แลนรีโอไทด์ (Lanreotide)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแลนรีโอไทด์(Lanreotide หรือ Lanreotide acetate) เป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโซมาโตสแตติน (Somatostatin)ที่ออกฤทธิ์ได้นาน สามารถระบุข้อบ่งใช้ทางคลินิกโดยนำมารักษาได้ 2 อาการโรค คือ

  • โรคอะโครเมการี (Acromagaly, โรคสภาพโตเกินไม่สมส่วน) อันมีเหตุจากเนื้องอกในบริเวณต่อมพิทูอิทารี(Pituitary, ต่อมใต้สมอง)ที่เนื้องอกชนิดนี้ มีการหลั่งฮอร์โมนชื่อ Growth hormone ที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตมากเกินไป จนทำให้ผู้ป่วยมีลักษณะของรูปร่างที่ใหญ่โตเกินมนุษย์ปกติ
  • เนื้องอกเน็ท/โรคมะเร็งเน็ท (Neuroendocrine Tumor) โดยมีรอยโรคเกิดที่บริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้ ตลอดจนกระทั่ง ตับอ่อน

ยาแลนรีโอไทด์มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยาฉีด สามารถฉีดเข้าทางผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อก็ได้ การบริหารยาจึงต้องกระทำแต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น หลังจากร่างกายได้รับการฉีดยานี้ จะมีการดูดซึมตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดประมาณ 80% ปริมาณยาประมาณ 78% จะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีน และร่างกายสามารถกำจัดยานี้ทิ้งไปกับอุจจาระ

ยาแลนรีโอไทด์มีกลไกการทำงาน/การออกฤทธิ์ในลักษณะช่วยยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่ส่งเสริมการเจริญเติบโต รวมถึงยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนจากต่อมไร้ท่อต่างๆ รวมถึงฮอร์โมนที่ถูกหลั่งจากสาเหตุของโรคมะเร็งเน็ท

มีข้อจำกัดการใช้ยาแลนรีโอไทด์บางประการที่ผู้บริโภคควรเรียนรู้ ดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาแลนรีโอไทด์
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาตัวนี้ ด้วยยานี้จะก่ออันตรายต่อทารกได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างอาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงอย่างมาก)จากการใช้ยาแลนรีโอไทด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจ อย่างเช่น หัวใจเต้นช้า ลิ้นหัวใจมีการทำงานผิดปกติ/โรคลิ้นหัวใจ โรคต่อมไทรอยด์ โรค ตับ โรคความดันโลหิตสูง โรคของตับอ่อน โรคเบาหวาน
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาอื่นๆบางกลุ่มอยู่ก่อน อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)กับยาแลนรีโอไทด์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง) การลดลงของประสิทธิภาพของการรักษาโรค ซึ่งหากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแลนรีโอไทด์กับยาอื่นๆดังต่อไปนี้ เช่นยา Beta blockers, Bromocriptine, Quinidine, Terfenadine, และ Cyclosporine

อนึ่ง การใช้ยาแลนรีโอไทด์จะมีขนาดการใช้ยาที่แตกต่างกันตามความรุนแรงของอาการโรค และยังขึ้นกับการตอบสนองของร่างกายต่อยานี้ของผู้ป่วย การฉีดยาให้ 1 ครั้งอาจเว้นระยะการฉีดยาทุกๆ14–28 วัน จึงจะได้รับการฉีดยาซ้ำ และอาจมีคำถามว่าจำเป็นต้องใช้ยาชนิดนี้ตลอดชีวิตหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับอาการของโรค เช่น ผู้ป่วยด้วยโรคอะโครเมการีที่ได้รับการผ่าตัด หรือการฉายรังสีรักษา แล้วผลการรักษาไม่ดีขึ้น แพทย์จะหันมาใช้ยาแลนรีโอไทด์เป็นทางเลือกมาสนับสนุนการรักษา ดังนั้น ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และมารับการฉีดยาตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง

สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคตับ หากจำเป็นต้องใช้ยาแลนรีโอไทด์ แพทย์จะทำ การปรับลดขนาดการใช้ยานี้ให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป โดยมีความสัมพันธ์กับการทำงานของตับเป็นสำคัญ

ขณะที่ผู้ป่วยบำบัดโรคด้วยยาแลนรีโอไทด์ อาจพบอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)อย่างเช่น วิงเวียน กรณีที่เกิดอาการข้างเคียงมากๆ ผู้ป่วยควรกลับเข้ามาขอคำปรึกษาจากแพทย์ หรือผู้ที่มีโรคเบาหวานเป็นโรคประจำตัว จะต้องคอยตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ ด้วยตัวยาแลนรีโอไทด์สามารถส่งผลกระทบต่อระดับน้ำตาลในร่างกายได้ ทั้งทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงก็ได้และแพทย์อาจต้องทำการปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นกรณีๆไป

กรณีที่ได้รับยาแลนรีโอไทด์ แต่อาการป่วยไม่ดีขึ้น หรือมีอาการทรุดลงมากกว่าเดิม ผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด และไม่ควรหยุดการรักษาเอง ทั้งนี้เพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

หากมีข้อสงสัยการใช้ยานี้เพิ่มเติม ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาแลนรีโอไทด์ได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการตรวจรักษา หรือจากเภสัชกรที่ประจำอยู่ในสถาน พยาบาลที่รับการรักษาได้ตลอดเวลา

แลนรีโอไทด์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แลนรีโอไทด์

ยาแลนรีโอไทด์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ

  • รักษาโรคอะโครเมการี (Acromagaly) และ
  • รักษาโรคมะเร็งเน็ท/มะเร็งเน็ต (Neuroendocrine Tumor)

