แอมโมเนียฟุ้งกระจายหนีกระเจิง (ตอนที่ 3 และตอนจบ)
- โดย วันทนีย์ โลหะประกิตกุล
- 5 มิถุนายน 2563
- Tweet
แอมโนเนียจะทำปฏิกิริยารวดเร็วกับความชื้นที่ผิวหนัง ตา ช่องปาก ทางเดินหายใจ และเยื่อบุผิว โดยจะทำการกัดกร่อนเนื้อเยื่อ ทำให้เนื่อเยื่อตาย (Necrosis) เซลล์ถูกทำลาย เพราะเมื่อโปรตีนที่เซลล์แตกตัว น้ำจะถูกดูดออก เกิดการอักเสบ
สำหรับผลต่อร่างกายที่เกิดจากการสัมผัสกับแอมโมเนีย ได้แก่
- การสูดดม - จะทำให้เกิดการแสบไหม้ที่จมูก คอ และ ทางเดินหายใจ ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุของภาวะบวมน้ำที่หลอดลมและถุงลม (Bronchiolar and alveolar edema) ทางเดินหายใจถูกทำลาย ทำให้หายใจลำบาก (Respiratory distress) หรือระบบหายใจล้มเหลว ทั้งนี้ การสูดดมแอมโมเนียในปริมาณความเข้มข้นที่ต่ำสามารถทำให้เกิดอาการไอ ระคายจมูกและคอ
อย่างไรก็ดี แม้กลิ่นฉุนของแอมโมเนียจะเตือนถึงอันตรายได้ แต่การได้รับแอมโมเนียในปริมาณที่น้อยแต่เป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้เกิดภาวะจมูกล้า ซึ่งทำให้การรับรู้น้อยลงหรือไม่รับรู้กลิ่นจนทำให้เกิดอันตรายได้
[ภาวะจมูกล้า (Olfactory fatigue) เป็นอาการที่ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นไม่สามารถรับกลิ่นอะไรได้ เกิดจากการที่ประสาทสัมผัสการดมกลิ่นถูกใช้งานอย่างหนักต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งประสาทรับกลิ่นจะรู้สึกสับสนและไม่สามารถแยกกลิ่นอะไรได้เลย]
ในปริมาณแอมโมเนียที่เท่ากัน เด็กจะเป็นอันตรายมากกว่าผู้ใหญ่ ทั้งนี้เพราะเด็กมีอัตราพื้นที่ผิวปอดเมื่อเทียบกับน้ำหนักตัวมากกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้ ด้วยความสูงของเด็กที่เตี้ยกว่าผู้ใหญ่อาจทำให้เด็กได้รับปริมาณแอมโมเนียที่มากกว่าเพราะแอมโมเนียมักจะลอยต่ำใกล้พื้นดิน
- สัมผัสถูกผิวหรือตา - จะทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรวดเร็ว หากได้รับในระดับที่เข้มข้นมากอาจทำให้บาดเจ็บรุนแรงและไหม้ ส่วนการสัมผัสการสารแอมโมเนีย เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด อาจทำให้เกิดอันตรายการถูกกัดกร่อน เช่น ผิวไหม้ ผิวถูกทำลายจากการโดนสารกัด (Frostbite injury) ตาถูกทำลายหรือตาบอด ซึ่งอาจเกิดอาการได้หลังสัมผัสนาน 1 สัปดาห์
- ทางเดินอาหาร - การกลืนแอมโมเนียที่มีความเข้มข้นสูงจะกัดและทำลายปาก คอ และ กระเพาะอาหาร
สำหรับการรักษา ยังไม่มียาแก้พิษแอมโมเนีย แต่จะเป็นการรักษาแบบประคับประคอง (Supportive treatment) เช่น การให้ออกซิเจน (Humidified oxygen) ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) ส่วนการกลืนแอมโมเนียนั้นรักษาด้วยการละลายสารแอมโมเนียให้เจือจางด้วยนมหรือน้ำ
ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยเราสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนผสมได้ด้วยการ
- ไม่ควรให้มีคนอยู่มากบริเวณที่ใช้ และควรเปิดห้องให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
- หลีกเลี่ยงแอมโมเนียที่บรรจุในขวดแก้ว เพื่อป้องกันการตกแตกและอาจทำให้เกิดอันตรายได้
- ควรสวมเสื้อผ้า แว่นตาป้องกันการกระเด็น เพราะแอมโมเนียสามารถทำลายผิวหนังและตาได้
- เพื่อความปลอดภัยของเด็ก ไม่แนะนำให้เด็กใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย
แหล่งข้อมูล:
- Ammonia. https://en.wikipedia.org/wiki/Ammonia [2020, Jun 4].
- The Facts About Ammonia. https://www.health.ny.gov/environmental/emergency/chemical_terrorism/ammonia_tech.htm [2020, Jun 4].
- Toxic Substances Portal - Ammonia. https://www.atsdr.cdc.gov/phs/phs.asp?id=9&tid=2 [2020, Jun 4].