แบคซิทราซิน (Bacitracin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 7 มีนาคม 2564
- Tweet
- บทนำ: คือ ยาอะไร?
- แบคซิทราซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
- แบคซิทราซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แบคซิทราซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แบคซิทราซินมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทาน (อม) ยาควรทำอย่างไร?
- แบคซิทราซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แบคซิทราซินอย่างไร?
- แบคซิทราซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแบคซิทราซินอย่างไร?
- แบคซิทราซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ยาใช้ภายนอก (External Use drug)
- โรคไต (Kidney disease)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
บทนำ: คือ ยาอะไร?
ยาแบคซิทราซิน (Bacitracin) คือ ยาใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียแกรมบวกและ แกรมลบได้ดี มักนำมาใช้เป็นยาทาแผล, และเป็นส่วนผสมในยาลูกอมแก้เจ็บคอ/คออักเสบ ยานี้ผลิตได้จากแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Bacillus subtilis
ธรรมชาติของยาแบคซิทราซิน จะดูดซึมจากทางเดินอาหารได้ไม่ค่อยดีนัก รูปแบบยาแผนปัจจุบันจึงถูกเตรียมเป็นยาทาเฉพาะที่ ยาฉีด และยาอมที่ใช้ฆ่าเชื้อในช่องปากและคอ สูตรตำรับของยาแบคซิทราซินที่ขึ้นทะเบียนตำรับกับกระทรวงสาธารณสุขของไทยมักจะเป็นยาผสมร่วมกับยา Neomycin หรือ Polymycin b ซึ่งเป็นยาต่อต้านแบคทีเรียเช่นกัน หรือผสมกับยาชา Amylocaine เป็นต้น
การสกัดยาแบคซิทราซิน ทำได้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 1945 (พ.ศ. 2488) และถูกรับรองเป็นตำรายาในปี ค.ศ. 1948 (พ.ศ. 2491) นับว่าเป็นยาที่มีอายุการใช้ยาว นานมากพอสมควร
อนึ่ง ก่อนใช้ยาที่มีส่วนผสมของแบคซิทราซิน ผู้บริโภคสามารถขอคำแนะนำการใช้ยาได้จากแพทย์หรือเภสัชกรใกล้บ้าน
แบคซิทราซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ)รักษาโรคอะไร?
ยาแบคซิทราซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- เป็นยาใช้ภายนอก ทาเฉพาะที่ ป้องกันแบคทีเรียในบริเวณที่มีบาดแผล
- เป็นส่วนผสมของยาเม็ดชนิดอม เพื่อลดแบคทีเรียในช่องปากและคอ
- รักษาการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสแตปฟิโลคอกคัส (Staphylococcus)
แบคซิทราซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแบคซิทราซินคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างผนังเซลล์(เซลล์-เนื้อเยื่อ-อวัยวะ)ของแบคทีเรีย ทำให้การเจริญเติบโตที่รวมถึงการแพร่พันธุ์ของแบคทีเรียหยุดชะงักและตายลงในที่สุด
แบคซิทราซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแบคซิทราซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ขนาดความแรง 50,000 ยูนิต (ยานี้ไม่สามารถฉีดเข้าหลอดเลือด หรือเข้าใต้ผิวหนังได้)
- ยาเม็ดชนิดอมที่ผสมกับยาอื่น เช่น
- Neomycin sulfate 2.5 มิลลิกรัม + Bacitracin 100 ยูนิต + Amylocaine HCl 0.5 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาผงสำหรับใส่แผลที่ผสมกับยาอื่น เช่น
- Clioquinol 3 กรัม + Bacitracin 7,500 ยูนิต + Neomycin sulfate 0.25 กรัม + Zinc stearate 20 มิลลิกรัม/ผงยา 100 กรัม
- Gentamicin sulfate 1 มิลลิกรัม + Bacitracin 500 ยูนิต + Clioquinol 15 มิลลิกรัม + Aminoacetic acid 10 มิลลิกรัม + Threonine 1 มิลลิกรัม + Cystine 2 มิลลิกรัม/ผงยา 1กรัม
- Neomycin sulfate 500 มิลลิกรัม + Bacitracin Zinc 25,000 ยูนิต + Polymyxin B 160,000 ยูนิต/ผงยา 100 กรัม
- ยาขี้ผึ้งสำหรับทาแผลที่ผสมกับยาอื่น เช่น
- Neomycin sulfate 0.5 มิลลิกรัม + Polymyxin B sulfate 500,000 ยูนิต + Bacitracin Zn 40,000 ยูนิต/เนื้อขี้ผึ้ง 100 กรัม
- Bacitracin 250 ยูนิต + Neomycin base 5 มิลลิกรัม/เนื้อขี้ผึ้ง1กรัม
- Bacitracin Zinc + Polymyxin B Sulfate 500 ยูนิต - 10,000 ยูนิต/เนื้อขี้ผึ้ง 1 กรัม
แบคซิทราซินมีขนาดรับประทานและการบริหารยาอย่างไร?
