แผลประทับผิว (ตอนที่ 1)

แผลประทับผิว-1

      

เพจ “โรงพยาบาลสิชล นครศรีธรรมราช” เผยภาพคนไข้ อายุ 35 ปี ที่มีแผลเป็นคีลอยด์ภายหลังจากเจาะหู โดยระบุว่า คีลอยด์ คือ แผลเป็นชนิดหนึ่งที่มีลักษณะนูนและขนาดอาจขยายใหญ่กว่ารอยแผลที่เกิดขึ้น โดยอาจเกิดขึ้นทันทีที่แผลหายหรือหลังจากแผลหายสักระยะหนึ่งแล้ว แม้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ คัน ระคายเคือง หรือส่งผลด้านความสวยความงามได้

ส่วนสาเหตุคีลอยด์เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ผู้ที่มีอายุอยู่ในช่วง 10-30 ปี มีแนวโน้มที่จะเป็นได้มากกว่า และเชื่อว่าอาจมีปัจจัยด้านพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยกว่าครึ่งของผู้ที่เกิดแผลเป็นชนิดคีลอยด์มีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นคีลอยด์มาก่อนเช่นกัน หรือเกิดจากบาดแผลไม่สะอาด ติดเชื้อ

การรักษาด้วยวิธีการฉีดคอร์ติโซนสเตียรอยด์ เป็นวิธีการรักษาที่ปลอดภัยและไม่เจ็บมาก โดยจะฉีดสเตียรอยด์ชนิดนี้เข้าที่แผลเป็นให้ทุกๆ 4-8 สัปดาห์ เพื่อช่วยให้คีลอยด์ยุบตัวลง แต่หากก้อนมีขนาดใหญ่ อาจต้องพิจารณาผ่าตัดเสียก่อน นอกจากนั้นยังมีวิธีอื่น เช่น การเลเซอร์ ใช้ความเย็น แผ่นเจล เป็นต้น

คีลอยด์ (Keloid) เป็นเนื้อเยื่อแผลเป็น (Scar tissue) ที่เกิดหลังการได้รับบาดเจ็บเป็นแผล และร่างกายพยายามที่จะรักษาตัวเอง แผลคีลอยด์อาจมีขนาดที่ใหญ่กว่าแผลเดิม มักพบที่บริเวณ หน้าอก บ่า ติ่งหู และแก้ม ไม่ก่อให้เกิดโทษอันใดกับร่างกายยกเว้นกรณีเรื่องของความสวยงาม

แผลคีลอยด์มีลักษณะดังต่อไปนี้

  • ใช้เวลานานในการก่อตัวจึงค่อยมองเห็นแผลคีลอยด์ เช่น 3 เดือนหรือเป็นปี
  • เป็นบริเวณเฉพาะที่ที่มีสีเนื้อสด สีชมพู หรือสีแดง ต่อมาอาจมีสีคล้ำขึ้น
  • เป็นก้อนนูนโปน
  • คันหรืออาจเจ็บเมื่อสัมผัส อย่างไรก็ดีอาการเหล่านี้มักหายเมื่อแผลคีลอยด์หยุดโต

ผิวที่เป็นแผลซึ่งสามารถทำให้เกิดคีลอยด์ ได้แก่

  • รอยแผลเป็นจากสิว (Acne scars)
  • แผลไฟไหม้ (Burns)
  • แผลโรคอีสุกอีใส (Chickenpox scars)
  • การเจาะหู (Ear piercing)
  • รอยข่วน (Scratches)
  • แผลผ่าตัด (Surgical incision sites)
  • บริเวณที่ฉีดวัคซีน (Vaccination sites)

แหล่งข้อมูล:

  1. รพ.สิชล เผยเคสผู้ป่วยเจาะหู จนเกิดเป็นแผลคีลอยด์ หนักถึงขั้นต้องเข้าผ่าตัดออก. https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000081692 [2020, August 20].
  2. Everything You Need to Know About Keloid Scars. https://www.healthline.com/health/keloids [2020, August 20].
  3. Keloid scars. https://www.nhs.uk/live-well/healthy-body/keloid-scars/ [2020, August 20].
  4. What are keloids? https://familydoctor.org/condition/keloids/ [2020, August 20].