แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (Magnesium trisilicate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กันยายน 2563
- Tweet
- บทนำ
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?
- แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis)
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ มีแก๊ส (Abdominal bloating)
- กรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ยาลดกรดชนิดน้ำแขวนตะกอน (Antacid Suspension) ยาอลัมมิล (Alum milk)
- ปวดท้อง (Abdominal pain)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
บทนำ
แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (Magnesium trisilicate หรือย่อว่า Mg trisilicate) เป็นสารอนินทรีย์ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร แต่ในทางเภสัชภัณฑ์ได้นำมาใช้เป็นยาลดกรดในกระเพาะอาหาร และรักษาอาการแสบร้อนกลางอกด้วยเหตุกรดไหลย้อน (GERD) อาการกรดที่มีมากดังกล่าวยังก่อให้ เกิดภาวะท้องอืดตามมาอีกด้วย ทั่วไปแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมักถูกนำไปผสมร่วมกับยาลดกรดตัวอื่น โดยผลิตเป็นรูปแบบยาเม็ดชนิดเคี้ยวก่อนกลืนหรือรูปแบบยาน้ำแขวนตะกอน
ในทางคลินิกพบว่ายาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ชนิดน้ำจะให้ประสิทธิภาพในการต้านฤทธิ์ของกรดในกระเพาะอาหาร ได้ดีกว่ายาเม็ด รูปแบบของยาลดกรดดังกล่าวสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป และยังมีในสถานพยาบาลทั่วประเทศ
สำหรับผลข้างเคียงที่เด่นๆของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น อาการท้องเสีย อีกทั้งการรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตร่วมกับยาอื่นๆต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มาก ดัวยยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตจะสามารถรบกวนการดูดซึมของยาอื่นๆได้ จนทำให้ประสิทธิภาพของยาอื่นๆเหล่านั้นด้อยลงไป จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยานี้ร่วมกับยาอื่นๆ หรือรับประทานโดยทิ้งระยะเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องพฤติกรรมประจำวันที่จะช่วยให้การรักษาโรคของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตได้ผลมากยิ่งขึ้นอย่าง เช่น การงดรับประทานอาหารรสจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด กาแฟร้อน สุรา ลดการสูบบุหรี่ หรือลดภาวะเครียดทางอารมณ์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้กรดในกระเพาะหลั่งออกมามากและเป็นเหตุให้อาการโรคกระเพาะหายได้ช้าลง
ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องเข้ารับการตรวจเกลือแร่ในเลือดบางตัวก่อนใช้ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น เกลือโซเดียม เกลือฟอสเฟต ด้วยยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถทำให้สมดุลของเกลือแร่ (สมดุลของน้ำและเกลือแร่)ดังกล่าวในร่างกายเสียไป ดังนั้น ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจะต้องได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องก่อนการใช้ยาจากแพทย์หรือขอคำปรึกษาจากเภสัชกรใกล้บ้าน และสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารกำกับยา(ฉลากยา)ที่แนบมากับภาชนะบรรจุภัณฑ์
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาอาการแสบร้อนกลางอก (Heart burn) ด้วยภาวะกรดไหลย้อน (GERD)
- รักษาและบำบัดอาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต คือ ตัวยาจะเข้าไปทำปฏิกิริยากับกรดใน กระเพาะอาหารที่มีมากเกินไป ทำให้สภาวะความเป็นกรดด่างในกระเพาะอาหารมีความเหมาะ สมมากยิ่งขึ้น จึงส่งผลให้ลดอาการแสบร้อนกลางอกรวมถึงภาวะท้องอืดและอาหารไม่ย่อย
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
ก. ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Dried Aluminium hydroxide gel 300 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม + Atropine sulfate 0.125 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dried Aluminium hydroxide gel 400 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dried Aluminium hydroxide gel 325 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 260 มิลลิกรัม + Kaolin 130 มิลลิกรัม + Atropine sulphate 0.12 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dried Aluminium hydroxide gel 250 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม + Simethicone 100 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dried Aluminium hydroxide gel 200 มิลลิกรัม + Magnesium hydroxide 50 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- Aluminium hydroxide 100 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- Dried Aluminium hydroxide gel 250 มิลลิกรัม + Mg trisilicate 350 มิลลิกรัม + Simethicone 100 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. ยาน้ำแขวนตะกอนที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
