แอมเฟตามีน (Amphetamine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 21 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- แอมเฟตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- แอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอมเฟตามีนอย่างไร?
- แอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอมเฟตามีนอย่างไร?
- แอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคสมอง โรคทางสมอง (Brain disease)
- โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity disorder: ADHD)
- โรคลมหลับ หรือ ภาวะง่วงเกิน (Narcolepsy)
- ยาเสพติด (Narcotic drug)
- ยาควบคุมพิเศษ (Controlled substance drug)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาแอมเฟตามีน (Amphetamine) คือ ยาที่ออกฤทธิ์ต่อประสาทส่วนกลางหรือสมอง ถูกนำมาใช้บำบัดโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactiviry disorder) และโรคลมหลับ (Narcolepsy) ยานี้ถูกค้นพบตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) และพัฒนาเป็นยาแผนปัจจุบันในเวลาต่อมา โดยมีรูปแบบเป็น ยารับประทาน ยาพ่นจมูก ยาเหน็บทวาร และยาฉีด
มีการนำยาแอมเฟตามีนมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้กระตุ้นสมองให้ตื่นตัวและเพิ่มระยะเวลาทำงานได้ยาวนานขึ้น การใช้ยาดังกล่าวส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต เกิดการติดยา กลายเป็นสาร/ยาเสพติด นอกจากนี้ยังแสดงฤทธิ์และส่งผลเสียต่อระบบประสาทเช่น มีอาการสับสน การตอบสนองต่อสิ่งเร้าผิดปกติ เกิดอาการชักกระตุก มีอาการปวดกล้ามเนื้อ
ไม่เพียงเท่านี้ ยาแอมเฟตามีนยังอาจส่งผลต่อระบบการทำงานของหัวใจ ทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตต่ำ หรือ ความดันโลหิตสูง, หัวใจเต้นเร็ว, ปัสสาวะขัด, ปวดเบ่งเวลาปัสสาวะ, ฯลฯ ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์และออกกฎหมายเรื่องการใช้ยาแอมเฟตามีนอย่างผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งผู้บริโภคต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจไม่ทดลองหรือเชื่อคำแนะนำจากผู้ไม่ประสงค์ดีที่แนะ นำให้ใช้ยานี้
จากการศึกษาเรื่องการกระจายตัวของยานี้เมื่อเข้าสู่ร่างกายพบว่า แอมเฟตามีนจะดูดซึมยาจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 75 - 100% เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน 15 - 40% และต้องใช้เวลาในการกำจัดยา 50% ออกจากร่างกายในประมาณ 9 - 14 ชั่วโมง โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
ปัจจุบันแอมเฟตามีนถูกคณะกรรมการอาหารและยาของไทยระบุให้เป็นยาเสพติดให้โทษประ เภทที่ 1 ประเทศไทยจึงไม่มีการผลิตยานี้ แต่ในแถบอเมริกากำหนดให้ยาแอมเฟตามีนเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้นจึงจะซื้อได้ ส่วนในแถบเอเชียมีบางประเทศที่ระงับการใช้ยานี้ แล้วเช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
แอมเฟตามีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ทางการแพทย์ ยาแอมเฟตามีนมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:
- รักษาโรคสมาธิสั้น
- รักษาโรคลมหลับ
แอมเฟตามีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอมเฟตามีนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทโดยทำให้เกิดการหลั่งของสารสื่อประสาทบางตัวเช่น Norepinephrine และ Dopamine ที่กระตุ้นให้สมองตื่น ตัว อีกทั้งยังส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาท Monoamines ที่ช่วยในด้านการรับรู้ จากกลไกเหล่านี้จึงเชื่อว่าส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาของยานี้
แอมเฟตามีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ในต่างประเทศยังมีการจำหน่ายยาแอมเฟตามีนโดยอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายและมีขนาดความแรง เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 1.25, 1.875, 3.125, 3.75, 2.5, 5 และ 7.5 มิลลิกรัม/เม็ด
*อนึ่ง ประเทศไทยไม่มีการผลิตยานี้ ด้วยจัดอยู่ในหมวดสาร/ยาเสพติด
แอมเฟตามีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากโรคลมหลับเป็นโรคพบยาก การรักษาจึงเป็นรายบุคคลไป ดังนั้นจึงขอยกตัวอย่างขนาดยาแอมเฟตามีนนี้เฉพาะในการรักษาโรคสมาธิสั้นเท่านั้น เช่น
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุต่ำกว่า 3 ปี: การใช้ยานี้ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- เด็กอายุ 3 - 5 ปี: เริ่มต้นรับประทาน 2.5 มิลลิกรัม/วัน และแพทย์อาจปรับขนาดเพิ่มอีก 2.5 มิลลิกรัมในสัปดาห์ถัดมา โดยพิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วย
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป: เริ่มต้นรับประทาน 5 มิลลิกรัม/วัน สามารถรับประทานเพียงวันละครั้งหรือจะแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วันก็ได้ และแพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับประทานอีก 5 มิลลิกรัมในสัปดาห์ถัดมา โดยพิจารณาจากการตอบสนองของผู้ป่วย
