แอมเลกซานอกซ์ (Amlexanox)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 9 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอมเลกซานอกซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอมเลกซานอกซ์อย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอมเลกซานอกซ์อย่างไร?
- แอมเลกซานอกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แผลร้อนใน (Aphthous ulcer)
- มะเร็งช่องปาก (Oral cancer)
- เหงือกอักเสบ
บทนำ
ยาแอมเลกซานอกซ์ (Amlexanox, ยาชื่อการค้าในต่างประเทศคือ Aphthasol) เป็นยาที่นำ มาใช้รักษาแผลร้อนใน (Aphthous ulcers) ของช่องปาก ตัวยาจะช่วยลดเวลาและทำให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้นพร้อมกับบรรเทาอาการปวดของแผลร้อนใน รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาทาเฉพาะที่ในช่องปาก แต่ในประเทศญี่ปุ่นได้มีการผลิตแอมเลกซานอกซ์ในรูปแบบของยาเม็ดสำหรับรักษาอาการหอบหืดอีกด้วย แต่ในบทความนี้ขอกล่าวถึงรูปแบของยานี้เฉพาะที่เป็นยาทาแก้แผลร้อนในเท่านั้น
ยาแอมเลกซานอกซ์ถึงแม้จะใช้เป็นยาทาเฉพาะที่แต่ก็สามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ระดับหนึ่ง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 3.5 ชั่วโมงเพื่อการกำจัดยานี้ออกไปกับปัสสาวะ ด้านกลไกการออกฤทธิ์ของยานี้นั้นยังไม่ทราบอย่างชัด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดจากการยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทที่กระตุ้นให้มีอาการเจ็บปวดในบริเวณแผลร้อนในนั่นเอง
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่พบได้บ่อยของยาแอมเลกซานอกซ์มักจะเป็นอาการแสบและคันในบริเวณที่มีการทายา อาการข้างเคียงเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นรักษา ร่างกายจะค่อยๆปรับตัวจนคุ้นเคยและรู้สึกดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเกิดอาการแพ้ยานี้เช่น หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ลิ้น-คอ-ริมฝีปากบวม มีผื่นขึ้นเต็มตัว เมื่อพบอาการเหล่านี้หลังใช้ยาต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งแพทย์/ส่งโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการใช้ยานี้ แต่ยังพบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศแถบเอเชียเช่น ไทย ญี่ปุ่น และอินเดีย
ปกติการใช้ยาแอมเลกซานอกซ์เพื่อบรรเทาอาการแผลร้อนในของช่องปากมักใช้เวลาไม่เกิน 10 วันโดยต้องทายาต่อเนื่อง ต้องป้ายยาขนาดความยาว 0.5 เซนติเมตรโดยประมาณในบริเวณแผลของช่องปากวันละ 4 ครั้ง
เราสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ตามสถานพยาบาลรวมถึงมีใช้ในคลินิกทันตกรรม ถึงแม้จะเป็นยาป้ายปาก แต่ตัวยาสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกับยารับประทาน โดยอาจจะเป็นปริมาณที่ไม่มาก แต่หากใช้ไม่ถูกวิธีก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นเดียวกัน
แอมเลกซานอกซ์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอมเลกซานอกซ์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้รักษาอาการแผลร้อนในของช่องปากโดยช่วยทำให้แผลร้อนในหายเร็วขึ้น ลดอาการปวดอักเสบในบริเวณที่เกิดแผลร้อนใน รวมถึงป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย
แอมเลกซานอกซ์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมเลกซานอกซ์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งสารสื่อประสาทต่างๆที่กระตุ้นให้มีอาการอักเสบในบริเวณที่เกิดแผลร้อนในเช่น Histamine และ Leukotrienes โดยสารเหล่านี้มีการหลั่งมาจากเซลล์ต่างๆที่เรียกกันว่า Mast cell, Neutrophils และ Mononuclear cell จากกลไกดังกล่าวทำให้ลดการอักเสบรวมถึงการขยายตัวของแผลร้อนใน ช่วยให้แผลฯหายเร็ว บรรเทาอาการปวดแผลฯ และเป็นเหตุผลที่ก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
แอมเลกซานอกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในประเทศไทยยาแอมเลกซานอกซ์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาป้าย/ยาทาในช่องปากที่มีความเข้มข้น 5%