- Magnesium carbonate light 250 มิลลิกรัม + Magnesium trisilicate 250 มิลลิกรัม + Sodium hydrogen carbonate 250 มิลลิกรัม/5มิลลิลิตร
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ด้วยสูตรตำรับยาลดกรดในประเทศไทยที่มีแมกนีเซียมไตรซิลิเกตเป็นส่วนประกอบมีอยู่มากมายหลายสูตรตำรับ จึงทำให้ขนาดรับประทาน/วิธีการรับประทานอาจมีความแตกต่างกันออก ไป แต่จะขอยกตัวอย่างการรับประทานยาน้ำ 1 สูตรตำรับคือ Magnesium Trisilicate Mixture BP ที่ประกอบด้วย Magnesium Carbonate Light 250 มิลลิกรัม + Magnesium Trisilicate 250 มิล ลิกรัม + Sodium Hydrogen Carbonate 250 มิลลิกรัม/5 มิลลิลิตร โดยมีขนาดรับประทานของสูตรตำรับข้างต้นที่ใช้ลดอาการแสบร้อนกลางอกและอาหารไม่ย่อย เช่น
- ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ที่อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 10 - 20 มิลลิลิตรวันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุ 5 - 12 ปี : รับประทานครั้งละ 5 - 10 มิลลิลิตรวันละ 3 ครั้ง
- เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีลงมา: ยังไม่มีการศึกษาที่ให้ข้อมูลแน่ชัดในการใช้ยานี้รักษาอาการของเด็กกลุ่มนี้ ดังนั้นการใช้ยาและขนาดยาจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
อนึ่ง: ก่อนรับประทานยานี้ที่เป็นยาน้ำ ให้เขย่าขวดยาทุกครั้ง หลังรับประทานยาฯแล้วให้ดื่มน้ำสะอาดตามเพียงเล็กน้อย
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้ เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
- มีภาวะท้องเสีย
- ปวดท้องแบบปวดบิด/เกร็ง
- ท้องอืด และ
- การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานอาจจะทำให้เกิดนิ่วในไต
มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตวาย
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต/ฟอสฟอรัสในเลือดต่ำ
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่ไตและ/หรือตับทำงานผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตสามารถลดการดูดซึมของยาหลายตัวและหลายกลุ่มหากรับประทานร่วมกัน จนเป็นเหตุให้ประสิทธิภาพหรือฤทธิ์ในการรักษาของยาอื่นๆเหล่านั้นด้อยลงไป เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวจึงควรรับประทานยาอื่นๆเหล่านั้นห่างจากการรับประทานยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ยากลุ่มดังกล่าว เช่น ยา ACE inhibitors, Atazanavir (ยาต้านไวรัส), Azithromycin, Cefpodoxine (ยาปฏิชีวนะ), Chloroquine, Chlopromazine, Hydroxychloroquine, Ferrous sulfate, Ferrous gluconate (ยาธาตุเหล็ก), Penicillamine (ยาทางด้านพิษวิทยา), Gabapentin, Fexofenadine (ยาแก้แพ้), Rifampicin, Levothyroxine, Sulpiride (ยาโรคทางจิตเวช)
ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตอย่างไร?
สามารถเก็บยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกต:
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ควรเก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แมกนีเซียมไตรซิลิเกตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแมกนีเซียมไตรซิลิเกตมียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
A.N.H.Mat (เอ.เอ็น.เฮช. แมท) | A N H Products |
Admag-M (แอดแมก-เอ็ม) | T P Drug |
Almag (อัลแมก) | B L Hua |
Alumag (อะลูแมก) | T.C. Pharma-Chem |
Alupep (อะลูเปป) | Sriprasit Pharma |
Amacone (อะมาโคน) | B L Hua |
Amco (แอมโค) | Polipharm |
Antacia (แอนตาเชีย) | The Forty-Two |
Conmag (คอนแมก) | Central Poly Trading |
Dissowel (ดิสโซเวล) | Union Drug |
Droximag-P (ดรอซิแมก-พี) | P P Lab |
Gacida (กาซิดา) | sanofi-aventis |
K.B. Alu (เค.บี. อะลู) | K.B. Pharma |
Kenya Gel (เคนยา เจล) | Kenyaku |
L-Dacin (แอล-ดาซิน) | Utopian |
Maalox Tablet (มาล็อก แท็บเลท) | sanofi-aventis |
Machto (แมชโต) | Nakornpatana |
Magnesium Trisilicate Compound Medicpharma (แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต คอมพาวด์ เมดิกฟาร์มา) | Medicpharma |
Magnesium Trisilicate Compound Patar (แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต คอมพาวด์ พาตาร์) | Patar Lab |
New Gel (นิว เจล) | New York Chemical |
Siemag (ซีแมก) | Chew Brothers |
Sinlumag (ซินลูแมก) | SSP Laboratories |
บรรณานุกรม
1. https://www.netdoctor.co.uk/medicines/digestion/a7058/magnesium-trisilicate-tablets-bp/ [2020,Sept 19]
2. http://www.patient.co.uk/medicine/magnesium-trisilicate [2020,Sept 19]
3. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/25289 [2020,Sept 19]
4. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=magnesium%20trisilicate[2020,Sept 19]