แมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 16 กุมภาพันธ์ 2559
- Tweet
- บทนำ
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมซัลเฟตอย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมซัลเฟตอย่างไร?
- แมกนีเซียมซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาแก้ท้องผูก (Anticonstipation)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
บทนำ
ยาแมกนีเซียมซัลเฟต (Magnesium sulfate หรือ Magnesium sulphate) เป็นเกลืออนินทรีย์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เกลือยิปซั่ม (Epsom salt) มีคุณสมบัติละลายน้ำได้ดี หากอยู่ในลักษณะผงแห้งก็จะดูดความชื้นจากอากาศได้
แมกนีเซียม (Magnesium) มีส่วนสำคัญต่อการทำงานและการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ต่างๆในร่างกาย อีกทั้งเป็นปัจจัยในการส่งกระแสไฟฟ้าของเซลล์ประสาท และช่วยในการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย แหล่งสะสมเกลือแมกนีเซียมของร่างกายจะอยู่ภายในเซลล์ต่างๆและในกระดูก
การขาดแมกนีเซียมจะทำให้เกิดอาการต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ดังนี้เช่น
- ระบบประสาท: จะมีอาการวิตกกังวล ความจำไม่ดี เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน และมีภาวะลมชัก
- ระบบกล้ามเนื้อ: เกิดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว ตัวสั่น การทรง ตัวผิดปกติ การบังคับสายตาผิดปกติ การกลืนลำบาก
- กระบวนการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: ทำให้ร่างกายมีเกลือแคลเซียมในเลือดต่ำ มีโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ระบบหัวใจ: เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจมีอาการหดเกร็งตัวทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง
- ในเด็ก: จะทำให้มีการเจริญเติบโตช้า
นอกจากนี้การที่ร่างกายมีแมกนีเซียมต่ำยังพบอาการต่างๆติดตามมาได้อีกมากมายเช่น มีภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น เกิดอาการของโรคพาร์กินสัน ปวดศีรษะไมเกรน มีภาวะกระดูกพรุน แน่นหน้าอก ในสตรีจะมีกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) มีความดันโลหิตสูง เกิดอาการของโรค เบาหวานชนิดที่ 2 และมีอาการหอบหืด
อนึ่งแหล่งอาหารที่มีเกลือแมกนีเซียมมากเป็นอันดับต้นๆคือ ผักและผลไม้นั่นเอง
ทั้งนี้รูปแบบของยาแมกนีเซียมซัลเฟตที่เป็นยาแผนปัจจุบันมีทั้งชนิดที่เป็นยาฉีดถูกผลิตเพื่อใช้รักษาอาการชักและอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ส่วนชนิดที่เป็นยาน้ำสำหรับรับประทานมักถูกนำมาใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก และชนิดยาแคปซูลมักจะอยู่ในรูปแบบวิตามินรวม
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตมีข้อจำกัดในการใช้บางประการที่ผู้บริโภคควรทราบดังนี้เช่น
- แพทย์จะไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น
- การให้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตกับสตรีตั้งครรภ์เป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 5 - 7 วันจะส่งผลให้มีภาวะเกลือแคลเซียมในร่างกายต่ำลงและส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีที่มีแนวโน้มจะคลอดบุตรในอีก 2 ชั่วโมง
- การใช้ยานี้โดยให้ทางหลอดเลือดดำจะต้องได้รับการยืนยันจากห้องแล็บ/ห้องปฏิบัติการว่าผู้ป่วยมีภาวะแมกนีเซียมในร่างกายต่ำจริง โดยระดับแมกนีเซียมในเลือดที่เป็นค่าปกติอยู่ที่ 1.5 - 2.5 mEq/L (Milliequivalent/litre)
- ห้ามใช้กับผู้ที่ไตทำงานผิดปกติในระดับรุนแรง
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเป็นยาที่ก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ได้เช่นเดียวกับยาอื่น หากมีอาการแพ้ยานี้จะเกิดอาการที่รุนแรงได้เช่นเดียวกันเช่น มีผื่นคัน แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม เป็นต้น
