยื่อปอด/รอยโรค เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาแอสเบสโตสิสอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาที่รักษาโรคแอสเบสโตสิสให้หายได้ แนวทางการรักษาโรคแอสเบสโตสิส คือ
- การหยุดการได้รับแร่ใยหิน
- หยุด/เลิกบุหรี่
- และการรักษาตามอาการ ซึ่ง ที่สำคัญ คือ
- การสูดดมออกซิเจน ทีต้องฝึกการให้ออกซิเจนที่บ้านจนเข้าใจดี จาก แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
- การพักผ่อน งดการออกแรง
- กายภาพฟื้นฟูปอดตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำตลอดไป
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
- รู้จักการใช้หน้ากากอนามัย
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ร่วมกับการออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ ทุกวันเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ
- กินยาต่างๆเพื่อบรรเท่าอาการตามแพทย์แนะนำ เช่น ยาแก้ไอ ยาขับเสมหะ ยาละลายเสมหะ
- ฉีดวัคซีนต่างๆตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- ในที่สุด ถ้ามีความพร้อมทั้ง ด้านวิทยาการทางการแพทย์ ร่างกาย และเศรษฐกิจ คือ การผ่าตัดเปลี่ยนปอด
แอสเบสโตสิสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
โรคแอสเบสโตซิส มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี เป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่การรักษาจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการ และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิต คือ
- ภาวะหายใจล้มเหลว
- และภาวะหัวใจล้มเหลว
ทั้งนี้ การพยากรณ์โรคยังขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น
- ความรุนแรงของอาการ
- อายุผู้ป่วย
- โรคร่วม/โรคประจำตัวของผู้ป่วย
- การเกิดผลข้างเคียง เช่น การเกิดโรคมะเร็งต่างๆ เป็นต้น
มีผลข้างเคียงจากแอสเบสโตสิสอย่างไร?
ผลข้างเคียงจากโรคแอสเบสโตสิส ที่สำคัญ คือ
- ปอดอักเสบติดเชื้อ
- และการเกิดมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ มะเร็งปอด หรือ มะเร็งเยื่อหุ้มปอด/มะเร็งมีโซทีลิโอมา(Mesothelioma)
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเกิดแอสเบสโตสิส ?
การดูแลตนเองที่บ้านเมื่อเป็นโรคแอสเบสโตสิส ได้แก่
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด แนะนำ
- ฝึกการใช้ออกซิเจนที่บ้านจนสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จากแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถ้าสงสัย ไม่เข้าใจต้องสอบถาม ปรึกษาจนมั่นใจในการใช้งาน
- กินยาตามแพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่ขาดยา ไม่หยุดยาเอง
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- งดการออกแรง
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- ออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ สม่ำเสมอ ทุกวัน
- ฉีดวัคซีนต่างๆ ตามแพทย์ผู้รักษาแนะนำ
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร์?
เมื่อเป็นโรคแอสเบสโตสิส ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการต่างๆเลวลง เช่น หายใจลำบาก หรือ ไอ มากขึ้น
- มีอาการใหม่เกิดขึ้น เช่น ไอเป็นเลือด กลืนลำบาก จากที่ไม่เคยมีอาการมาก่อน
- อาการที่รักษาหายไปแล้ว กลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้
- กังวลในอาการ
ป้องกันแอสเบสโตสิสอย่างไร?
การป้องกันโรคแอสเบสโตสิส คือ
- หลีกเลี่ยงการสูดหายใจแร่ใยหินในชีวิตประจำวัน เช่น เลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างบ้านที่ปราศจากแร่ใยหิน
- ถ้าต้องทำงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ การแนะนำในการปฏิบัติงาน รวมไปถึงการสวมใส่เครื่องป้องกันการสูดหายใจเอาแร่ใยหินเข้าสู่ปอด
- เมื่อทำงานที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน ควรต้องตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอพร้อมแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อมีการตรวจประสิทธิภาพการทำงานของปอดสม่ำเสมอ เพื่อสามารถหยุดการได้รับแร่ใยหินในระดับอันตรายได้แต่เนิ่นๆ
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เนื้อเยื่อปอดเกิดพังผืดได้สูงขึ้น และยังเป็นตัวเพิ่มปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดมะเร็งปอดด้วย
บรรณานุกรม
- O’Reilly,K. et al.(2007). Am Fam Physician. 75, 683-690
- Roggli,V. et al.(2010). Arch Pathol Lab Med. 134,462-480
- https://emedicine.medscape.com/article/295966-overview#showall[2019,Sept7]
- https://www.nhs.uk/conditions/asbestosis/ [2019,Sept7]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Asbestosis[2019,Sept7]
- https://www.who.int/ipcs/assessment/public_health/asbestos/en/[2019,Sept7]