แอคไคลดิเนียม (Aclidinium)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 5 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แอคไคลดิเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แอคไคลดิเนียมอย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแอคไคลดิเนียมอย่างไร?
- แอคไคลดิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Muscarinic antagonists
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคซีโอพีดี (COPD, Chronic obstructive pulmonary disease)
- โรคปอด (Lung disease)
- ยาพ่นปาก (Mouth spray or Oral spray)
- ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator)
- โอปิออยด์ (Opioid)
บทนำ
ยาแอคไคลดิเนียม (Aclidinium หรือ Aclidinium bromide) เป็นยาในกลุ่มมัสคารินิก แอนตา โกนิสต์ (Muscarinic antagonists) ถูกขึ้นทะเบียนรับรองการใช้ทางคลินิกเมื่อปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555) โดยนำมาเป็นยาบำบัดอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) มีลักษณะเป็นผงยาแห้งที่ละเอียด และใช้สูดพ่นเข้าทางปาก (ยาพ่นทางปาก)
ยาแอคไคลดิเนียมเป็นยาที่ออกฤทธิ์ได้นาน หลังการสูดพ่นเพียงประมาณ 10 นาทีตัวยาจะแทรกซึมผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและมีระดับความเข้มข้นสูงสุด ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 5 - 8 ชั่วโมงเพื่อทำลายและกำจัดยานี้ทิ้งไปกับปัสสาวะ
ขณะที่ยาแอคไคลดิเนียมออกฤทธิ์จะส่งผลให้หลอดลมของผู้ป่วยคลายตัวและลดอาการหดเกร็งส่งผลทำให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกขึ้น โดยทั่วไปผู้ป่วยต้องพ่นยาวันละ 2 ครั้งก็เพียงพอต่อการรักษาแล้ว
หลังพ่นยาแอคไคลดิเนียมอาจพบอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้บ้างอย่างเช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ คัดจมูก และอ่อนเพลีย เป็นต้น
ยาแอคไคลดิเนียมเหมาะที่จะใช้กับผู้ใหญ่เท่านั้น ทางคลินิกยังมิได้ระบุขนาดการใช้ยาในเด็ก และแพทย์จะไม่ใช้ยาแอคไคลดิเนียมกับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยานี้รวมถึงสตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
การใช้ยาแอคไคลดิเนียมกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวบางประเภทอย่างเช่น โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีอาการปัสสาวะขัด ก็อาจทำให้มีอาการกำเริบของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น
ยาแอคไคลดิเนียมไม่ใช่ยาสำหรับช่วยชีวิต จึงไม่เหมาะที่จะใช้บรรเทาอาการขณะที่ผู้ป่วยกำลังมีอาการหอบหรือเกิดปัญหาของการหายใจแบบเฉียบพลัน (เช่น หายใจลำบากเฉียบพลัน) ปกติแพทย์มักจะให้ยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็วไว้ร่วมด้วยเพื่อผู้ป่วยจะได้ใช้ขณะมีอาการฉุกเฉินคือเมื่อมีอาการทางเดินหายใจอุดกั้นอย่างเฉียบพลัน
อย่างไรก็ตามระหว่างการใช้ยาแอคไคลดิเนียม ถ้าหากอาการผู้ป่วยไม่ดีขึ้นหรือทรุดลงมากกว่าเดิม ควรต้องรีบนำตัวผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
ในประเทศไทยยาแอคไคลดิเนียมยังถือว่าเป็นยาใหม่และพบเห็นการใช้น้อย อาจต้องรอเวลาอีกสักระยะหนึ่งจึงจะเป็นที่แพร่หลาย การใช้ยาสำหรับรักษาโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังไม่ว่าจะเป็นรายการยาใดๆก็ตามจะต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
แอคไคลดิเนียมมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD)
แอคไคลดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ที่อยู่บริเวณผนังกล้ามเนื้อเรียบของหลอดลมที่มีชื่อเรียกว่า Muscarinic (M3) receptors ทำให้หลอดลมคลายตัวจึงช่วยเปิดช่องทางให้อากาศไหลเข้าสู่หลอดลม/ปอดได้สะดวกขึ้น
แอคไคลดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาพ่นทางปากขนาดความแรง 400 ไมโครกรัมต่อการพ่นยา 1 ครั้ง
แอคไคลดิเนียมมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น
- ผู้ใหญ่: พ่นยาขนาด 400 ไมโครกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็ก: ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็ก
*อนึ่ง: ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคไตให้ใช้ยาขนาดเดียวกันกับผู้ใหญ่
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแอคไคลดิเนียม ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแอคไคลดิเนียมอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมพ่นยาควรทำอย่างไร?
