แอคไคโนแคนดิน (Echinocandin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 10 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอคไคโนแคนดินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอคไคโนแคนดินอย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอคไคโนแคนดินอย่างไร?
- แอคไคโนแคนดินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal candidiasis)
- เชื้อราช่องปาก (Oral thrush หรือ Oropharyngeal candidiasis)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
บทนำ
ยาแอคไคโนแคนดิน (Echinocandin) หรืออีกชื่อคือ Penicillin of antifungals เป็นกลุ่มยา ที่นำมาใช้ต่อต้านเชื้อราประเภทยีสต์ (Yeast, เชื้อราชนิดที่เป็นเซลล์เดียว) อาทิเช่น เชื้อแคนดิดา (Candida) และประเภทโมลด์ (Mold, เชื้อราชนิดที่เป็นหลายเซลล์) อย่างเชื้อแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) โดยมักนำมาใช้ร่วมกับยา Amphotericin B และ Fluconazole กลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นหลักของยาในกลุ่มนี้คือ ยับยั้งการสร้างสารกลูแคน (Glucan, สารน้ำตาลชนิดหนึ่ง) ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของผนังเซลล์ในตัวเชื้อรา
ตัวยาหลายตัวในกลุ่มยาแอคไคโนแคนดินมีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ค่อนข้างต่ำ นักวิทยาศาสตร์จึงต้องออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปของยาฉีด ยาแอคไคโนแคนดินจัดเป็นยาที่มีสูตรโครงสร้างโมเลกุลที่ค่อนข้างใหญ่จึงเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ยานี้ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่น้ำไขสันหลังและเข้าสู่ตาได้
เมื่อยาแอคไคโนแคนดินเข้าสู่กระแสเลือด จะเกิดการจับกับพลาสมาโปรตีนและมีระยะเวลาอยู่ในร่างกายแตกต่างกันตามชนิดย่อยของแต่ละตัวยาก่อนที่จะถูกกำจัดออกไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เท่าที่พบเห็นจากยาแอคไคโนแคนดินคือ ทำให้มีเอนไซม์ 2 ตัวในเลือดเพิ่มมากขึ้นหลังจากได้รับยาในกลุ่มนี้คือ อะมิโนทรานสเฟอเรส (Aminotransferases, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของกรดอะมิโน) และอัลคาไลน์ฟอสฟาเทส (Alkaline phospha tase, เอนไซม์การทำงานของตับ)
อาจจำแนกตัวอย่างของยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดินออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้
ก. Caspofungin: ชื่อที่รู้จักในทางการค้าว่า Cancidas นำมาใช้ต่อต้านเชื้อราทั้งชนิดแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และชนิดแคนดิดา (Candida) มีรูปแบบเป็นยาฉีด สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 9 - 11 ชั่วโมงก่อนที่จะถูกขจัดออกจากร่างกาย ข้อควรระวังของการใช้ยานี้คือ ผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ต่อตับของผู้ป่วย และต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษหากจะใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ยา Caspofungin สามารถเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาชนิดอื่นได้เช่น Cyclosporin, Tacrolimus, Carbamazepine, Phenytoin, Rifampin, Dexamethasone ยานี้มีจำหน่ายในประเทศไทยถูกกำหนดให้เป็นยาควบคุมพิเศษและมีใช้แต่ในสถานพยาบาล
ข. Anidulafungin: รู้จักกันในชื่อการค้าว่า Eraxis ใช้รักษาการติดเชื้อแคนดิดาที่บริเวณหลอด อาหารรวมถึงการติดเชื้อรากลุ่มแอสเปอร์จิลลัสในระยะลุกลาม มีรูปแบบเป็นยาฉีด สามารถอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 27 ชั่วโมง มีจำหน่ายในประเทศไทยโดยถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย
ค. Micafungin: ชื่อการค้าที่รู้จักกันคือ Mycamine ใช้เป็นยารักษาและป้องกันการติดเชื้อราชนิด แคนดิดา มีรูปแบบเป็นยาฉีด ตัวยาอยู่ในกระแสเลือดได้นานประมาณ 14 - 17.2 ชั่วโมง มีจำหน่ายในประเทศไทยเช่นกันและถูกจัดอยู่ในประเภทยาอันตราย
ง. Cilofungin: ถูกเพิกถอนจากการทดลองใช้ทางคลินิกด้วยพบว่าตัวทำละลายในสูตรตำรับยานี้ก่อให้เกิดพิษกับสิ่งมีชีวิต
จ. Echinocandin B: ถูกยกเลิกการใช้ทางคลินิกด้วยก่อให้เกิดความเสี่ยงทำให้เม็ดเลือดแดง แตก
ทั้งนี้ข้อจำกัดของการใช้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดินนอกจากจะเป็นเรื่องการแพ้ยาแล้วยังมีเรื่องภาวะตั้งครรภ์ อยู่ในภาวะให้นมบุตร โรคประจำตัว อายุ รวมถึงอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละคนแตกต่างกันออกไป การใช้ยานี้จึงต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ซึ่งการใช้ยานี้จะต้องอาศัยความต่อเนื่องคือ ผู้ป่วยต้องได้รับยานี้จนครบคอร์ส (Course) ของการรักษา
อนึ่งตัวยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดินไม่สามารถนำมาใช้ต่อต้านการติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียได้ด้วยไม่มีฤทธิ์ที่ฆ่าเชื้อไวรัสหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย
หากมีข้อซักถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาแอคไคโนแคนดิน ผู้ป่วย/ผู้บริโภคสามารถสอบถามได้ จากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรที่ประจำในสถานพยาบาล
แอคไคโนแคนดินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอคไคโนแคนดินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาและป้องกันการติดเชื้อราชนิดแคนดิดา
- รักษาการติดเชื้อราชนิดแอสเปอร์จิลลัสในระยะลุกลาม
แอคไคโนแคนดินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแอคไคโนแคนดินคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซึ่งมีอยู่ในเชื้อราที่มีชื่อเรียกว่า 1,3-เบต้า-ดี-กลูแคน ซินเทส (1,3-beta-D-glucan synthase) ส่งผลให้เชื้อราไม่สามารถสร้างผนังเซลล์ได้ทำให้เซลล์ของเชื้อราแตกออกและตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
แอคไคโนแคนดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอคไคโนแคนดินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดโดยการหยดเข้าหลอดเลือดดำ
แอคไคโนแคนดินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
การใช้ยากลุ่มแอคไคโนแคนดินกับผู้ป่วยจะขึ้นอยู่กับมาตรฐานของการบริหารยา/ใช้ยาแต่ละตัวยาร่วมกับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาอาจใช้ยาแอคไคโนแคนดินร่วมกับยาต้านเชื้อรากลุ่มอื่นเช่น Amphotericin B, Fluconazole และ Voriconazole
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอคไคโนแคนดิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หาย ใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแอคไคโนแคนดินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แอคไคโนแคนดินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยากลุ่มแอคไคโนแคนดินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสียหรือท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อาจพบอาการ ตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง Neutropenia (เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ) Pancytopenia (เม็ดเลือดทุกชนิดต่ำ) Leukopenia (เม็ดเลือดขาวทุกชนิดต่ำ) เกล็ดเลือดเพิ่มขึ้นหรือลดต่ำ รวมถึงภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน เลือดออกในกะโหลกศีรษะ และ มีภาวะชัก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล รู้สึกสับสน ซึมเศร้า
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดดำอักเสบ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจเต้นช้า อาจเกิดภาวะช็อกขึ้นได้
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ อาจมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อตับ: เช่น ระดับเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดเพิ่มขึ้นเช่น Alkaline phosphatase และ Aspartate aminotransferase เซลล์ตับถูกทำลาย/ตับอักเสบ มีภาวะตับโต ตัวเหลือง ตับวาย สารบิลิรูบินในเลือดเพิ่มสูง
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรืออาจเพิ่มสูงขึ้น ระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดสูงหรือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ระดับเกลือฟอสเฟตและเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดต่ำลง เบื่ออาหาร ตัวบวม และเอนไซม์ครีเอตินิน ฟอสโฟไคเนส (Creatinine phosphokinase, เอนไซม์เกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ) ในเลือดเพิ่มมากขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น ทำให้ไตเสียหาย/ไตอักเสบ ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด มีเลือดปนมากับปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ไตวายเฉียบพลัน ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ ปอดบวม เกิดภาวะหยุดหายใจ หลอดลมหดเกร็ง ตัว/หายใจลำบาก ตัวเขียวคล้ำด้วยขาดออกซิเจน
มีข้อควรระวังการใช้แอคไคโนแคนดินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอคไคโนแคนดินเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ระหว่างการให้ยานี้แล้วพบว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องหยุดการให้ยานี้ทันทีพร้อมกับรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันทีเพื่อทำการรักษา
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับโรคไตด้วยตัวยาในกลุ่มนี้สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะดังกล่าวได้
- หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงเมื่อใช้ยานี้เช่น ตัวเหลือง ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด ไตวาย ตัวเขียวคล้ำ ต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็ว
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์พยาบาลอย่างเคร่งครัดและต้องมารับการให้ยาจนครบคอร์สการรักษาถึงแม้อาการจะดีขึ้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มแอคไคโนแคนดินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอคไคโนแคนดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอคไคโนแคนดินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยา Micafungin ร่วมกับยา Amphotericin B อาจทำให้ระดับของยา Amphotericin B ในกระแสเลือดมีมากขึ้นจนส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ เกิดภาวะชัก สูญเสียการได้ยิน/หูดับ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Caspofungin ร่วมกับยา Dexamethasone อาจเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพของยา Caspofungin ลดน้อยลง หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
ควรเก็บรักษาแอคไคโนแคนดินอย่างไร?
ควรเก็บยาแอคไคโนแคนดินตามเงื่อนไขที่ระบุอยู่ในเอกสารกำกับยา เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แอคไคโนแคนดินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอคไคโนแคนดินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cancidas (แคนซิดาส) | MSD |
Eraxis (อีราซิส) | Pfizer |
Mycamine (มายคามีน) | Astellas Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Echinocandin#Mechanism_of_action [2016,April23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Caspofungin [2016,April23]
- http://www.mims.com/india/drug/info/caspofungin/?type=full&mtype=generic#Dosage [2016,April23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Anidulafungin [2016,April23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/eraxis/?type=brief [2016,April23]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/mycamine/?type=brief [2016,April23]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Micafungin [2016,April23]
- http://www.uptodate.com/contents/pharmacology-of-echinocandins [2016,April23]
- http://www.drugs.com/sfx/eraxis-side-effects.html [2016,April23]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/caspofungin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,April23]