แพนโทพราโซล (Pantoprazole)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาแพนโทพราโซล (Pantoprazole) คือ ยากลุ่มที่เรียกว่า โปรตอนปั๊ม อินฮิบิเตอร์ (Proton pump inhibitor) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร ถูกพัฒนาและจดสิทธิ บัตรในประเทศสหรัฐอเมริกา มีรูปแบบผลิตภัณฑ์เป็นยารับประทานและยาฉีด และใน ปีค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) แพนโทพราโซลถูกวางจำหน่ายภายใต้ยาชื่อการค้าว่า “Protonix” ปัจจุบันบริษัทยาได้ผลิตยาแพนโทพราโซลภายใต้ชื่อการค้าอื่นอีกมากกว่า 40 ตัว

จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยาเมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย) พบว่า แพนโทพราโซลสามารถดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ประมาณ 77% ตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีของแพนโทพราโซล ร่างกายต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมงในการกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ

คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นหมวดยารัก ษาแผลในกระเพาะอาหาร

แพนโทพราโซลจัดเป็นประเภทยาอันตราย การจะใช้ยานี้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิผล จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น

ยาแพนโทพราโซลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แพนโทพราโซล

ยาแพนโทพราโซลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้:

  • รักษาอาการโรคกรดไหลย้อน
  • รักษาแผลในกระเพาะอาหาร ทั้งประเภทที่ไม่มีการติดเชื้อและประเภทที่มีการติดเชื้อ H.pylori (Helicobacter pylori) ร่วมด้วย (โรคติดเชื้อเอชไพโลไร)
  • รักษากลุ่มอาการ โซลลิงเจอร์เอลลิสัน (ZollingerEllison syndrome/โรค/กลุ่มอาการพบน้อยมากๆที่เกิดจากเนื้องอกของตับอ่อนและ/หรือของลำไส้เล็กซึ่งเป็นเนื้องอกที่สร้างฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการหลั่งกรดอย่างมากในกระเพาะอาหาร)

ยาแพนโทพราโซลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแพนโทพราโซลมีกลไกการออกฤทธ์โดย ตัวยาจะยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่มีชื่อว่า H+/K+ ATPase (Hydrogen potassium ATPase, เอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างกรดของกระเพาะอาหาร) ทำให้ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และเกิดฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

ยาแพนโทพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแพนโทพราโซลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ขนาด 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาฉีด ที่เป็นลักษณะยาผงขนาด 40 มิลลิกรัม (ใช้ผสมสารละลายน้ำเกลือในปริมาณตามระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา)

ยาแพนโทพราโซลมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแพนโทพราโซลมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับโรคกรดไหลย้อน (GERD): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 - 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งในช่วงเช้าเป็นเวลา 4 สัปดาห์ หากจำเป็น แพทย์อาจขยายเวลารับประทานเป็น 8 สัปดาห์

ข. สำหรับแผลในกระเพาะอาหาร: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งในช่วงเช้าเป็นเวลา 2 - 4 สัปดาห์

ค. สำหรับแผลในลำไส้เล็กส่วนต้น: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งในช่วงเช้าเป็นเวลา 4 - 8 สัปดาห์

ง. สำหรับแผลในทางเดินอาหารและมีการติดเชื้อ H.pylori ร่วมด้วย: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 40 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ร่วมกับยา Clarithromycin 500 มิลลิกรัม + Amoxicillin 1 กรัม เช้า–เย็น, หรือ Clarithromycin 500 มิลลิกรัม + Metronidazole 400 มิลลิกรัม เช้า - เย็น

จ. สำหรับป้องกันแผลในทางเดินอาหารเนื่องจากการรับประทานยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs): เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 20 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง

ฉ. สำหรับกลุ่มอาการจาก Zollinger - Ellison syndrome: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทาน 80 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน ถ้าจำเป็นสามารถปรับขนาดรับ ประทาน (โดยแพทย์เป็นผู้ปรับ) เป็น 240 มิลลิกรัม/วัน

อนึ่ง :

