มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา (Angiosarcoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ทั่วไปและชนิดของแองจิโอซาร์โคมา

แองจิโอซาร์โคมา(Angiosarcoma ย่อว่า AS) เป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน โดยเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุภายในผนังหลอดเลือด หรือผนังหลอดน้ำเหลืองที่เรียกว่า Endothelium (ซึ่งจะเกิดกับหลอดเลือด/หลอดน้ำเหลืองในตำแหน่งใด หรือของอวัยวะใดก็ได้ทั่วร่างกาย) เกิดเจริญเติบโต แบ่งตัวผิดปกติอย่างรวดเร็ว โดยที่ร่างกายควบคุมเซลล์เหล่านี้ไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเป็นก้อนเนื้อมะเร็ง/แผลมะเร็ง ที่จะรุกราน/ลุกลามทำลายอวัยวะที่เกิดโรคจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และยังจะลุกลามเข้าทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะข้างเคียงอวัยวะที่เกิดโรค ต่อมน้ำเหลืองใกล้อวัยวะที่เกิดโรค และในที่สุด รุกรานแพร่กระจายเข้าสู่ระบบน้ำเหลืองไปทำลายต่อมน้ำเหลืองได้ทั่วร่างกาย และ/หรือ รุกรานเข้ากระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกาย ที่พบบ่อยคือ ไปสู่ปอด

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา มีหลายชนิดย่อย ที่พบบ่อย ได้แก่

  • Hemangiosarcoma เป็นมะเร็งชนิดเกิดจากผนังหลอดเลือด มักพบเกิดที่ผิวหนัง และ/หรือในอวัยวะที่อยู่ตื้นๆ เช่น ที่เต้านม ขา หรือลำตัว
  • Hemangioendothelioma เป็นมะเร็งที่เกิดจากผนังหลอดเลือด แต่มักพบได้ที่ผิวหนัง หรือ อวัยวะภายในร่างกายที่อยู่ลึกๆ เช่น ปอด หัวใจ ตับ กระดูก
  • Lymphangiosarcoma เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์ผนังหลอดน้ำเหลือง มักเกิดในอวัยวะส่วนไหนของร่างกายก็ได้ที่มีการคั่งเรื้อรังของระบบน้ำเหลือง เช่น แขนบวมเรื้อรังในโรคมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดและ/หรือรังสีรักษา หรือขาบวมเรื้อรังจากมีการอักเสบเรื้อรังของเนื้อเยื่อขา เป็นต้น

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา เป็นมะเร็งพบน้อยมาก ประมาณ 1-2% ของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน (มะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนทั่วโลกพบได้ประมาณ 1.8-5 ราย ต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนประเทศไทยพบได้ 1-1.2รายต่อประชากร 1แสนคน)

โดยแองจิโอซาร์โคมาเป็นมะเร็งพบทุกอายุ แต่พบน้อยมากๆในเด็ก พบได้สูงในผู้สูงอายุ พบในชายบ่อยกว่าในหญิงประมาณ 2 เท่า ทั้งนี้มะเร็งแองจิโอมามักพบเกิดที่ หนังศีรษะ เต้านม อวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ และบริเวณ แขน ขา

ประเทศไทย ยังไม่มีการรายงานสถิติเฉพาะของแองจิโอซาร์โคมา แต่รายงานรวมอยู่ในกลุ่มมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งในปีพ.ศ. 2558 มีรายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เป็นผู้ป่วยช่วงปี พ.ศ. 2553-2555 โดย ชายไทยพบมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนได้ 1.2รายต่อประชากรชายไทย 1 แสนคน และหญิงไทยพบ 1 รายต่อประชากรหญิง1แสนคน

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมาเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา

ปัจจุบัน ยังไม่พบสาเหตุที่แน่นอน ที่ชัดเจน ของการเกิดมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา แต่พบปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • บริเวณที่มีการบวมเรื้อรัง เช่น ภาวะแขนบวมในโรคมะเร็งเต้านมหลังการผ่าตัดและ/หรือรังสีรักษา หรือขาบวมจากมีการอักเสบเรื้อรังของระบบน้ำเหลืองของขา
  • ในเนื้อเยื่อที่มีสิ่งแปลกปลอมฝังติดอยู่ เช่น กระสุนปืน
  • ผู้ที่ได้รับสารพิษเรื้อรังจากสิ่งแวดล้อม อาจจากการบริโภค การสัมผัส และ/หรือการสูดดม เช่น สารหนู หรือสารไวนีล(Vinyl chloride)ในอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น
  • เนื้อเยื่อ/อวัยวะที่ได้รับรังสีปริมาณสูง เช่น จากรังสีรักษา

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมามีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา โดยอาการจะเช่นเดียวกับอาการของโรคมะเร็งชนิดต่างๆที่รวมถึงมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่ง

