แอซาไซทิดีน (Azacitidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 3 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- แอซาไซทิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับแอซาไซทิดีน?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอซาไซทิดีนอย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอซาไซทิดีนอย่างไร?
- แอซาไซทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเคมีบำบัด (Cancer chemotherapy)
- แอนติเมทาโบไลท์ (Antimetabolite)
- โรคเลือดเอ็มดีเอส (MDS: Myelodysplatic syndrome)
- วัคซีนอีสุกอีใส หรือ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส(Varicella Vaccine)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
บทนำ
ยาแอซาไซทิดีน(Azacitidine) หนึ่งในกลุ่มยาเคมีบำบัด(Chemotherapy)ที่มีกลไกการออกฤทธิ์ในลักษณะแอนติเมทาโบไลท์(Antimetabolite) และดีเมทิเลชั่น เอเจนต์ (Demethylation agent) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาโรคเลือดเอ็มดีเอส (MDS: Myelodysplatic syndrome) และโรค Chronic myelomonocytic leukemia (CMML, มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังชนิดหนึ่ง)ซึ่งจัดเป็นโรคมะเร็งในระบบเลือดของมนุษย์
รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแอซาไซทิดีนเป็นยาปราศจากเชื้อ ชนิดผง แบบฉีด สามารถฉีดเข้าใต้ผิวหนัง หรือจะหยดเข้าทางหลอดเลือดก็ได้ และตัวยาจะโดนกำจัดออกนอกร่างกายภายในประมาณ 4 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะต้องมารับการฉีดยาต่อเนื่อง 1 สัปดาห์และหยุดพัก 3 สัปดาห์ จึงเริ่มมารับการให้ยาในรอบถัดไป
ในระหว่างที่ได้รับยาแอซาไซทิดีน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับขนาดการให้ยานี้เพิ่มตามการตอบสนองของร่างกายผู้ป่วย ถ้าไม่พบอุปสรรคใดๆ เช่น เกิดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน แพทย์จะนัดหมายผู้ป่วยมารับการฉีดยา 4–6 รอบ หรือจนกระทั่งมีอาการโรคดีขึ้น
การใช้ยาแอซาไซทิดีน ยังมีข้อควรระวังและคำเตือนต่างๆที่ต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอ เช่น
- เกิดภาวะโลหิตจาง ด้วยยาแอซาไซทิดีนมีฤทธิ์กดการสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดได้ชั่วคราว ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และ/หรือมีเลือดออกง่ายเพิ่มขึ้น
- แอซาไซทิดีนสามารถทำให้เกิดพิษต่อการทำงานของตับและไตได้เหมือนกับยารักษามะเร็ง/ยาเคมีบำบัดหลายตัว แพทย์จำเป็นต้องตรวจการทำงานของตับและไตเป็นระยะๆตลอดการรักษาด้วยยาชนิดนี้
- ระหว่างที่ได้รับยาแอซาไซทิดีน ทั้งสตรีและบุรุษจะต้องป้องกันการตั้งครรภ์ ด้วยตัวยาสามารถสร้างความพิการต่อทารกในครรภ์มารดาได้
ตามกฎหมายยาของไทย จัดให้ตัวยาแอซาไซทิดีนเป็นยาอันตราย และต้องควบคุมดูแลการใช้งานเป็นพิเศษโดยแพทย์ผู้ที่ทำการรักษาเพียงผู้เดียว ในประเทศเราจะพบเห็นการจัดจำหน่ายยาชนิดนี้ภายใต้ชื่อการค้าว่า ‘Vidaza’ และมีการใช้แต่ในสถาน พยาบาลเท่านั้น
แอซาไซทิดีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแอซาไซทิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อใช้รักษาโรคมะเร็งระบบเลือด /มะเร็งระบบโลหิตวิทยา อาทิ
- โรค Myelodysplatic syndrome (MDS)
- โรค Chronic myelomonocytic leukemia (CMML)
แอซาไซทิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอซาไซทิดีน มีกลไกยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ เมทิลทรานสเฟอเรส(Methyltransferase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีความสำคัญต่อเซลล์ต้นกำเนิดของไขกระดูก ที่ใช้ในการผลิตสารพันธุกรรม(DNA) และเม็ดเลือด จากกลไกนี้เอง ทำให้การผลิต เม็ดเลือดที่ผิดปกติถูกจำกัดลง และเป็นผลให้ผู้ป่วยมีอาการทุเลาจากโรคมะเร็งระบบ เลือดตามมา
แอซาไซทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอซาไซทิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาฉีดแบบผงปราศจากเชื้อ ที่ประกอบด้วยตัวยา Azacitidine ขนาด 100 มิลลิกรัม/ขวด
แอซาไซทิดีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยาแอซาไซทิดีนกับผู้ป่วยมะเร็งระบบเลือดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ปัจจัยที่แพทย์นำมาใช้คำนวณขนาดการใช้ยา ได้แก่ พื้นที่ผิวของร่างกายผู้ป่วย รวมถึง อายุ และ ประวัติการเจ็บป่วย หรือโรคประจำตัวต่างๆ อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ได้รับ ยาแอซาไซทิดีน แล้วพบอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว เช่น
- มีอาการคล้ายกับภาวะติดเชื้อ เช่น ไข้สูง 38 องศาเซลเซียส(Celsius)
- คลื่นไส้ทุกครั้งที่มีการรับประทานอาหาร
- อาเจียน 4-5 ครั้งต่อวัน
- ท้องเสีย 4-6 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง
- ไม่มีแรง หรือ อ่อนเพลีย อย่างรุนแรง
- อุจจาระมีสีคล้ำ /อุจจาระเป็นเลือด หรือ มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ ปัสสาวะเป็นเลือด
- บวมตาม เท้า ข้อเท้า หรือ มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
- ท้องผูก และใช้ยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกที่แพทย์สั่งจ่ายมาให้แล้วไม่ได้ผล
- ไอและมีเสมหะมาก
- ปวดขณะปัสสาวะ
- ไม่สามารถรับประทานหรือดื่มน้ำได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือร่างกายมีภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
หมายเหตุ:
- การเตรียมยานี้สำหรับหยดเข้าหลอดเลือด ให้ใช้น้ำกลั่นปราศจากเชื้อ 10 มิลลิลิตร เจือผสมยา 100 มิลลิกรัม เขย่าจนได้สารละลายใส จากนั้นนำไปผสมกับสารละลาย 0.9% Sodium chloride หรือ Lactated ringer’s 50-100 มิลลิลิตร
- กรณีฉีดยานี้เข้าใต้ผิวหนัง ให้เจือจางตัวยา 100 มิลลิกรัมด้วยน้ำกลั่นปราศจาก เชื้อ 4 มิลลิลิตร เขย่าจนเข้ากันดี จะสังเกตเห็นเป็นลักษณะสารแขวนลอยขาวขุ่น
- ห้ามใช้สารละลายที่มีส่วนประกอบของ Dextrose , Glucose หรือ Bicarbonate มาเจือจางตัวยานี้ ด้วยจะทำให้เกิดภาวะตกตะกอน และส่งผลต่อประสิทธิผลของการออกฤทธิ์ของยา
ดูแลตนเองอย่างไรขณะได้รับแอซาไซทิดีน?
การดูแลตนเองขณะได้รับยาแอซาไซทิดีน ที่สำคัญ เช่น
- ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงนุ่มเพื่อช่วยป้องกันการเกิดแผลในปาก
- ดื่มน้ำอย่างน้อย 2-3 ลิตรต่อวัน หรือเป็นไปตามคำแนะนำของ แพทย์ /พยาบาล /เภสัชกร
- ล้างมือบ่อยๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรค โดยเฉพาะก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ
- หากมีอาการคลื่นไส้เมื่อจะรับประทานอาหาร ให้ใช้ยาแก้คลื่นไส้ ตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น ห้ามซื้อยาอื่นใดมาใช้ด้วยตนเอง ผู้ป่วยสามารถปรับการรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้งขึ้นเพื่อลดอาการคลื่นไส้ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่มีผู้คนแออัดเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆ
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬา หรือกิจกรรมหนัก ที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บ หรือเกิด เป็นแผลเลือดออก
- ยาแอซาไซทิดีน สามารถทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด/ผื่นแพ้แสง ดังนั้นเมื่อต้องอยู่ในที่โล่งแจ้ง ควรสวมเสื้อผ้าป้องกันแสงแดดให้มิดชิด หรือทาผิวด้วยครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 หรือสูงกว่า
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ
- พักผ่อนให้เต็มที่ และรับประทานอาหารให้ถูกสัดส่วนตามที่ แพทย์/พยาบาล แนะนำ
- ห้ามซื้อยาอื่นใดมารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อน
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิด รวมยาแอซาไซทิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต มีภาวะเลือดออกง่าย รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอซาไซทิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?
เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรมารับการให้ยาแอซาไซทิดีนตรงตามเวลาที่แพทย์นัดหมาย หากลืมมารับการฉีดยา ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบและทำการนัดหมายการให้ยาครั้งต่อไปโดยเร็ว
แอซาไซทิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอซาไซทิดีน เป็นยาเคมีบำบัดที่มีกลไกรบกวนกระบวนการเมทิเลชั่นของดีเอนเอ (DNA methylation) และเป็นเหตุผลให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่างๆ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ หายใจขัด เลือดออกในจมูก/เลือดกำเดา
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เกิดแผลในปาก คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก
- ผลต่อหัวใจ: เช่น เจ็บหน้าอก ความดันโลหิตสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผมร่วง มีผื่นคัน เจ็บบริเวณที่ฉีดยา
- ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: เช่น มีภาวะ/โรคติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบน ปอดบวม
- ผลต่อไต: เช่น ปัสสาวะมีเลือดปน /ปัสสาวะเป็นเลือด
- ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล ซึม นอนไม่หลับ
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลด
- ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น โพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น กดไขกระดูก โลหิตจาง เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาว ชนิดนิวโทรฟิล/Neutrophilต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อตา: เช่น มีเลือดออกในตา เช่น เลือดออกใต้เยื่อตา
*อนึ่ง อาการข้างเคียงดังกล่าว อาจเกิดขึ้นหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายแต่ละบุคคล
มีข้อควรระวังการใช้แอซาไซทิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอซาไซทิดีน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีประวัติหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ผู้ป่วยโรคปอด โรคตับ โรคไต
- หากพบอาการ อึดอัด/ หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว ให้ตั้งสมมุติฐานว่าเกิดอาการแพ้ยานี้ และต้องรีบให้แพทย์ช่วยเหลือโดยเร็ว/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด
- มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อ การตรวจร่างกาย ตรวจภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และรับการฉีดยาตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่งทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแอซาไซทิดีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่องข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอซาไซทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอซาไซทิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยาแอซาไซทิดีน ร่วมกับ ยา Adalimumab เพราะเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคต่างๆได้ง่ายขึ้น
- ห้ามใช้ยาแอซาไซทิดีน ร่วมกับ ยา Clozapine เพราะทำให้เกิดภาวะกดไขกระดูกมากขึ้น จนเป็นเหตุให้มีระดับเม็ดเลือดชนิดต่างๆต่ำลงจนเกิดอันตราย
- ห้ามใช้ยาแอซาไซทิดีน ร่วมกับ วัคซีนอีสุกอีใส (Varicella vaccine) ด้วยจะเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโรคอีสุกอีใสตามมา
- ห้ามใช้ยาแอซาไซทิดีน ร่วมกับ ยา Thalidomide ด้วยเสี่ยงต่อภาวะเลือดจับตัวและตกตะกอนตามมา
ควรเก็บรักษาแอซาไซทิดีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษาแอซาไซทิดีน เช่น
- เก็บยาภายใต้อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาที่หมดอายุแล้ว
- ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ
แอซาไซทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
แอซาไซทิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
VIDAZA (วิดาซา) | Ben Venue Laboratories, Inc. |
บรรณานุกรม
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2008/050794s011lbl.pdf [2019,March16]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/azacitidine/?type=brief&mtype=generic [2019,March16]
- http://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/azacitidine.aspx [2019,March16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Azacitidine [2019,March16]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/azacitidine-index.html?filter=3 [2019,March16]