แอมเลกซานอกซ์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแอมเลกซานอกซ์มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่: ป้ายยาเป็นทางยาวประมาณ ¼ นิ้วในบริเวณแผลร้อนในวันละ 4 ครั้งระยะเวลาการรักษาไม่ควรเกิน 10 วัน
- เด็ก: ทางคลินิกยังไม่มีการศึกษาขนาดการใช้ยานี้ของเด็ก จึงไม่สามารถระบุขนาดการใช้ยานี้กับเด็กได้ชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง:
- ยานี้มีความปลอดภัยในการใช้กับสตรีตั้งครรภ์แต่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- ยานี้สามารถซึมผ่านมากับน้ำนมของมารดาได้จึงต้องเพิ่มความระวังหากจะใช้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแอมเลกซานอกซ์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมเลกซานอกซ์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมทายาควรทำอย่างไร?
หากลืมทา/ป้ายยาแอมเลกซานอกซ์สามารถใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปให้ป้ายยาในขนาดปกติโดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณของยาเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรป้ายยาแอมเลกซานอกซ์บริเวณแผลร้อนในให้ตรงเวลา
แอมเลกซานอกซ์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอมเลกซานอกซ์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น แสบ คัน หรือปวดในบริเวณที่มีการทายา เกิดการอักเสบกับเยื่อเมือกในช่องปากในบริเวณที่ทายา ผู้ป่วยบางรายจะมีอาการท้องเสียหรือคลื่นไส้ร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่พบอาการข้างเคียงใดๆเลยก็ได้
มีข้อควรระวังการใช้แอมเลกซานอกซ์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมเลกซานอกซ์เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาแอมเลกซานอกซ์
- ห้ามใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
- ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามมิให้ยานี้เข้าตา
- หากใช้ยานี้แล้วอาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 10 วันหลังการใช้ยา ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- หากพบว่าเริ่มจะมีอาการของแผลร้อนใน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการใช้ยานี้อย่างเนิ่นๆ ก่อนที่แผลร้อนในจะลุกลามและเป็นมากขึ้น
- เรียนรู้วิธีการทายาที่ถูกต้องจากแพทย์หรือจากเภสัชกรตามสถานพยาบาลที่มีการสั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย
- หากพบผื่นขึ้นตามตัวหรือพบการอักเสบภายในช่องปากหลังการทายานี้ ให้หยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- กรณีมีอาการแพ้ยานี้ให้หยุดการใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วทันที ฉุกเฉิน
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมแอมเลกซานอกซ์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แอมเลกซานอกซ์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ด้วยแอมเลกซานอกซ์เป็นยาป้ายช่องปากเฉพาะที่จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดรับประทานใดๆ
ควรเก็บรักษาแอมเลกซานอกซ์อย่างไร?
ควรเก็บยาแอมเลกซานอกซ์ในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แอมเลกซานอกซ์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอมเลกซานอกซ์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apthera (แอพเทรา) | Access Pharmaceuticals, Inc. |
AMLENOX (แอมเลนอกซ์) | Zuventus |
LEXANOX (เลกซานอกซ์) | Macleods |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amlexanox [2016,Jan23]
- http://www.drugs.com/monograph/amlexanox.html [2016,Jan23]
- https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/druginfo/meds/a601017.html [2016,Jan23]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Amlexanox [2016,Jan23]
- http://www.mims.com/India/drug/search?q=Amlexanox [2016,Jan23]
- https://www.cadth.ca/media/pdf/108_No1_amlexanox_edrug_e.pdf [2016,Jan23]