แอนิซินไดโอน (Anisindione)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแอนิซินไดโอน (Anisindione) เป็นสารประกอบสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด จัดอยู่ในอนุพันธุ์ยาอินดานีไดโอน (Indanedione derivative, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) มีรูปแบบยาแผนปัจจุบันเป็นชนิดรับประทาน ยาแอนิซินไดโอนไม่ได้มีกลไกไปละลายลิ่มเลือด แต่มีกลไกป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดที่มากเกินไปจนเกิดภาวะอุดตันภายในหลอดเลือดและก่อให้เกิดปัญหาตามมา การได้รับยาชนิดนี้เกินขนาดจะทำให้ผู้ป่วยประสบปัญหาเลือดออกง่ายสังเกตได้จาก มีเลือดออกตามเหงือก จมูก ปัสสาวะหรืออุจจาระมีเลือดปน เลือดไหลไม่หยุดเมื่อมีบาดแผล หรือมีจ้ำเขียว/ห้อเลือดปรากฏบนผิวหนัง ทางคลินิกยังนำยานี้มาบำบัดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยมีการอุดกั้นหลอดเลือดและใช้ป้องกันหรือรักษาภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด (Pulmonary embolism)

ด้านการบริหารยา/ใช้ยาแอนิซินไดโอนกับผู้ป่วย แพทย์จะให้ยาครั้งแรกในขนาดที่สูงและลดขนาดยาในวันถัดมาตามลำดับ และมีการตรวจสอบเลือดเพื่อดูกระบวนการแข็งตัวของเลือดควบคู่กันไป และใช้ตัดสินว่าขนาดยาที่ผู้ป่วยได้รับเหมาะสมเพียงใด ผู้ป่วยอาจได้รับยาอยู่ในช่วง 25 - 250 มิลลิกรัม/วันทั้งนี้ขึ้นกับอาการของผู้ป่วยแต่ละบุคคล แพทย์อาจพิจารณาการใช้ยาแอนิซินไดโอน เป็นเวลาหลายวันตามความเหมาะสม โดยที่ยานี้ไม่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้ป่วย หลังได้รับยานี้ร่างกายของผู้ป่วยจะมีกระบวนการรวมตัวของลิ่มเลือดกลับมาเป็นปกติภายใน 24 - 72 ชั่วโมง มีการศึกษาทางคลินิกพบว่ากรณีที่ใช้ยานี้นานมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไปสามารถยับยั้งและป้องกันการกลับมาเป็นใหม่ของภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดอย่างได้ผล

มีเงื่อนไขบางประการซึ่งถือเป็นข้อห้ามและข้อพึงระวังที่ผู้ป่วยควรทราบก่อนที่จะใช้ยาแอนิซินไดโอนตัวอย่างเช่น

  • ห้ามใช้ยาชนิดนี้กับผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายหรือมีอาการป่วยของโรคเลือดต่างๆเช่น ความผิดปกติของเม็ดเลือด ความผิดปกติของเส้นเลือด/หลอดเลือดในจอตา
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่เพิ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ๆหรือบาดแผลจากการผ่าตัดยังไม่หายสนิทเช่น การผ่าตัดสมอง การผ่าตัดตา การผ่าตัดไขสันหลัง การผ่าตัดต่อมลูกหมาก
  • ไม่สมควรใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับโรคไตระยะรุนแรง ผู้ป่วยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ผู้ป่วยด้วยข้ออักเสบหลายข้อ ผู้ป่วยด้วยภาวะถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะภายในร่างกาย (Visceral carcinoma เช่น มะเร็งตับ) รวมถึงผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดโป่งพอง
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ที่มีร่างกายขาดวิตามินซีหรือขาดวิตามินเค
  • สตรีตั้งครรภ์ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่แพทย์จะไม่ใช้ยานี้ด้วยตัวยานี้สามารถซึมผ่านรกและเข้าไป ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ปกติถ้าจำเป็นต้องใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดกับสตรีตั้งครรภ์ แพทย์มักจะเลี่ยงมาใช้ยา Heparin ด้วยยา Heparin ไม่สามารถซึมผ่านเข้ารกได้นั่นเอง
  • หลังจากได้รับยาแอนิซินไดโอนและอาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย ผิวหนังเขียวเป็นจ้ำ/ห้อเลือด มีเลือดออกตามเหงือก ไรฟัน ถ่ายเป็นเลือด ปัสสาวะมีสีคล้ำเหมือนมีเลือดปน ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อาจกล่าวโดยสรุปว่ายาแอนิซินไดโอนสามารถก่อให้เกิดอันตรายได้อย่างมากมายหากใช้ผิดวิธี ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยาแอนิซินไดโอนจะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง

แอนิซินไดโอนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แอนิซินไดโอน

ยาแอนิซินไดโอนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ป้องกันและรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด
  • รักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยมีภาวะหลอดเลือดอุดตัน (Atrial fibrillation with embolization)
  • ป้องกันและรักษาภาวะหลอดเลือดในปอดอุดตัน (Pulmonary embolism)

แอนิซินไดโอนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอนิซินไดโอนคือ ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของสารที่ช่วยเพิ่มการจับตัวของเกล็ดเลือดที่เรียกว่า โปรทรอมบิน (Prothrombin) ทำให้ลดการรวมตัวของลิ่มเลือดภายในหลอดเลือด และเป็นที่มาของสรรพคุณ

แอนิซินไดโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแอนิซินไดโอนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาเม็ดชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัม/เม็ด

แอนิซินไดโอนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแอนิซินไดโอนมีขนาดรับประทานเช่น

  • ผู้ใหญ่: วันแรกรับประทาน 300 มิลลิกรัม/วันตามคำสั่งแพทย์, วันที่สองรับประทาน 200 มิลลิกรัม/วัน, วันที่สามรับประทาน 100 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็ก: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกเรื่องประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของยานี้ในเด็กอย่างชัดเจน การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*อนึ่ง

  • ระยะเวลาของการรับประทานยานี้ให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
  • สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือหลังอาหารก็ได้โดยขึ้นกับคำสั่งแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอนิซินไดโอน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่โดยเฉพาะยาแอสไพรินหรือยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (ยาต้านการแข็งตัวของเลือด) เพราะยาแอนิซินไดโอนอาจส่งผลให้อาการของโรครุนแรงขึ้นหรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแอนิซินไดโอนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาตามขนาดเดิม

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาแอนิซินไดโอนตรงเวลา

แอนิซินไดโอนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแอนิซินไดโอนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พีงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เจ็บคอ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น พบอาการผื่นคัน ลมพิษ ศีรษะล้าน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง, Agranulocytosis (เม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง), Leuko penia (เม็ดลือดขาวต่ำ) หรือ Leukocytosis (เม็ดเลือดขาวสูง) ก็ได้, Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) และ Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil สูง)
  • ผลต่อการทำงานของตับ: เช่น เกิดภาวะตับอักเสบ ดีซ่าน
  • ผลต่อตา: เช่น เกิดอาการตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้แอนิซินไดโอนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้แอนิซินไดโอนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคตับ โรคไต ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินซีหรือขาดวิตามินเค
  • รับประทานยานี้ตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ ไม่รับประทานยานี้นานเกินจากคำสั่งแพทย์
  • หากเกิดภาวะเลือดออกง่ายหรือพบเลือดปนมากับอุจจาระปัสสาวะ ต้องหยุดการใช้ยานี้ทัน ทีแล้วรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • หลีกเลี่ยงการเกิดบาดแผลต่างๆด้วยอาจเกิดภาวะเลือดไหลออกเป็นปริมาณมาก
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลอย่างเคร่งครัด
  • ยานี้อาจทำให้ปัสสาวะมีภาวะเป็นด่างมากขึ้นพร้อมกับเพิ่มการขับออกของกรดยูริคทางปัสสาวะ และอาจทำให้เอนไซม์การทำงานของตับ/ทรานซามิเนส (Transaminase) ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอนิซินไดโอนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แอนิซินไดโอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแอนิซินไดโอนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามรับประทานยาแอนิซินไดโอนร่วมกับการดื่มสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้ฤทธิ์ของยาแอนิซินไดโอนเพิ่มมากขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงต่างๆตามมา
  • การใช้ยาแอนิซินไดโอนร่วมกับยารักษาเบาหวานอย่าง Chlorpropamide อาจทำให้ฤทธิ์ของยาลดน้ำตาลในเลือด/ยาเบาหวานเพิ่มมากขึ้นและนำมาซึ่งภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแอนิซินไดโอนร่วมกับยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ยาลดกรดจะทำให้การตอบสนองต่อยาแอนิซินไดโอนในผู้ป่วยลดน้อยลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแอนิซินไดโอนอย่างไร?

ควรเก็บยาแอนิซินไดโอนในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius) เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แอนิซินไดโอนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแอนิซินไดโอนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
MIRADON (มิราดอน) Schering

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01125 [2016,March26]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Anisindione [2016,March26]
  3. http://www.rxlist.com/miradon-drug/indications-dosage.html [2016,March26]
  4. http://robholland.com/Nursing/Drug_Guide/data/monographframes/A065.html [2016,March26]
  5. http://www.rxlist.com/miradon-drug/side-effects-interactions.html [2016,March26]