- ผู้ใหญ่: ในช่วงเริ่มต้นรับประทานขนาดยาคือ 20 มิลลิกรัม/วัน จากนั้นแพทย์จะปรับเปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการติดยา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแอมเฟตามีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมเฟตามีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอมเฟตามีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แอมเฟตามีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอมเฟตามีนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะจนอาจตายทันทีได้
- ความดันโลหิตสูง
- ภาวะหัวใจล้มเหลว
- กระสับกระส่าย
- วิงเวียน
- นอนไม่หลับ
- มีอาการจิตหลอน/ประสาทหลอน
- ซึมเศร้า
- ตัวสั่น
- ปวดหัว
- ชัก
- เกิดกลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette’s syndrome/ กลุ่มอาการทางระบบประสาทที่ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อได้ทั้งตัว)
- ปากคอแห้ง
- การรับรสชาติผิดปกติไป
- ท้องเสีย หรือ ท้องผูก
- รู้สึกไม่สบายในช่องทางเดินอาหาร
- เบื่ออาหาร
- น้ำหนักตัวลด
- ลมพิษ
- ผื่นคันตามผิวหนัง
- เกิดภาวะผิวเป็นจ้ำ ช้ำ และบวม
*****ส่วนอาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาด เช่น มีอาการกระสับกระส่าย, หายใจเร็ว, รู้สึกสับสน, มีอาการประสาทหลอนจนถึงคลุ้มคลั่ง, ตัวสั่น, อ่อนแรง, และซึมเศร้า, ในเวลาต่อมา หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ, ระบบการไหลเวียนเลือดล้มเหลว, นอกจากนี้ยังพบอาการคลื่นไส้-อาเจียน, ปวดท้องแบบปวดบีบ, มีอาการชักจนถึงเกิดภาวะโคม่า, ซึ่งเมื่อพบผู้ป่วยมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที่/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้แอมเฟตามีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้แอมเฟตามีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติติดยาเสพติด
- ห้ามใช้ยานี้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม MAOI หากจำเป็นต้องใช้ยาแอมเฟตามีน ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยากลุ่ม MAOI เป็นเวลาอย่างน้อย 14 วันขึ้นไป
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มี ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่โรครุนแรงอยู่ในระยะปานกลาง - ระยะรุนแรง ผู้ป่วยโรคต้อหิน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตทั้งต่ำและสูง หรือผู้ที่มีโรคเกี่ยวกับหัวใจ
- ระวังการใช้ยานี้เป็นเวลานานกับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ด้วยยานี้สามารถกดการเจริญเติบโตของเด็กได้
- ระวังการติดยาเนื่องจากใช้ยานี้ผิดวัตถุประสงค์
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอมเฟตามีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอมเฟตามีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแอมเฟตามีน ร่วมกับยา Guanethidine, Reserpine หรือกับน้ำผลไม้ สามารถทำให้การดูดซึมยาแอมเฟตามีนน้อยลงจนอาจกระทบต่อผลของการรักษา
- การใช้ยาแอมเฟตามีน ร่วมกับ ยากลุ่ม Adrenergic blocker (Alpha blocker และ Beta blocker) สามารถทำให้ฤทธิ์การรักษาของ Adrenergic blocker ด้อยประสิทธิภาพลงไปจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแอมเฟตามีน ร่วมกับ ยารักษาอาการซึมเศร้ากลุ่ม MAOI จะกระตุ้นให้ยาแอมเฟตามีนออกฤทธิ์ได้ยาวนานขึ้นอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลเสียตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาแอมเฟตามีน ร่วมกับยา Antihistamine จะทำให้ผลข้างเคียงด้านสงบประสาท/ยาคลายเครียด หรือง่วงนอนของ Antihistamine ลดน้อยลงไป
ควรเก็บรักษาแอมเฟตามีนอย่างไร?
ควรเก็บยาแอมเฟตามีน:
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือ เด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แอมเฟตามีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอมเฟตามีนที่จำหน่ายในต่างประเทศ (ไม่มียาเหล่านี้จำหน่ายในประเทศไทย) มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Amphetamine aspartate (แอมเฟตามีน แอสปาร์เตท) | Mallinckrodt Inc |
Amphetamine sulfate (แอมเฟตามีน ซัลเฟท) | Mallinckrodt Inc |
Dextroamphetamine saccharate (เดคโทรแอมเฟตามีน แซคคาเรท) | Mallinckrodt Inc |
Dextroamphetamine sulfate (เดคโทรแอมเฟตามีน ซัลเฟท) | Mallinckrodt Inc |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Amphetamine [2021,March20]
- https://www.mims.com/singapore/drug/info/dexamfetamine?mtype=generic [2021,March20]
- https://www.drugs.com/amphetamine.html [2021,March20]
- https://www.drugs.com/dosage/amphetamine-dextroamphetamine.html#Usual_Adult_Dose_for_Attention_Deficit_Disorde%20r% [2021,March20]
- https://go.drugbank.com/drugs/DB00182 [2021,March20]