แอมบรอกซอล (Ambroxol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแอมบรอกซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาแอมบรอกซอลควรทำอย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมบรอกซอลอย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยาแอมบรอกซอลกับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแอมบรอกซอลอย่างไร?
- ยาแอมบรอกซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคปอด โรคของปอด โรคทางปอด (Pulmonary disease)
- โรคหืด (Asthma)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)้
- โรคหวัด (Common cold)
- ปอดบวม ปอดอักเสบ (Pneumonia)
- โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
- วิธีทิ้งยาหมดอายุ (How to dispose expired medications)
บทนำ
ยาแอมบรอกซอล (Ambroxol) จัดเป็นยาที่พบแพร่หลายในร้านยาและสถานพยาบาลทั่วไป ใช้รักษาโรคทางเดินหายใจที่มีเสมหะเหนียวข้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการไอ
ยาแอมบรอกซอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอมบรอกซอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- เป็น ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ ช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง อีกทั้งช่วยรักษาอาการเจ็บคอชนิดเฉียบพลันอันเกิดจากเชื้อไวรัส
ยาแอมบรอกซอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอมบรอกซอลออกฤทธิ์โดยละลายเสมหะ ทำให้เสมหะลดความข้นเหนียวลง อีกทั้งกระตุ้นการหลั่งสารลดแรงตึงผิวของหลอดลม จึงทำให้เสมหะถูกขับออกได้ง่ายขึ้น
ยาแอมบรอกซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอมบรอกซอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ชนิดเม็ด 30 มิลลิกรัม
- ชนิดน้ำเชื่อม 30 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร (1 ช้อนชา)
ยาแอมบรอกซอลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแอมบรอกซอล มีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ขึ้นกับ อายุ ความรุนแรง สภาวะความเจ็บป่วยของร่างกาย ดังนั้น
- จึงควรให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยสั่งจ่ายยาที่เหมาะสม
- ไม่ควรซื้อรับประทานเอง
- ขนาดรับประทานสูงสุดในผู้ใหญ่ต้องไม่เกิน 120 มิลลิกรัม/วัน
- ส่วนในเด็กควรต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมทั้งยาแอมบรอกซอล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดและอาการจากการแพ้ยา เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น หายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- โรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอมบรอกซอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์หรือไม่ หรือกำลังให้นมบุตรหรือไม่ เพราะยาแอมบรอกซอล อาจผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนมและเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้
หากลืมรับประทานยาแอมบรอกซอลควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแอมบรอกซอล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไป ให้รับประทานขนาดปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาแอมบรอกซอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) จากยาแอมบรอกซอล เช่น
- ระคายเคืองกระเพาะอาหาร และลำไส้ จึงควรรับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมบรอกซอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอมบรอกซอล เช่น
- ห้ามใช้ยาในผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
*****อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาแอมบรอกซอลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะ ยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแอมบรอกซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยาแอมบรอกซอลกับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยังไม่พบว่า ยาแอมบรอกซอลมีปฏิกิริยาระหว่างยาร่วมกับยาอื่น
ควรเก็บรักษายาแอมบรอกซอลอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาแอมบรอกซอล เช่น
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด
- เลี่ยงการเก็บในที่ชื้น หรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูง
- สามารถเก็บยาในอุณหภูมิห้องได้
- ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ ควรนำทิ้งทำลาย (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘วิธีทิ้งยาหมดอายุ’)
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และห้ามเก็บยาในตู้แช่แข็งของตู้เย็น
ยาแอมบรอกซอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต ยาแอมบรอกซอล เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
AMBROLEX (แอมบรอเลกซ์) | Glaxo Smith Kline |
AMBROXAN (แอมบรอซาน) | M & H Manufacturing |
AMPROMED (แอมโปรเมด) | Millimed |
AMTUSS (แอมทัส) | Unison |
AMXOL (แอมซอล) | Biolab |
BROXOL (โบรซอล) | Masa Lab |
MEDOVENT (เมโดเวนท์) | Medochemie |
MISOVAN (ไมโซแวน) | T.O. Chemicals |
MOVENT (โมเวนท์) | Community Pharm PCL |
MUCODIC (มูโคดิค) | Medicine Products |
MUCOLAN (มูโคแลน) | Milano |
MUCOLID (มูโคลิด) | Greater Pharma |
MUCOMED (มูโคเมด) | Medifive |
MUCOSOLVAN (มูโคโซลแวน) | Boehringer Ingelheim |
MUCOSOLVAN PL (มูโคโซลแวน พีแอล) | Boehringer Ingelheim |
MUCOXINE F (มูโคซิน) | Pharmasant Lab |
MUSOCAN (มูโซแคน) | Sriprasit Pharma |
NUCOBROX (นูโคบรอก) | Bangkok Lab & Cosmetic |
POLIBROXOL (โพลิโบรซอล) | Polipharm |
SECRETIN (เซครีทิน) | Osoth Interlab |
SIMUSOL (ไซมูซอล) | Siam Bheasach |
STREPSILS CHESTY COUGH (สเตรปซิลซ์ เชสทีค็อก) | Reckitt Benckiser Healthcare |
STREPTUSS AX (สเตรปทัสส์ เอเอ็กซ์) | Reckitt Benckiser Healthcare |
บรรณานุกรม
1. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fBroxol%2f%3fq%3dambroxol [2020,Oct24]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Ambroxol [2020,Oct24]