แลนรีโอไทด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแลนรีโอไทด์ เป็นยาเลียนแบบฮอร์โมนโซมาโตสแตติน (Somatostatin) โดยมีกลไกการออกฤทธิ์ยับยั้งฮอร์โมนการเจริญเติบโต(Growth hormone)ของร่างกาย ที่มีสาเหตุเกิดจากโรคอะโครเมการี หรือโรคมะเร็งเน็ต/เน็ท (Neuroendocrine Tumor) จากกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าว ยานี้จึงสามารถหยุดการเจริญเติบโตอย่างผิดปกติของร่างกายจากโรคอะโครเมการี และลดอาการโรคมะเร็งเน็ต ได้ตามสรรพคุณ

แลนรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแลนรีโอไทด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เป็นยาฉีดที่บรรจุในเข็มฉีดยาพร้อมใช้ โดยมีส่วนประกอบของยา Lanreotide ขนาด 60 มิลลิกรัม/ 0.2 มิลลิลิตร, 90 มิลลิกรัม/ 0.3 มิลลิลิตร, 120 มิลลิกรัม/ 0.5 มิลลิลิตร

แลนรีโอไทด์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแลนรีโอไทด์ มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษาโรค Acromegaly:

  • ผู้ใหญ่: เริ่มต้นฉีดยาใต้ผิวหนังในระดับลึกขนาด 90 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ เป็นเวลา 3 เดือนหรือตามดุลพินิจของแพทย์

ข. สำหรับรักษา Neuroendocrine Tumor:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาใต้ผิวหนังในระดับลึก 120 มิลลิกรัม ทุก 4 สัปดาห์ ระยะเวลาในการใช้ยา ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง: การใช้ยานี้ในเด็ก: ยานี้ถูกออกแบบมาใช้กับผู้ใหญ่ จึงยังไม่มีข้อมูลหรือขนาดการใช้ยานี้ในทางคลินิกกับผู้ป่วยเด็ก

******หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแลนรีโอไทด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคตับ โรคไต โรคมะเร็ง รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแลนรีโอไทด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

กรณีที่ผู้ป่วยลืมหรือไม่สามารถมารับการฉีดยาแลนรีโอไทด์ตามนัดหมาย ให้ติดต่อขอกำหนดการนัดหมายฉีดยาแลนรีโอไทด์โดยเร็วจาก แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ดูแลรักษาผู้ป่วย

อนึ่ง บุคคลากรทางการแพทย์ จะมีตารางเวลาการให้ยาแลนรีโอไทด์กับผู้ป่วย โดยเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ การลืมแจ้งนัดหมายการฉีดยาแลนรีโอไทด์ให้กับผู้ป่วยจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก

แลนรีโอไทด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแลนรีโอไทด์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น มีอาการ ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องอืด รู้สึกไม่สบายท้อง ตับอ่อนอักเสบ
  • ผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ: เช่น ส่งผลให้มีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำหรือสูงได้ เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีอาการวิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวและหลอดเลือด: เช่น ความดันโลหิตสูง เกิดภาวะหัวใจเต้นช้า
  • ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น หายใจลำบาก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดอาการผมร่วง
  • ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะโลหิตจาง
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ซึม นอนไม่หลับ

มีข้อควรระวังการใช้แลนรีโอไทด์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแลนรีโอไทด์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก ด้วยตัวยานี้มีโครงสร้างเหมือนฮอร์โมนในร่างกาย จึงสามารถส่งผลข้างเคียงต่อระบบการทำงานของ อวัยวะต่างๆได้อย่างมากมายทั้งของมารดา ของทารก และของเด็ก
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้ใช้ยานี้ ควรต้องเฝ้าระวังและควบคุมให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับปกติเสมอตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
  • หลังการใช้ยานี้ไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมที่แพทย์กำหนด หากพบว่าอาการป่วยยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนวิธีการรักษา
  • หยุดการใช้ยานี้ทันทีเมื่อเกิดอาการแพ้ยากับผู้ป่วย แล้วรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • การรักษาด้วยยานี้ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่องอย่างเหมาะสม ผู้ป่วยจึงควรมารับ การให้ยาตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแลนรีโอไทด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แลนรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแลนรีโอไทด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแลนรีโอไทด์ร่วมกับยา Insulin , Metformin, อาจส่งผลให้เกิดภาวะ น้ำตาลในเลือดสูงและต่ำในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติเสมอตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล
  • การใช้ยาแลนรีโอไทด์ร่วมกับยา Atenolol , Amiodarone, Carvedilol, Digoxin, Diltiazem , Lidocaine, อาจทำให้หัวใจเต้นช้าลง ปวดศีรษะ วิงเวียน เป็นลม จนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแลนรีโอไทด์ร่วมกับยา Bromocriptine, Quinidine, Terfenadine, อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงจากแลนรีโอไทด์มากขึ้น เพื่อป้องกันภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยาแลนรีโอไทด์ร่วมกับยา Cyclosporine ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาแลนรีโอไทด์ลดลง

ควรเก็บรักษาแลนรีโอไทด์อย่างไร?

ควรเก็บยาแลนรีโอไทด์ ในช่วงอุณหภูมิ 2 – 8 องศาเซลเซียส(Celsius) เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แลนรีโอไทด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแลนรีโอไทด์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Somatuline (โซมาทูไลน์)Ipsen

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/lanreotide.html[2017,April8]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lanreotide[2017,April8]
  3. http://www.nps.org.au/__data/assets/pdf_file/0019/14482/iscsatgi20707.pdf[2017,April8]
  4. https://www.drugs.com/sfx/lanreotide-side-effects.html[2017,April8]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/lanreotide-index.html?filter=2&generic_only=[2017,April8]