แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแฟมไซโคลเวียร์(Famciclovir) เป็นยาที่ใช้ต่อต้านเชื้อไวรัส (ยาต้านไวรัส)ที่เป็นสาเหตุของโรคเริม (Herpes simplex) และโรคงูสวัด(Herpes zoster) ยาแฟมไซโคลเวียร์ได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน ตัวยาจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 75–77% ยาแฟมไซโคลเวียร์ในกระแสเลือดจะเกิดการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 20–25% โดยยานี้ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ทันที แต่อยู่ในรูปแบบที่เรียกกันว่า โปรดรัก (Prodrug, ยาที่จะต้องถูกร่างกายเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีก่อนจึงจะออกฤทธิ์เป็นยาได้) ซึ่งจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางชีวโมเลกุลที่ผนังลำไส้เล็กและที่ตับไปเป็นตัวยาที่ออกฤทธิ์ที่มีชื่อว่า เพนไซโคลเวียร์ (Penciclovir) และร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2–2.3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกายโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ทางคลินิก จะใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์เพื่อรักษาโรคงูสวัดเสียเป็นส่วนมาก ซึ่งสามารถใช้เป็นยารักษาเมื่อมีอาการติดเชื้องูสวัดหรือเริมครั้งแรก และยังใช้เป็นยารักษาเมื่อเกิดอาการกลับมาเป็นซ้ำใหม่อีกด้วย ยาแฟมไซโคลเวียร์จะคอยทำหน้าที่ยับยั้งการกระจายพันธุ์ของเชื้อไวรัสในร่างกาย ส่งผลให้ปริมาณเชื้อไวรัสลดลงเป็นลำดับ จนอาการป่วยทุเลาลง

ทั้งนี้ ยังมีข้อพึงระวังสำหรับการใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบในเบื้องต้นดังนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่เคยมีประวัติแพ้ยาแฟมไซโคลเวียร์
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอที่รับรองประสิทธิผลการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • สตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงต่อการใช้ยาหลายชนิด ซึ่งรวมถึงยาแฟมไซโคลเวียร์ด้วย
  • ผู้ป่วย โรคตับ โรคไต โรคระบบภูมิคุ้มกัน(ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค)บกพร่อง ล้วนอยู่ในขอบข่ายที่อาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียงรุนแรง)จากการใช้ยานี้ ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบทุกครั้งเมื่อเข้ามารับการรักษาว่า ตนเองมีโรคประจำตัวอะไรบ้าง
  • ยาบางรายการเมื่อใช้ร่วมกับยาแฟมไซโคลเวียร์ อาจทำให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา)และส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยเอง เช่นยา Entecavir , Pemetrexed(ยาเคมีบำบัด) ผู้ป่วยจึงควรต้องแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบว่าตนเองมียาอะไรบ้างที่ใช้เป็นประจำ
  • ผู้ที่แพ้นมหรือแพ้น้ำตาลแลคโตส ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ ด้วยองค์ประกอบของยาเม็ดหลายสูตรตำรับ อย่างเช่น ยาแฟมไซโคลเวียร์มีน้ำตาลแลคโตสเป็น องค์ประกอบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบกับผู้ที่แพ้น้ำตาลดังกล่าว
  • การรับประทานยานี้เพื่อรักษาอาการป่วย จะต้องปฏิบัติตัวสม่ำเสมอต่อเนื่องตามแพทย์แนะนำ จนครบระยะเวลาของการรักษา
  • กรณีที่เกิดอาการแพ้ยานี้ เช่น เกิดผื่นคันขึ้นเต็มตัว หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ใบหน้าบวม ปากบวม ควรรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • หากเกิดข้อผิดพลาดที่ผู้ป่วยรับประทานยานี้เกินขนาด ควรนำผู้ป่วยมาพบแพทย์โดยด่วน เพื่อประเมินการเกิดพิษจากยานี้ และเพื่อได้รับการรักษาได้ทันเวลา
  • ยานี้เป็นยาต้านไวรัส ไม่มีข้อมูลสนับสนุนในการนำไปใช้รักษาโรคที่เกิดจากแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ผู้บริโภค/ผู้ป่วยจึงควรทำความเข้าใจอย่างถูกต้อง และห้ามไปซื้อหายานี้มารับประทานโดยมิได้ผ่านการตรวจคัดกรองจากแพทย์ก่อน
  • การรับประทานยาแฟมไซโคลเวียร์ อาจเกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่างได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ ซึ่งโดยทั่วไป อาการข้างเคียงเหล่านี้จะหายไปเองเมื่อหยุดใช้ยา กรณีที่พบอาการข้างเคียงที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรรีบกลับมาขอคำปรึกษาจากแพทย์โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทาง การรักษา
  • ระหว่างที่ใช้ยานี้รักษาอาการ โรคเริม โรคงูสวัด ห้ามมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสัมผัสผู้อื่นอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายของโรค
  • ควรต้องศึกษาข้อมูลการใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ และทำความเข้าใจอย่างถูกต้องจากเอกสารกำกับยา ตลอดจนต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด

ในประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดให้ยาแฟมไซโคลเวียร์เป็นประเภทยาอันตราย การใช้ยานี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น โดยเราจะพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาภายใต้ชื่อการค้าว่า แฟมเวียร์ (Famvir)

อนึ่ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยานี้เพิ่มเติม ผู้ป่วยสามารถสอบถามได้จากแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา หรือจากเภสัชกรโดยทั่วไป

แฟมไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แฟมไซโคลเวียร์

ยาแฟมไซโคลเวียร์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดรักษาการติดเชื้อเริมที่อวัยวะเพศ ที่ริมฝีปาก ทั้งประเภทที่เพิ่งเป็นครั้งแรก หรือการกลับมาเป็นซ้ำ ทั้งนี้ควรเริ่มรับประทานยาเมื่อเริ่มพบเห็นอาการ เช่น แสบ คัน ปวด หรือเริ่มเกิดแผลตามผิวหนัง เพราะจะให้ประสิทธิภาพการรักษาดีกว่าปล่อยให้อาการโรคดำเนินไปแล้ว 6 ชั่วโมง
  • บำบัดรักษาอาการโรคงูสวัด โดยการรับประทานยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังเกิดอาการผื่นคันของงูสวัด ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาได้มากที่สุด
  • บำบัดรักษาการติดเชื้อเริมในผู้ป่วยด้วยโรคเอชไอวี (HIV)

แฟมไซโคลเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแฟมไซโคลเวียร์คือ เมื่อยานี้เข้าสู่ร่างกาย จะถูกกลไกทางเคมีในร่างกายเปลี่ยนเป็นตัวยาเพนไซโคลเวียร์(Penciclovir) ซึ่งสามารถออกฤทธิ์ยับยั้งการจำลองสารพันธุกรรมของไวรัสเริม(HSV type1 and 2) และของไวรัสงูสวัด (Varicella-zoster virus/VZV) ส่งผลให้เชื้อไวรัสหยุดการกระจายพันธุ์ ประกอบกับทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อต้านเชื้อไวรัสดังกล่าว จากกลไกเหล่านี้ จึงเป็นผลให้อาการโรคทุเลาลง

แฟมไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแฟมไซโคลเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วยยา Famciclovir 125, 250, และ 500 มิลลิกรัม/เม็ด

แฟมไซโคลเวียร์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแฟมไซโคลเวียร์ มีขนาดรับประทาน เช่น

ก.สำหรับรักษาโรคงูสวัด:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 7 วัน สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุกๆ 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 10 วัน

ข.สำหรับรักษาโรคเริมที่ขึ้นบริเวณอวัยวะเพศ:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน สำหรับผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ให้รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 7 วัน

ค.สำหรับรักษาโรคเริมที่ขึ้นที่ริมฝีปาก หรือที่อวัยวะเพศกับผู้ป่วยเอชไอวี (HIV):

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น เป็นเวลา 7 วัน

ง.สำหรับรักษาโรคเริมบริเวณริมฝีปากกรณีที่กลับมาเป็นซ้ำใหม่:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาขนาด 1,500 มิลลิกรัม ครั้งเดียว

อนึ่ง:

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา ด้วยยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่เพียงพอที่รับรองประสิทธิผลการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มนี้
  • สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือ หลัง หรือ พร้อมอาหาร ก็ได้
  • สำหรับผู้ป่วยโรคไต แพทย์จะปรับลดขนาดการรับประทานยานี้ลงมาตามความรุนแรงของการทำงานของไตที่เสียไป
  • กรณีเกิดอาการข้างเคียงที่ทำให้รู้สึก เวียนศีรษะ ให้หลีกเลี่ยงการทำงาน ที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรือการขับขี่ยวดยานพาหนะ ด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแฟมไซโคลเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคไต โรคตับ โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมทั้งกำลังกินยา/ช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแฟมไซโคลเวียร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาแฟมไซโคลเวียร์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาที่จะรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานในขนาดปกติ

แต่อย่างไรก็ดี การรักษาโรคเริม และโรคงูสวัด ผู้ป่วยต้องรับประทานยาแฟมไซโคลเวียร์ อย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง ทั้งนี้เพื่อให้ระดับยาในกระแสเลือดมีความเข้มข้นที่สม่ำเสมอ ซึ่งเป็นสภาวะที่ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการกระจายพันธุ์ของเชื้อไวรัสได้ดีที่สุด

แฟมไซโคลเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแฟมไซโคลเวียร์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะNeutropenia(เม็ดเลือดขาวชนิด Neutrophil ต่ำ), Leukopenia(เม็ดเลือดขาวต่ำ) ,Thrombocytopenia(เกล็ดเลือดต่ำ), โลหิตจาง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย ปวดท้อง อาเจียน ท้องอืด ตับอ่อนอักเสบ อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน การเคลื่อนไหวช้าลง
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น ชีพจรเต้นผิดปกติ
  • ผลต่อตับ: เช่น ค่าเอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น เกิดดีซ่าน ค่าบิลิรูบินในเลือดเพิ่มขึ้น
  • ผลต่อไต: เช่น ค่าครีเอตินิน(Creatinine)ในเลือดเพิ่มขึ้น เกิดภาวะไตวาย
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ Stevens-Johnson syndrome ใบหน้าบวม ตาบวม
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น ประจำเดือนขาด
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น รู้สึกสับสน ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ(โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ) คออักเสบ

มีข้อควรระวังการใช้แฟมไซโคลเวียร์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเองโดยมิได้ขอคำปรึกษาจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เม็ดยาแตกหัก สีเม็ดยาเปลี่ยนไป
  • ห้ามนำไปใช้รักษาการติดเชื้อรา หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • รับประทานยานี้ตรงขนาดและตรงเวลาตามคำสั่งแพทย์
  • ขณะเกิดการติด เชื้อเริม หรือ เชื้องูสวัด ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสร่างกายอย่างใกล้ชิด จนกว่าอาการของผู้ป่วยจะหายเป็นปกติ
  • กรณีที่มีอาการของ โรคเริม โรคงูสวัด กลับมาเป็นใหม่ ไม่ควรไปซื้อยามารับประทานเอง ควรเข้ามาพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองอาการโรค ด้วยขนาดการใช้ยาของผู้ป่วยจะขึ้นกับความรุนแรงของโรค สภาพร่างกาย และภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของผู้ป่วย
  • กรณีใช้ยานี้ครบตามขนาดและตรงตามเวลาที่แพทย์กำหนด แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล โดยไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
  • ดูแลสุขภาพร่างกายหลังหายจากอาการป่วยอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานอาหาร การพักผ่อน การออกกำลังกาย และเรียนรู้ถึงความเสี่ยงต่างๆที่เป็นสาเหตุให้อาการโรคกำเริบขึ้น
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแฟมไซโคลเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แฟมไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแฟมไซโคลเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Probenecid จะทำให้การขับทิ้งของ แฟมไซโคลเวียร์ทางปัสสาวะน้อยลง จึงส่งผลเพิ่มระดับความเข้มข้นในกระแสเลือดของยาแฟมไซโคลเวียร์ จนอาจเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆที่รุนแรงตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Raloxifene ด้วยจะทำให้ กระบวนการเปลี่ยนแปลงทางชีวะโมเลกุลของยาแฟมไซโคลเวียร์ไปเป็นสารออกฤทธิ์ ที่มีชื่อว่า Penciclovir ต่ำลง ส่งผลให้ประสิทธิผลการรักษาด้วยยาแฟมไซโคลเวียร์ด้อยลงเช่นกัน
  • การใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Entecavir อาจทำให้ความเข้มของยาทั้ง 2 ตัว หรือตัวใดตัวหนึ่งในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนเป็นเหตุให้เกิดอาการข้างเคียง ที่รุนแรงจากยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองตัวตามมา กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแฟมไซโคลเวียร์ร่วมกับยา Pemetrexed(ยาเคมีบำบัด) จะทำให้ระดับยา Premetrexed ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จนทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงที่รุนแรงตามมา เช่น โลหิตจาง มีภาวะเลือดออกง่าย เส้นประสาทถูกทำลาย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาแฟมไซโคลเวียร์อย่างไร?

ควรเก็บยาแฟมไซโคลเวียร์ ในช่วงอุณหภูมิ 20–25 องศาเซลเซียส(Celsius) หรือเก็บตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือรถยนต์

แฟมไซโคลเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแฟมไซโคลเวียร์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Famvir (แฟมเวียร์)Sandoz

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Penciclovir, Famtrex, Virovir, Famicimac, Microvir, Penvir, Famirax

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/famciclovir.html[2017,April1]
  2. http://www.mims.com/thailand/drug/info/famvir/?type=brief[2017,April1]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/famciclovir/?type=brief&mtype=generic[2017,April1]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Famciclovir[2017,April1]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/famciclovir-index.html?filter=2&generic_only=[2017,April1]