แอลพรีโนลอล (Alprenolol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 6 มกราคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- แอลพรีโนลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอลพรีโนลอลอย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอลพรีโนลอลอย่างไร?
- แอลพรีโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- เจ็บหน้าอกจากหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการปวดเค้นหัวใจ (Angina Pectoris)
บทนำ
ยาแอลพรีโนลอล (Alprenolol) ชื่ออื่นได้แก่ Alfeprol หรือ Alpheprol หรือAlprenololum เป็นยาในกลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ (Non-selective beta-blocker) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด(Angina pectoris) และหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmias) ยานี้มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้ในกระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 80 – 90% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 – 4 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากร่างกายผ่านทางปัสสาวะ
ยาแอลพรีโนลอลมีฤทธิ์บั่นทอนการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจ(AV node conduction) และอาจทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides)ในเลือดเพิ่มขึ้น พร้อมกับลดระดับไขมันเฮชดีแอล (HDL) ลง ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ยาแอลพรีโนลอลถูกวางจำหน่ายเพียงในบางประเทศและไม่เป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน
มีข้อห้ามใช้บางประการของยาแอลพรีโนลอลที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบ อาทิเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีการนำกระแสไฟฟ้าของหัวใจช้าลง (2nd and 3rd degree AV block)จนส่งผลทำให้หัวใจห้องบนและห้องล่างทำงานไม่สัมพันธ์กัน
- ยานี้ไม่เหมาะสมกับผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า (Sinus bradycardia)
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวที่ยังไม่สามารถควบคุมอาการได้
- หลีกเลี่ยงการใช้กับผู้ป่วยด้วยอาการหอบหืด หรือมีภาวะหลอดลมเกร็งตัว/หดตัว ผู้ที่มีภาวะเลือดเป็นกรด ผู้ป่วยฟีโอโครโมไซโตมา(Pheochromocytoma)
- ยาแอลพรีโนลอล ยังอาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ได้หลายอย่างตามมา เช่น ทำให้หัวใจเต้นช้า เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย การใช้ยาแอลพรีโนลอลจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งและการดูแลจากแพทย์เท่านั้น
แอลพรีโนลอลมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะ/โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- รักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina pectoris)
- รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Cardiac arrhythmia)
แอลพรีโนลอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอลเป็นยาประเภท Non-selective beta-blocker โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง ตัวยาจะยับยั้งอิทธิพลของสารสื่อประสาทอย่างเช่น Epinephrine และ Norepinephrine ส่งผลให้ลดอัตราการเต้นของหัวใจและทำให้ความดันโลหิต ลดลง นอกจากนี้ ยาแอลพรีโนลอลยังออกฤทธิ์ยับยั้งการผลิตสารเรนิน(Renin,สารที่สร้างจากไตเพื่อช่วยในการควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) มีผลยับยั้งการสร้างสารอีก 2 ประเภท คือ Angiotensin II และ Aldosterone(ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตที่ช่วยควบคุมความดันโลหิตของร่างกาย) ทำให้ลดการหดตัวของหลอดเลือด ลดภาวะร่างกายคั่งน้ำ จากกลไกทั้งหมดที่กล่าวมา จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ในการรักษาได้ตามสรรพคุณ
แอลพรีโนลอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอล มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 25 และ 50 มิลลิกรัม/แคปซูล
แอลพรีโนลอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอล มีขนาดรับประทาน เช่น
ก.สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 200 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
ข.สำหรับรักษาภาวะหัวใจขาดเลือด และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ:
- ผู้ใหญ่: รับประทานยา 200 – 400 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทานวันละ 2-3 ครั้ง ตามคำสั่งแพทย์
อนึ่ง:
- เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อแนะนำการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
- ยานี้สามารถก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาอื่นได้ อย่างเช่น กับยา Clonidine, NSAIDs, Sotalol, Digoxin, Insulin, ACE inhibitors, Calcium-channel blockers, Verapamil, ดังนั้นผู้ป่วยควรให้ข้อมูลการใช้ยาชนิดต่างๆ ของตนเองกับแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา พยาบาล และเภสัชกรโดยละเอียด
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอลพรีโนลอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหืด โรคหัวใจ รวมถึงกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอลพรีโนลอล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภท สามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
กรณีลืมรับประทานยาแอลพรีโนลอล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องปรับขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แต่อย่างไรก็ดี การลืมรับประทานยาแอลพรีโนลอล อาจทำให้เกิดความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา
แอลพรีโนลอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอลสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นช้า หัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น ความดันโลหิตต่ำ
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น เกิดความผิดปกติของเซลล์กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง ผื่นคัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้ระดับน้ำตาล ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ และระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดผิดปกติไป เช่น สูง หรือต่ำกว่าปกติ
มีข้อควรระวังการใช้แอลพรีโนลอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอลพรีโนลอล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามหยุดรับประทาน หรือรับประทานยานี้ต่อเนื่องโดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจที่มีภาวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ (ภาวะ 2nd - 3rd AV/Atrioventricular block) ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวที่ไม่สามารถควบคุมอาการได้ ผู้ป่วยโรคหืด หรือผู้ที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็งตัว/หายใจลำบาก
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย 1st AV block
- ระหว่างการใช้ยานี้ ต้องตรวจความดันโลหิตเป็นระยะๆตามแพทย์แนะนำ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษา
- ปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอลพรีโนลอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอลพรีโนลอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอลพรีโนลอล มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแอลพรีโนลอลร่วมกับยา Clonidine ด้วยจะก่อให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ( AV block) ตามมา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอลพรีโนลอลร่วมกับยา Alfuzosin, Alimemazine (ยาคลายกังวล), Aliskiren, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำตามมา
- การใช้ยาแอลพรีโนลอลร่วมกับยา Barbital(ยาคลายกังวล) อาจทำให้ระดับยาแอลพรีโนลอลในกระแสเลือดลดต่ำลงจนทำให้ประสิทธิภาพของยาแอลพรีโนลอลด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาแอลพรีโนลอลอย่างไร?
ควรเก็บยาแอลพรีโนลอล ภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์ และ เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
แอลพรีโนลอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอลพรีโนลอลที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Skajilol (สกาจิลอล) | Kotobuki Seiyaku |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Alprenolol [2016,Dec17]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB00866 [2016,Dec17]
- http://www.mims.com/malaysia/drug/info/alprenolol?mtype=generic [2016,Dec17]