แพรนลูคาสท์ (Pranlukast)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 กรกฎาคม 2560
- Tweet
- บทนำ
- แพรนลูคาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แพรนลูคาสท์อย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแพรนลูคาสท์อย่างไร?
- แพรนลูคาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- Leukotriene receptor antagonist
- โรคหืด (Asthma)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- โรคภูมิแพ้หูคอจมูก (ENT and Allergy)
- ยารักษาโรคหืด (Asthma Medications)
บทนำ
ยาแพรนลูคาสท์(Pranlukast หรือ Pranlukast hydrate) เป็นยาประเภท Leukotriene receptor antagonists(Leukotriene antagonists) ทางคลินิกนำมาใช้รักษาอาการของโรคหืดรวมถึงอาการแพ้สารต่างๆที่เกิดในช่องระบบทางเดินหายใจ รูปแบบของเภสัชภัณฑ์ของยานี้ เป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยานี้จะถูกเอนไซม์ในตับที่มีชื่อว่า CYP3A4 (Cytochrome P450 3A4) เปลี่ยน แปลงโครงสร้างทางเคมีของยานี้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โดยร่างกายต้องใช้เวลา ประมาณ 1.5 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ
สิ่งสำคัญบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบเกี่ยวกับยาแพรนลูคาสท์ อาทิ เช่น
- ยาแพรนลูคาสท์ไม่สามารถบำบัดอาการหอบหืดที่เกิดทันที/เฉียบพลันได้ ดังนั้นขณะที่ผู้ป่วยเกิดอาการหอบหืด อึดอัด/ หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ต้องใช้ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์เร็ว(เช่นยา Albuterol) หรือยาสเตียรอยด์ชนิดที่ออกฤทธิ์เร็ว(เช่นยา Prednisolone)เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งโดยทั่วไป แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยพกยาที่ช่วยบรรเทาอาการหอบหืดแบบเฉียบพลันติดตัวไว้เสมอ
- กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาแพรนลูคาสท์ร่วมกับยาสเตียรอยด์ แพทย์จะปรับลดสัดส่วนการใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ลง และจะพิจารณาปรับขนาดการใช้ยาทั้ง 2 กลุ่มที่เหมาะสมที่จะทำให้อาการหอบหืดของผู้ป่วยดีขึ้น
- ยาในกลุ่ม Leukotriene antagonists อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้ากับผู้ป่วยจนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง ญาติของผู้ป่วยต้องมีบทบาทเฝ้าระวังพฤติกรรมของผู้ป่วย ขณะที่ใช้ยากลุ่มนี้ ถ้าหากมีอาการซึมเศร้า ต้องรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล ไม่ต้องรอถึงวันแพทย์นัด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคตับ เช่น โรคตับแข็ง
- ยาแพรนลูคาสท์สามารถใช้ได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็ก แต่การใช้ยานี้จะต้อง ใช้ตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น ห้ามมิให้ผู้บริโภคไปซื้อหายานี้มาใช้เอง
ทั้งนี้ เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการใช้ยาแพรนลูคาสท์ ผู้ป่วยจะต้องใช้ยานี้และปฏิบัติตัวตามที่ แพทย์/พยาบาล/เภสัชกร แนะนำอย่างเคร่งครัด และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลต่างๆของยานี้ได้จากแพทย์หรือเภสัชกรโดยทั่วไป
แพรนลูคาสท์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแพรนลูคาสท์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เพื่อ
- รักษาอาการหอบหืดจากโรคหืด
- รักษาอาการโรคภูมิแพ้ของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคภูมิแพ้หูคอจมูก
แพรนลูคาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแพรนลูคาสท์มีกลไกการออกฤทธิ์ที่เป็นลักษณะการออกฤทธ์ของยากลุ่ม Leukotriene receptor antagonist ในบริเวณช่องทางเดินหายใจของมนุษย์ โดยตัวยาจะป้องกันไม่ให้เกิดอาการบวมข้องเยื่อเมือก และรวมถึงลดการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบในช่องทางเดินหายใจ/หลอดลม นอกจากนั้น ยังช่วยลดการขับ เมือก/ สารคัดหลั่งต่างๆของหลอดลมที่อุดกั้นทางเดินหายใจ จากกลไกที่กล่าวมาจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
แพรนลูคาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแพรนลูคาสท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ที่ประกอบด้วย Pranlukast 112.5 มิลลิกรัม/แคปซูล
แพรนลูคาสท์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแพรนลูคาสท์มีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานครั้งละ 225 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
- เด็ก: รับประทาน 3.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ห้ามรับประทานยาเกิน 450 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง:
- ระยะเวลาในการใช้ยานี้ ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ควรรับประทานยานี้ ก่อนอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแพรนลูคาสท์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคตับ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่เพราะยาแพรนลูคาสท์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแพรนลูคาสท์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2เท่า ให้รับประทานยาขนาดปกติ
แพรนลูคาสท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแพรนลูคาสท์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ มีไข้
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ/โรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ง่าย
- ผลต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ
มีข้อควรระวังการใช้แพรนลูคาสท์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแพรนลูคาสท์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีอาการหดเกร็งของหลอดลมแบบเฉียบพลัน
- ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง และต้องใช้ยานี้ตามขนาดรับประทานและใช้นาน ตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น แคปซูลแตกหัก หรือสีแคปซูลเปลี่ยนไป หรือตัวแคปซูลเปียกชื้น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยโรคตับ
- ระวังการใช้ยากับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตรรวมถึง เด็กและผู้สูงอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแพรนลูคาสท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แพรนลูคาสท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
การใช้ยาแพรนลูคาสท์ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างเช่นยา Warfarin อาจทำให้เวลาการแข็งตัวของเลือดเพิ่มขึ้น หรืออาจเกิดภาวะเลือดออกง่าย หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแพรนลูคาสท์อย่างไร?
ควรเก็บยาแพรนลูคาสท์ในช่วงอุณหภูมิห้องที่เย็น ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
แพรนลูคาสท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแพรนลูคาสท์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Onon (โอนอน) | Ono Pharmaceutical Co., Ltd. |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Prakanon, Pranair
บรรณานุกรม
- http://www.e-search.ne.jp/~jpr/PDF/ONO04.PDF[2017,June24]
- http://www.mims.com/indonesia/drug/info/pranlukast?mtype=generic[2017,June24]
- https://www.drugbank.ca/drugs/DB01411[2017,June24]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Pranlukast[2017,June24]