องค์การอนามัยโลกได้บรรจุให้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สถานพยาบาลควรมีสำรองไว้ให้บริการกับผู้ป่วย คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและจัดเป็นยาอันตราย ซึ่งสำหรับรูปแบบยาฉีดจะพบเห็นการใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น ส่วนผลิตภัณฑ์ในรูปแบบของยารับประทานจะมีการใช้ทั้งในสถานพยาบาลและพบเห็นการจำหน่ายตามร้านขายยาโดยทั่วไป
แมกนีเซียมซัลเฟตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- บำบัดรักษาภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ (Hypomagnesemia)
- บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Ventricular arrhythmia)
- ป้องกันภาวะลมชักอันมีสาเหตุจากร่างกายขาดเกลือแมกนีเซียม (Seizure prophylaxis)
- ใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกโดยอยู่ในรูปของยาน้ำชนิดรับประทาน
แมกนีเซียมซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์ดังนี้
- ก. สำหรับยาฉีด: ยาแมกนีเซียมซัลเฟตจะช่วยลดระดับของสารสื่อประสาทในบริเวณ เส้นประสาทส่วนปลายที่มีชื่อว่า Acetylcholine และยังออกฤทธิ์ที่กล้ามเนื้อหัวใจโดยลดอัตราการนำไฟฟ้าหัวใจ (Rate of SA node impulse formation) พร้อมกับเพิ่มระยะเวลาของการนำไฟฟ้าหัวใจ
- ข. สำหรับยารับประทาน: ยาแมกนีเซียมซัลเฟตจะทำให้เกิดการดูดน้ำเข้าในลำไส้โดยใช้แรงดันที่เรียกว่า ออสโมซิส (Osmotic retention of fluides) ช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและเกิดการระบาย
จากกลไกดังกล่าวข้างต้นเป็นผลให้แมกนีเซียมซัลเฟตมีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ
แมกนีเซียมซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น
- ยาฉีดที่มีความเข้มข้น 10% ขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร
- ยาฉีดที่มีความเข้มข้น 50% ขนาดบรรจุ 2 มิลลิลิตร
- ยาน้ำชนิดรับประทานเพื่อเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ขนาด 5.625 กรัม/30 มิลลิลิตร
- เป็นส่วนประกอบของยาวิตามินรวมสำหรับรับประทานในรูปแบบยาแคปซูล
แมกนีเซียมซัลเฟตมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ขอยกตัวอย่างการใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเฉพาะใน 2 กรณีดังนี้
ก. สำหรับภาวะเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อขนาด 1 กรัมทุก 6 ชั่วโมง 4 ครั้ง และหยุดการให้ยาทันทีเมื่อผู้ป่วยมีอาการกลับมาเป็นปกติและระดับแมกนีเซียมในเลือดต้องกลับมาอยู่เกณฑ์ปกติ
ข. สำหรับบำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 1 - 3 กรัมใช้เวลาขณะฉีด 2 - 15 นาที จากการ ศึกษาพบว่าแพทย์อาจต้องให้ยาซ้ำอีกโดยหยดยาเข้าทางหลอดเลือดดำอีก 1 - 2 กรัมเป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง
*อนึ่งยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยที่แน่ชัดของขนาดการใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตกับเด็ก การใช้ ยานี้กับเด็กจึงต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมปลอดภัยควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาแมกนีเซียมซัลเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาแมกนีเซียมซัลเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมใช้ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟต
ก. กรณียาฉีด: บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติตามคำสั่งจากแพทย์โดยมีตารางเวลากำหนดแน่นอน การลืมฉีดยาให้กับผู้ป่วยจึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก หากผู้ป่วยมีข้อสงสัยหรือมีคำถามว่าได้รับการฉีดยาแมกนีเซียมซัลเฟตให้หรือยัง สามารถสอบถามจากบุคคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานขณะนั้นได้ตลอดเวลา
ข. กรณีที่เป็นยารับประทาน: หากลืมรับประทานสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
แมกนีเซียมซัลเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตในทุกรูปแบบสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น หน้าแดง เหงื่อออกมาก ความดันโลหิตต่ำ กดการทำงานของหัวใจและสมอง อุณหภูมิในร่างกายต่ำลง ระบบการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว อาจพบอาการชัก และมีเกลือแคลเซียมในร่างกายต่ำ