  • อาการพบบ่อย คือ
    • การมีก้อนเนื้อผิดปกติที่โตเร็ว
    • และอาจพบได้หลายก้อนในอวัยวะเดียวกัน หรือในหลายอวัยวะพร้อมๆกัน
  • อาจมีแผลแตกเรื้อรังจากก้อนเนื้อ ที่มีเลือดออกได้ง่ายแต่หยุดยาก
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียงกับก้อนมะเร็ง โต คลำได้ และ
  • อาจมีอาการเจ็บ ปวด ที่ตัวก้อนมะเร็ง

นอกจากนั้น อาการของโรคนี้ ยังขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค ซึ่งจะเป็นอาการผิดปกติลักษณะเฉพาะของแต่ละอวัยวะที่เกิดโรค เช่น

  • อาการไอเรื้อรัง เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก เมื่อโรคเกิดในปอด
  • กระดูกหัก เมื่อโรคเกิดในกระดูก หรือ
  • เมื่อเกิดในอวัยวะที่มีการบวม จะพบว่า อวัยวะนั้นจะบวมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจมีลักษณะของการอักเสบร่วมด้วย เช่น แดง ร้อน แต่ไม่มีไข้

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน คือจาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจคลำก้อนเนื้อและต่อมน้ำเหลืองต่างๆตามร่างกายผู้ป่วย
  • การตรวจภาพเนื้อเยื่อ /อวัยวะที่เกิดโรคด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
  • แต่การวินิจฉัยโรคที่แน่นอนจะได้จากการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาด้วยเทคนิคชั้นสูง คือ เทคนิคImmunohistochemistry
  • นอกจากนั้น คือ การตรวจสืบค้นเพิ่มเติม เพื่อประเมินระยะโรค และสุขภาพผู้ป่วย เช่น
    • การตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของ ไขกระดูก ตับ และของไต
    • การตรวจภาพปอดและหัวใจด้วยเอกซเรย์ธรรมดาเพื่อดูโรคของปอด หัวใจ และการแพร่กระจายของโรคมะเร็งฯสู่ปอด
    • และการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ตามอาการของผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจสะแกนกระดูกเพื่อดูโรคแพร่กระจายเข้ากระดูก เมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดหลัง หรือปวดกระดูกส่วนต่างๆมาก เป็นต้น

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมามีกี่ระยะ?

ปัจจุบัน ยังไม่มีการแบ่งระยะโรคเฉพาะของมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา อนุโลมใช้เช่นเดียวกับ โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน

โรคมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน รวม แองจิโอซาร์โคมา แบ่งเป็น 4 ระยะเช่นเดียวกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ และในบางระยะอาจแบ่งย่อยได้อีกซึ่งแพทย์โรคมะเร็งใช้เพื่อช่วยเลือกวิธีรักษา ช่วยบอกการพยากรณ์โรค และเพื่อการศึกษา

แต่ที่แตกต่างกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ คือ ระยะโรคของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อน/มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา ยังขึ้นกับ

  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Cell grading ย่อว่า G) ว่าเป็นเซลล์มะเร็งชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1) หรือ ชนิดแบ่งตัวสูง(G2,G3 ความรุนแรงโรคสูงขึ้นตาม G ที่สูงขึ้น)
  • และยังขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น แขน ขา เต้านม หัวใจ ปอด ตับ

โดยในบทความนี้ขอยกตัวอย่างระยะโรคเฉพาะของตำแหน่งโรคที่ แขน ขา และ ลำตัว ซึ่งทั้ง 4 ระยะโรคได้แก่

  • ระยะที 1 โรคจำกัดอยู่เฉพาะอวัยวะต้นกำเนิด แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ1A: ก้อนมะเร็งโตไม่เกิน 5 ซม. เซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวต่ำ(G1)
    • ระยะ1B: ก้อนมะเร็งโตกว่า 5ซม.แต่ไม่เกิน10ซม. และเซลล์มะเร็งยังเป็น G1
  • ระยะที่ 2: ก้อนมะเร็งขนาดไม่เกิน 5 ซม. และเซลล์มะเร็งเป็น G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 3: แบ่งย่อยเป็น
    • ระยะ3A: ก้อนมะเร็งโตเกิน5ซม. แต่ไม่เกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค และเซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
    • ระยะ3B: ก้อนมะเร็งโตเกิน10ซม. ยังจำกัดอยู่เฉพาะในอวัยวะที่เกิดโรค แต่เซลล์มะเร็งเป็นชนิด G2,หรือ G3
  • ระยะที่ 4 โรคมะเร็งแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว, และ/หรือแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) เข้าสู่อวัยวะต่างๆที่อยู่ไกลออกไป ซึ่งเมื่อแพร่กระจาย มักแพร่กระจายเข้าสู่ปอด

*ทั้งนี้ มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา มีความรุนแรงโรคสูงเสมอไม่ว่าเป็นชนิดที่เซลล์มีการแบ่งตัวต่ำหรือมีการแบ่งตัวสูง

อนึ่ง บ่อยครั้ง แพทย์แบ่งมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา เป็นระยะง่ายๆตามลักษณะทางคลินิกของโรค คือ

  • ระยะที่ผ่าตัดได้
  • ระยะที่ผ่าตัดไม่ได้
  • ระยะที่โรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองแล้ว และ
  • ระยะที่โรคแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ซึ่งจะจัดเป็น โรคระยะที่4

รักษามะเร็งแองจิโอซาร์โคมาอย่างไร?

