แอลฟาแคลซิดอล (Alfacalcidol)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอลฟาแคลซิดอล (Alfacalcidol) เป็นรูปโครงสร้างหนึ่งของวิตามินดี ถูกนำมาใช้รักษาผู้ป่วยที่มี ระดับแคลเซียมในเลือดต่ำ, โรคกระดูกอ่อนในเด็ก, ภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ, ตลอดจนรักษาอาการพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำผิดปกติ

ยาแอลฟาแคลซิดอล ถูกดูดซึมได้ดีจากระบบทางเดินอาหาร สามารถจับกับพลาสมาและถูกเปลี่ยนโครงสร้างโดยตับ และได้สารแคลซิไตรออล (Calcitriol) ซึ่งเป็นตัวยาที่มีประสิทธิภาพ(Active)ที่ออกฤทธ์รักษาโรค แอลฟาแคลซิดอลจะถูกขับออกมากับอุจจาระและส่วนน้อยจะผ่าน มากับปัสสาวะ ยานี้ถูกบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

แอลฟาแคลซิดอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอลฟาแคลซิดอล

แอลฟาแคลซิดอลมีสรรพคุณ/ช้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาภาวะการขาดแคลเซียมของร่างกาย
  • รักษาโรคกระดูกอ่อนในเด็ก
  • รักษาภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ
  • รักษาโรคกระดูกที่เกิดจากไตวายเรื้อรัง (Renal osteodystrophy)

แอลฟาแคลซิดอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

แอลฟาแคลซิดอลเป็นสารตั้งต้นของแคลซีไตรออล (Calcitriol) ซึ่งเป็นรูปหนึ่งของวิตา มิน ดี3 และทำให้กระบวนการเผาผลาญของวิตามินดีในร่างกายเกิดขึ้นได้ตามปกติ อีกทั้งสนับ สนุนร่างกายให้ได้รับแคลเซียมได้อย่างเพียงพอ

แอลฟาแคลซิดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

แอลฟาแคลซิดอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 0.25 และ 0.5 ไมโครกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาแคปซูลนิ่ม (Soft gelatin capsule: แคปซูลที่ดูดซึมได้ดีกว่าแคปซูลทั่วไป) ขนาดความแรง 0.25 และ 1 ไมโครกรัม/แคปซูล
  • รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 0.25 และ 0.5 ไมโครกรัม/เม็ด

แอลฟาแคลซิดอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอลฟาแคลซิดอลมีขนาดรับประทาน สำหรับภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ โรคกระดูกอ่อน ภาวะฟอสเฟตในเลือดต่ำ ภาวะพาราไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ และโรคกระดูกที่เกิดจากไตวายเรื้อรัง เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานเริ่มต้น 1 ไมโครกรัม/วัน โดยขนาดรับประทานต่อเนื่อง 0.25 - 1 ไมโครกรัม/วัน
  • เด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนดหรือเด็กเกิดใหม่: รับประทาน 0.05 - 0.1 ไมโครกรัม/น้ำ หนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุอื่นๆที่น้ำหนักน้อยกว่า 20 กิโลกรัม: รับประทาน 0.05 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1กิโลกรัม/วัน
  • เด็กอายุอื่นๆที่น้ำหนักมากกว่า 20 กิโลกรัม: รับประทาน 1 ไมโครกรัม/วัน

อนึ่ง:

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • เนื่องจากยานี้เป็นยาอันตราย ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาจึงต้องอยู่ในคำสั่งจากแพทย์เทานั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอลฟาแคลซิดอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแอลฟาแคลซิดอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอลฟาแคลซิดอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แอลฟาแคลซิดอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอลฟาแคลซิดอลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น

  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • ปัสสาวะมาก
  • เหงื่อออกมาก ปวดหัว
  • กระหายน้ำ
  • เวียนศีรษะ
  • ผื่นคัน ลมพิษ
  • มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (อาการ เช่น ซึม วิงเวียน คลื่นไส้)
  • มีแคลเซียมออกมากับปัสสาวะมาก (อาการ เช่น ปัสสาวะขุ่น และเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด นิ่วในไต)
  • ในผู้ป่วยโรคไตสามารถเกิดภาวะฟอสเฟตในเลือดสูง(อาการ เช่น เป็นตะคริว)

มีข้อควรระวังการใช้แอลฟาแคลซิดอลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอลฟาแคลซิดอล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีเกลือแร่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส (Phosphorus) หรือ แมกนีเซียม(Magnesium), หรือมีฮอร์โมนพาราไทรอยด์ ในเลือดสูง
  • ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • จำเป็นต้องควบคุมระดับแคลเซียมในกระแสเลือด เมื่อใช้ยานี้กับผู้ป่วยไตวาย
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอลฟาแคลซิดอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอลฟาแคลซิดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอลฟาแคลซิดอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแอลฟาแคลซิดอล ร่วมกับยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง เช่นยา Thiazide สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการมีแคลเซียมในเลือดสูง
  • การใช้แอลฟาแคลซิดอล ร่วมกับยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Carbamazepine, Phenobarbital, Phenytoin, อาจทำให้ร่างกายต้องการวิตามินดีเพิ่มมากขึ้น
  • การใช้ยาแอลฟาแคลซิดอล ร่วมกับยาวัณโรค เช่นยา Rifampicin, Isoniazid อาจลดประสิทธิภาพของวิตามินดีลงได้

ควรเก็บรักษาแอลฟาแคลซิดอลอย่างไร?

ควรเก็บยาแอลฟาแคลซิดอล เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาให้พ้น แสง /แสงแดด และ ความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

แอลฟาแคลซิดอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอลฟาแคลซิดอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Alpha D3 (แอลฟา ดี3) Teva
Bon-One (บอน-วัน) Teijin
Medi-alpha (เมดี-แอลฟา) Mega Lifesciences
One-Alpha (วัน-แอลฟา) LEO Pharma

บรรณานุกรม

1 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=alfacalcidol [2020,Dec26]
2 http://www.mims.com/USA/Drug/info/alfacalcidol/?type=brief&mtype=generic [2020,Dec26]
3 http://en.wikipedia.org/wiki/Alfacalcidol [2020,Dec26]
4 http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/26565/SPC/Alfacalcidol+0.25microgram+Capsules/ [2020,Dec26]