มีข้อควรระวังการใช้แมกนีเซียมซัลเฟตอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตเช่น
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามฉีดยาแมกนีเซียมซัลเฟตให้กับผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้นหรือหัวใจทำงานผิดปกติ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำ สั่งจากแพทย์
- กรณีใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมของทารกในครรภ์ลดต่ำลงจนกระทบต่อการเจริญของกระดูกในทารก
- การใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไตอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับพิษจากแมกนีเซียมติดตามมา
- หยุดการใช้ยานี้ทันทีหากพบอาการแพ้ยานี้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเช่น มีผื่นคัน หายใจไม่ออก /หายใจลำบาก ตัวบวม เป็นต้น
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแมกนีเซียมซัลเฟตด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองด้วยเช่นกัน
แมกนีเซียมซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตร่วมกับยา Amikacin, Gentamycin, Kanamycin, Tobramycin อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้กล้ามเนื้อของผู้ป่วยเกิดภาวะอัมพาต หยุดการหายใจ และอาจเสียชีวิต(ตาย) ได้ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตร่วมกับยา Amlodipine อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว เป็นลม กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตชั่วคราว หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตร่วมกับยา Cisapride อาจเป็นเหตุให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแมกนีเซียมซัลเฟตร่วมกับยา Ergocalciferol/วิตามินดี อาจทำให้ระดับแมกนีเซียมในเลือดเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะการใช้ยาร่วมกันในผู้ป่วยโรคไต และจะแสดงอาการต่างๆติดตามมา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้าแดง ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นช้า ง่วงนอน จนถึงมีภาวะโคม่าและเสียชีวิตในที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้จึงไม่ควรใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแมกนีเซียมซัลเฟตอย่างไร
สามารถเก็บยาแมกนีเซียมซัลเฟตภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
แมกนีเซียมซัลเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแมกนีเซียมซัลเฟตที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Magfifty (แมกฟิฟตี้) | Umeda |
Maglax (แมกแลกซ์) | New York Chemical |
Magnesium Sulphate Atlantic (แมกนีเซียมซัลเฟตแอทแลนติก) | Atlantic Lab |
Multicap (มัลติแคป) | Sriprasit Dispensary |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Magnesium_sulfate#Medical [2016,Jan30]
- http://www.medicinenet.com/magnesium_sulfate-injection/article.html [2016,Jan30]
- http://www.drugs.com/pro/magnesium.html [2016,Jan30]
- http://www.ancient-minerals.com/magnesium-deficiency/symptoms-signs/#list [2016,Jan30]
- http://www.healthaliciousness.com/articles/foods-high-in-magnesium.php [2016,Jan30]
- http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/search?keyword=magnesium+sulfate [2016,Jan30]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=magnesium%20sulfate [2016,Jan30]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/019316s018lbl.pdf [2016,Jan30]
- https://www.glowm.com/resources/glowm/cd/pages/drugs/m003.html [2016,Jan30]
- http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2013/019316s018lbl.pdf [2016,Jan30]
- http://www.mims.com/THAILAND/Home/GatewaySubscription/?generic=Magnesium+sulfate [2016,Jan30]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/magnesium-sulfate-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Jan30]
- http://www.everydayhealth.com/drugs/magnesium-sulfate [2016,Jan30]