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมา มีธรรมชาติของโรคที่รุนแรง ลุกลามเข้าอวัยวะข้างเคียงได้สูง นอกจากนั้นโรคยังสามารถเกิดได้พร้อมๆกันในหลายๆตำแหน่ง และในหลายอวัยวะ มีการแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองได้สูง และมีการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตไปทำลายอวัยวะต่างๆได้สูง และรวดเร็ว โดยเฉพาะการแพร่กระจายสู่ปอด ดังนั้น การรักษาจึงมักใช้หลายวิธีการร่วมกัน คือ ทั้งการผ่าตัด รังสีรักษา และยาเคมีบำบัด ส่วนยารักษาตรงเป้า /ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง ยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

มีผลข้างเคียงจากการรักษาอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษามะเร็งแองจิโอซาร์โคมา ขึ้นกับวิธีรักษา ได้แก่

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียเนื้อเยื่อ การเสียเลือด มีเลือดออกจากแผลผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: เช่น ผลข้างเคียงต่อผิวหนัง และต่ออวัยวะต่างๆที่ได้รับการฉายรังสี(แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนัง และผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา)
  • ยาเคมีบำบัด: เช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ / หรือรังสีรักษา: การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
  • ยารักษาตรงเป้า: เช่น การเกิดสิวขึ้นทั่วตัวรวมทั้งใบหน้า และยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดภาวะเลือดออกได้ง่าย แผลติดยากเมื่อเกิดบาดแผล และอาจเป็นสาเหตุให้ลำไส้ทะลุได้

อนึ่ง ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด ที่รวมถึงมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา จะสูงและรุนแรงขึ้นเมื่อ

  • ใช้หลายวิธีรักษาร่วมกัน
  • มีโรคเรื้อรังประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง
  • สูบบุหรี่
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ
  • ในผู้สูงอายุ

มะเร็งแองจิโอซาร์โคมารุนแรงไหม?

การพยากรณ์โรค(ความรุนแรง)ของมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา คือ เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูงมาก ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาฯ’

  • โดยเป็นโรคที่มีการย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูงมากหลังผ่าตัดในทุกระยะของโรค ประมาณ70-80%ของผู้ป่วย และโรคมักกลับเป็นซ้ำภายในระยะเวลาประมาณ 6 เดือนหลังครบการรักษา
  • ทั้งนี้ยังรวมถึงมีการแพร่กระจายทางกระแสโลหิต(ระยะที่4)ที่สูงมากเช่นกัน โดยพบโรคระยะที่4นี้ได้ประมาณ 30-40%ของผู้ป่วยตั้งแต่แรกวินิจฉัยมะเร็งแองจิโอซาโคมา
  • อัตรารอดที่ห้าปี ในผู้ป่วยระยะโรคที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย ประมาณ 0-30%
  • โดยทั่วไป
    • ผู้ป่วยโรคนี้ มักมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 1-1.5ปี
    • แต่ถ้ามีโรคย้อนกลับเป็นซ้ำ หรือเป็นโรคในระยะที่ 4 ผู้ป่วยมักเสียชีวิตภายใน 6-9 เดือน

มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดังนั้นที่ดีที่สุด คือ

  • การสังเกตตนเอง เมื่อพบมีก้อนเนื้อผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาแต่เนิ่นๆ

ป้องกันมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาอย่างไร?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันมะเร็งแองจิโอซาร์โคมา เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุ แต่การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง(ที่หลีกเลี่ยงได้)ที่ได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’ อาจช่วยลดโอกาสเกิดโรคลงได้บ้าง

ดูแลตนเองอย่างไร? ดูแลผู้ป่วยมะเร็งอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็งและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิดจะคล้ายๆ กัน ปรับใช้ด้วยกันได้ รวมถึงมะเร็งแองจิโอซาร์โคมาด้วย ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ก้อนมะเร็งโตขึ้น หรือเลือดออกจากแผลมะเร็งมากขึ้น
    • มีอาการที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น คลำพบต่อมน้ำเหลืองโต
    • มีไข้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดร่วมกับอาการท้องเสีย
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกมากเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก ขึ้นผื่น
    • กังวลในอาการ

นอกจากนั้น แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในการดูแลตนเอง/การดูแลผู้ป่วยมะเร็งในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง และ เรื่อง
  • การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

บรรณานุกรม

  1. Buehler, D. Am J Clin Oncol. 2014; 37(5): 473–479
  2. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  3. Imsamran, W. et al. (2015). Cancer in Thailand vol Viii, 2010-2012, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  4. https://www.dermnetnz.org/topics/angiosarcoma/ [2018,Dec22]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/276512-overview#showall [2018,Dec22]
  6. https://www.cancer.org/cancer/soft-tissue-sarcoma/detection-diagnosis-staging/staging.html [2018,Dec22]