ยาแบคซิทราซินมีขนาดรับประทานและการบริหารยา/การใช้ยา เช่น
ก. สำหรับยาอมแก้ คออักเสบ ทอนซิลอักเสบ:
- ผู้ใหญ่: อมยา 8 - 10 เม็ด/วันแบ่งอม 1 เม็ดทุก 2 - 3 ชั่วโมง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): เนื่องจากเกรงปัญหาจากเชื้อดื้อยา การใช้ยานี้ในเด็กในรูปแบบยาอมจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง: ขณะนี้ทางการแพทย์กำลังศึกษากรณีผู้ใหญ่ที่ใช้ยานี้ในลักษณะยาอมว่า จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดที่ก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาตามมาหรือไม่ ซึ่งถ้าพบหลักฐานก็อาจมีการเพิกถอนการใช้ยานี้ในรูปแบบยาอม
ข. สำหรับยาทาแผลชนิดขี้ผึ้ง:
- ผู้ใหญ่: ทาแผลวันละ 1 - 2 ครั้งหรือขึ้นกับขนาดการใช้ของแต่ละสูตรตำรับยาที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยา หรือขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- เด็ก: ความปลอดภัยและประสิทธิภาพการใช้ยาทานี้ในเด็กยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัด ดังนั้นการใช้ยาทานี้กับเด็กจึงขึ้นกับดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น โดยพิจารณาเป็นกรณีไป
ค. สำหรับการติดเชื้อสแตปฟิโลคอกคัส:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 20,000 - 25,000 ยูนิตทุก 6 ชั่วโมงเป็นเวลา 7 - 10 วัน
- เด็กทารกน้ำหนักมากกว่า 2.5 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 1,000 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ 2 - 3 ครั้ง/วัน
- เด็กทารกน้ำหนักน้อยกว่า 2.5 กิโลกรัม: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 900 ยูนิต/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันโดยแบ่งให้ 2 – 3 ครั้ง/วัน
***** หมายเหตุ:
- สำหรับเด็กห้ามใช้ยานี้นานเกิน 12 วัน
- ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กจะขึ้นกับน้ำหนักตัวเด็ก ดังนั้นในเด็กที่อายุมากกว่า 1 ปี (เด็กทารก) จะมีน้ำหนักตัวมาก การใช้ยานี้จึงต้องใช้ปริมาณมากซึ่งไม่เหมาะต่อการเป็นยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพราะจะทำให้เด็กเจ็บบริเวณที่ฉีดยามาก จึงเป็นเหตุไม่มีการใช้ยานี้ในเด็กที่ไม่ใช่ทารก
- *ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแบคซิทราซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแบคซิทราซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทาน (อม) ยาควรทำอย่างไร?
หากลืมอมยาแบคซิทราซิน สามารถอมยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการอมยาในเวลาถัดไปให้อมยาตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการอมยาเป็น 2 เท่า
แบคซิทราซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแบคซิทราซินสามารถก่อให้เกิดผล /อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น
ก.ในรูปแบบของยาทา: การทายานี้บริเวณบาดแผลนานๆและเป็นปริมาณมาก อาจทำให้
- ตัวยาดูดซึมเข้ากระแสเลือดและทำให้เกิดพิษต่อประสาทหู (หูได้ยินลดลง) หรือ
- อาจกระตุ้นให้มีอาการแพ้ยาเกิดขึ้น
ข. ในรูปแบบของยาอม: หากอมยาเป็นปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการ
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย หรือ
- เกิดผื่นคันขึ้นตามร่างกาย
ค. ในรูปแบบของยาฉีด: อาจพบอาการ
- ถ่ายเหลว/ท้องเสียเป็นน้ำ
- ปัสสาวะมากกว่าปกติ
- มีเลือดปนในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
- ปวด/ขัดเวลาปัสสาวะ
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ผื่นคัน
- ปวดบวมในบริเวณที่ฉีดยา
มีข้อควรระวังการใช้แบคซิทราซินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแบคซิทราซิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามฉีดยานี้เข้าหลอดเลือด
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- ระวังการใช้ยานี้กับ หญิงตั้งครรภ์ และ หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยเฉพาะยาฉีด
- การใช้ยานี้เป็นเวลานานๆโดยเฉพาะการฉีดเข้ากล้ามเนื้ออาจทำให้ไตวายได้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแบคซิทราซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
แบคซิทราซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแบคซิทราซิน มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ยาแบคซิทราซินสามารถเพิ่มความเสี่ยงการเกิดพิษที่ไตได้สูงหากใช้ร่วมกับยาที่สามารถก่อให้เกิดพิษกับไตกลุ่มอื่น เช่น
- ยาในกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside)
- ยา Adefovir (ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง) หรือ
- ยาในกลุ่ม Immune globulin (ยาที่เป็นสารภูมิต้านทานโรค)
ควรเก็บรักษาแบคซิทราซินอย่างไร?
สามารถเก็บยาแบคซิทราซิน:
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แบคซิทราซินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแบคซิทราซิน มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
BACi-IM (แบไซ-ไอเอ็ม) | X-GEN |
Bacal (แบคอล) | Nakornpatana |
Banocin (แบโนซิน) | Nakornpatana |
Basina (บาซินา) | T. Man Pharma |
Citacin (ซิทาซิน) | Patar Lab |
Genquin (เจนควิน) | Seng Thai |
Izac (ไอแซค) | Thai Nakorn Patana |
Lobacin (โลบาซิน) | T.O. Chemicals |
My-B (มาย-บี) | Greater Pharma |
Mybacin (มายบาซิน) | Greater Pharma |
Mybacin Dermic (มายบาซิน เดอร์มิก) | Greater Pharma |
Novacin (โนวาซิน) | T.O. Chemicals |
Thrody (โทรดี) | Greater Pharma |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Bacillus_subtilis [2021, March6]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mybacin/?type=brief [2021, March6]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Mybacin%20Dermic/?type=brief [2021, March6]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/neomycin?mtype=generic [2021, March6]
- https://www.mims.com/myanmar/drug/info/mybacin%20lozenge [2021, March6]
- https://www.drugs.com/mtm/bacitracin-injection.html [2021, March6]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/bacitracin?mtype=generic [2021, March6]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/adefovir-with-baciim-104-0-305-13478.html [2021, March6]