  • การรับประทานยานี้ที่มากกว่า 80 มิลลิกรัม/วัน ควรแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง
  • สามารถรับประทานยาแพนโทพราโซล ก่อน หรือ พร้อม อาหารก็ได้ หากเป็นชนิดที่ค่อยๆปลดปล่อยตัวยาที่เรียกว่า Controlled - release ควรรับประทานในช่วงท้องว่างหรือรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง
  • การรับประทาน: ให้กลืนยานี้พร้อมน้ำเปล่าที่พอเพียง ห้ามเคี้ยวยาโดยเด็ดขาด
  • ยาฉีด: จะใช้ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถให้ยาทางปากได้ เช่น ผู้ป่วยที่กำลังมีเลือดออกจากแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • เด็ก: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยานี้ในเด็ก จะขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก และต้องอยู่ในคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแพนโทพราโซล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อบ
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแพนโทพราโซลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแพนโทพราโซล สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียง กับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

ยาแพนโทพราโซลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแพนโทพราโซลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • มีอาการท้องเสีย หรือ ท้องผูก
  • วิงเวียน
  • ผื่นคัน
  • เจ็บหน้าอก
  • โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร
  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้
  • วิตกกังวล
  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • นอนไม่หลับ
  • ท้องอืด
  • ปวดท้อง
  • อาหารไม่ย่อย
  • ปัสสาวะบ่อย
  • ตับทำงานผิดปกติ
  • ปวดต้นคอ
  • อ่อนเพลีย
  • ไอ
  • หลอดลมอักเสบ
  • ไซนัสอักเสบ
  • เยื่อจมูกอักเสบ
  • โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
  • กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่

มีข้อควรระวังการใช้ยาแพนโทพราโซลอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแพนโทพราโซล เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • การใช้ยานี้เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหาร
  • ระวังการใช้ยากับผู้ที่มีภาวะตับทำงานผิดปกติ
  • ระวังการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์
  • ระวังการใช้ยานี้ในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีลงมา
  • ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแพนโทพราโซลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาแพนโทพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแพนโทพราโซลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแพนโทพราโซล ร่วมกับ ยาต้านเชื้อรา เช่นยา Ketoconazole และ Itraconazole จะทำ ให้ร่างกายดูดซึมยาต้านเชื้อราได้ลดลง หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาแพนโทพราโซล ร่วมกับ ยาโรคหัวใจ เช่นยา Digoxin อาจทำให้การดูดซึมยาโรคหัวใจดังกล่าวลดลงเล็กน้อย หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ควรเฝ้าระวังอาการและการตอบสนองของร่างกายอย่างใกล้ชิด
  • การใช้ยาแพนโทพราโซล ร่วมกับ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา Coumarins จะทำให้ฤทธิ์ของการยับยั้งการแข็งตัวของเลือดมากขึ้น การใช้ร่วมกันต้องระวังเรื่องการเกิดบาดแผลหรืออาการตกเลือด แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วย
  • การใช้ยาแพนโทพราโซล ร่วมกับ การดื่มแอลกอฮอล์ สามารถส่งผลให้เกิดความระคายเคืองภายในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น จึงห้ามรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด

ควรเก็บรักษายาแพนโทพราโซลอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาแพนโทพราโซล เช่น

  • สำหรับยาแพนโทพราโซลชนิดรับประทาน:
    • ควรเก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • สำหรับยาฉีด:
    • ควรเก็บที่อุณหภูมิต่ำกว่า 25 องศาเซลเซียส
  • เก็บยาทุกประเภท:
    • เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น
    • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
    • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาแพนโทพราโซลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแพนโทพราโซล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Controloc (คอนโทรล็อก)Takeda
Pantocid (แพนโทซิด)Sun Pharma
Pantoprazol Sandoz (แพนโทพราโซล แซนดอซ)Sandoz
Pantoprol (แพนโทพรอล)Sinensix Pharma
Stripole (สไตรโพล)Gufic Stridden

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Pantoprazole [2021,June12]
  2. https://www.mims.com/malaysia/drug/info/pantoprazole?mtype=generic [2021,June12]
  3. https://www.mims.co.uk/drugs/gastrointestinal-tract/peptic-ulcer-z-e-syndrome/pantoprazole [2021,June12]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=pantoprazole [2021,June12]
  5. https://www.drugs.com/pantoprazole.html [2021,June12]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/pantoprazole-index.html?filter=2&generic_only=#K [2021,June12]