หากลืมพ่นยาแอคไคลดิเนียมสามารถสูดพ่นเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไปไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แอคไคลดิเนียมมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน คลื่นไส้ รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปากแห้ง กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ทางเดินหายใจอักเสบ ไอ ไซนัสอักเสบ และเยื่อจมูกอักเสบ
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หยุดหายใจ ชีพจรเต้นผิดปกติ หัวใจเต้นเร็ว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบผด ผื่นคัน
- ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ: เช่น มีอาการปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น อาจพบน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น เกิดภาวะกระดูกอักเสบ
- ผลต่อการมองเห็น: เช่น มีอาการตาพร่า
มีข้อควรระวังการใช้แอคไคลดิเนียมอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแอคไคลดิเนียมเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
- ห้ามปรับขนาดการพ่นยาหรือหยุดการใช้ยานี้โดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ยานี้ไม่สามารถบรรเทาอาการหดเกร็งของหลอดลมอย่างเฉียบพลันและห้ามใช้เป็นยาช่วย ชีวิต
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีภาวะปัสสาวะขัด
- ขณะสูดพ่นต้องระวังมิให้ยานี้เข้าตา
- แจ้งแพทย์ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอื่นใดอยู่ก่อนเพื่อหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาระหว่างยาเหล่านั้นกับยาแอคไคลดิเนียม
- หากใช้ยานี้แล้วอาการป่วยยังไม่ดีขึ้นหรือทรุดหนักลง ต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษาโดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
- เรียนรู้วิธีใช้ยานี้อย่างถูกต้องตามคู่มือ เอกสารกำกับยา หรือตามคำแนะนำจากแพทย์/เภสัชกร/พยาบาล
- ระหว่างใช้ยานี้ต้องปฏิบัติตัวตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแอคไคลดิเนียมด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แอคไคลดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแอคไคลดิเนียมมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอคไคลดิเนียมร่วมกับยา Atropine, Diphenhydramine, Chlorphe niramine, Triprolidine ด้วยจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียงบางอย่างเพิ่มขึ้นอย่างเช่น ง่วงนอน ตาพร่า ปากแห้ง ร่างกายทนความร้อนได้ดีไม่เท่าเดิม เหงื่อออกน้อย ปัสสาวะขัด ท้องเป็นตะคริว ท้องผูก หัวใจเต้นเร็ว รู้สึกสับสน และมีภาวะต้อหินเกิดขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอคไคลดิเนียมร่วมกับยา Anticholinergic agent ด้วยจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงประเภท Anticholinergic effect ตามมาเช่น ปากแห้ง ท้องผูก สับสน วิงเวียน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแอคไคลดิเนียมร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) ด้วยเสี่ยงกับการเกิดภาวะท้องผูกและปัสสาวะขัด
ควรเก็บรักษาแอคไคลดิเนียมอย่างไร?
เนื่องจากยาแอคไคลดิเนียมเป็นยาผงจึงต้องคอยระวังมิให้ตัวยาเปียกชื้นจนเป็นผลให้สูญเสียระบบการสูดพ่นของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นควรเก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และหลังการใช้ยานี้ให้ปิดฝาครอบอย่างมิดชิด เก็บยาให้พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แอคไคลดิเนียมมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแอคไคลดิเนียมที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Tudorza (ทูดอร์ซา) | Forest Laboratories |
อนึ่งยาแอคไคลดิเนียมที่จำหน่ายในประเทศตะวันตกมียาชื่อการค้าเช่น Tudorza Pressair, Eklira Genuair, Bretaris Genuair
บรรณานุกรม
- http://www.drugs.com/cdi/aclidinium-powder.html [2016,June18]
- http://www.drugs.com/ppa/aclidinium.html [2016,June18]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/aclidinium-index.html?filter=2&generic_only= [2016,June18]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aclidinium_bromide [2016,June18]
- http://www.allergan.com/assets/pdf/tudorza_pi [2016,June18]