แนฟาโซลีน (Naphazoline)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

แนฟาโซลีน (Naphazoline) คือ ยาหยอดตา ที่ทางคลินิกใช้เพื่อลดอาการคั่งของเลือดในบริเวณเยื่อตา และเพื่อช่วยลดอาการตาแดงและตาบวมจากเหตุดังกล่าว, ตัวยานี้ออกฤทธิ์ได้เร็ว, และถึงแม้จะไม่ใช่ยารับประทาน แต่ตัวยาฯก็สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผ่านทางหลอดเลือดในบริเวณเยื่อตาได้, ยานี้จัดเป็นยาในกลุ่ม ซิมพาโทมิเมติค (Sympathominetic agent)  

ก่อนการใช้ยาแนฟาโซลีน แพทย์จะต้องซักถามประวัติอาการป่วยว่ามีโรคเหล่านี้หรือไม่ เช่น  มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง หัวใจทำงานผิดปกติ มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (เช่นโรคเบาหวาน) ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน,  ด้วยตัวยาสามารถส่งผลเสียต่ออาการเจ็บป่วยดังกล่าวได้ 

นอกจากนี้ มีอาการโรคตาบางอย่างที่ในทางคลินิกถือเป็นข้อห้ามใช้ยาแนฟาโซลีน เช่น

  • โรคต้อหิน ด้วยตัวยานี้จะทำให้เกิดความดันตาสูงมากกว่าเดิม หรือ
  • การใช้ยานี้กับเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) อาจทำให้เกิดภาวะกดการทำงานของสมอง และอาจก่อให้เกิดภาวะโคม่าตามมา หรือทำให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงอย่างผิดปกติ

การใช้ยาแนฟาโซลีน ควรเห็นประสิทธิผลภายใน 48 ชั่วโมง, หากอาการไม่ดีขึ้น  *ผู้ป่วยควรต้องรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา

มีข้อพึงปฏิบัติบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบในขณะที่มีการใช้ยาหยอดตายาแนฟาโซลีน เช่น

  • หลีกเลี่ยงมิให้ปลายหลอดหยอดยาสัมผัสกับตาขณะทำการหยอดตา เพื่อป้องกันการปนเปื้อนต่างๆ, และหลังหยอดยา ให้ปิดปากหลอดให้สนิท, โดยไม่ต้องล้างทำความสะอาดหลอดหยอดยาแต่อย่างใด
  • การหยอดยา ให้หยอดบริเวณในเปลือกตา/หนังตาด้านล่าง โดยใช้นิ้วเปิดเปลือกตาอย่างเบามือ, เมื่อหยอดยาแล้ว ให้หลับตาแล้วใช้นิ้วมือคลึงบริเวณหัวมุมตาอย่างแผ่วเบา, รอเวลาประมาณ 1 นาทีเป็นอย่างต่ำเพื่อให้ตัวยากระจายตัวไปทั่วตา
  • ใช้ปริมาณยาหยอดตาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ไม่ใช้ยาหยอดตาที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยน  มีตะกอนเกิดขึ้น หรือมีสิ่งสกปรก เช่น  ฝุ่นผงปนลงไป

ยาหยอดตาแนฟาโซลีน สามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) เหมือนกับยาหยอดตาชนิดอื่นได้เช่นกัน เช่น รู้สึกแสบคันหลังการหยอดยา  ตาพร่า   มีน้ำตาไหลออกมามาก,  ผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการ ปวดหัว  วิงเวียน  หรือกระสับกระส่ายร่วมด้วย, ทั่วไปอาการข้างเคียงเหล่านี้จะเริ่มดีขึ้นเองหลังใช้ยาไปสักพักหนึ่ง *แต่ถ้ามีอาการมากขึ้น หรือเป็นกังวล ควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ได้ตรวจพิจารณาการรักษาอีกครั้ง

อนึ่ง: สามารถพบเห็นผลิตภัณฑ์ยาหยอดตาแนฟาโซลีนที่มียาชนิดอื่นผสมอยู่ในสูตรตำรับด้วย, และเพื่อความปลอดภัยต่อตาและต่อร่างกายของผู้บริโภค การใช้ยาแนฟาโซลีน จึงควรต้องอยู่ภายใต้การดูแลของจักษุแพทย์เท่านั้น

แนฟาโซลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แนฟาโซลีน

 

ยาหยอดตาแนฟาโซลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ช่วยลดอาการ ตาบวม และอาการตาแดง ที่มีระดับไม่รุนแรงมากนัก โดยทำให้หลอดเลือดในตาหดตัว

แนฟาโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ตัวยาแนฟาโซลีนมีกลไกการออกฤทธิ์ต่อตัวรับ(Receptor)ที่ผนังหลอดเลือดในเยื่อตาที่ ชื่อว่า ‘Alpha-adrenergic receptor’ ส่งผลให้หลอดเลือดดังกล่าวหดตัว จึงส่งผลต่อเนื่องให้ลดอาการบวม และลดอาการตาแดงของเยื่อตา, จากกลไกเหล่านี้จึงทำให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

แนฟาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแนฟาโซลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น

  • ยาหยอดตา ขนาดความเข้มข้น 1%
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น: เช่น
    • Chloramphenicol 200 มิลลิกรัม+ Prednisolone Na(Sodium) phosphate 50 มิลลิกรัม+ Naphazoline HCl(Hydrochloride) 100 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร     
    • Naphazoline HCl 0.025% + Pheniramine maleate 0.3%
    • Zinc sulfate 0.02%+ Naphazoline nitrate 0.005%

แนฟาโซลีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแนฟาโซลีนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา: เช่น

  • ผู้ใหญ่: หยดยา (ขนาดความเข้มข้น 0.1%) 1 – 2 หยด ในตาข้างที่มีอาการ บวมแดงทุกๆ 3 – 4 ชั่วโมง  ตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา
  • *เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกมาสนับสนุนความปลอดภัยของการใช้ยาหยอดตา แนฟาโซลีนในเด็ก การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยเด็กนั้น  ต้องเพิ่มความระวังเป็นอย่างมาก เพราะอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆตามมา เช่น   กดการทำงานของประสาทส่วนกลางหรือสมองจนอาจเกิดภาวะโคม่าโดยเฉพาะกับเด็กทารก นอกจากนี้ยังอาจทำให้อุณหภูมิของร่างกายของเด็กลดต่ำกว่าปกติอีกด้วย

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม  ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแนฟาโซลีน  ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก  ขึ้นผื่น  หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแนฟาโซลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตรเพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดตาควรทำอย่างไร?

หากลืมหยอดตา/หยอดยาแนฟาโซลีน สามารถใช้ยานี้หยอดตาเมื่อนึกขึ้นได้, กรณีที่เวลาของการหยอดตาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ให้ใช้ยาแนฟาโซลีนหยอดตาตามปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดที่ใช้หยอดตาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิภาพในการรักษา ควรหยอดยาแนฟาโซลีนตามคำสั่งแพทย์ และตรงเวลา

แนฟาโซลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจกล่าวในภาพรวมว่า ยาหยอดตาแนฟาโซลีน สามารถกระตุ้นให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น   

  • ตาพร่า  รูม่านตาขยาย   
  • วิงเวียน
  • ปวดหัว
  • เหงื่อมาก 
  • คลื่นไส้  
  • กระสับกระส่าย  
  • อ่อนเพลีย

*สำหรับอาการของผู้ป่วยที่ใช้ยาแนฟาโซลีนเกินขนาด เช่น อุณหภูมิของร่างกายลดต่ำลง/ตัวเย็นผิดปกติ ง่วงนอน ชีพจรเต้นช้า และไม่มีแรง, *หากพบอาการดังกล่าวควรต้องรีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แนฟาโซลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแนฟาโซลีน: เช่น           

  • ห้ามใช้ยาหยอดตาแนฟาโซลีนกับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก รวมถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามไปซื้อยานี้มาใช้เองโดยมิได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์/แพทย์สั่งใช้
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สีเปลี่ยนไป มีตะกอน หรือแม้แต่มี   ฝุ่นผงปนลงในขวดยา
  • ห้ามปรับขนาดการหยอดยาด้วยตนเอง
  • ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยาปฏิชีวนะ จึงไม่สามารถนำมาใช้ฆ่าเชื้อโรคในตา หรือไม่สามารถนำมาใช้รักษาการติดเชื้อในตาได้
  • แจ้งประวัติอาการป่วยหรือโรคประจำตัวต่อแพทย์ทุกครั้งที่มาตรวจรักษาตา ด้วยโรคบางประเภทต้องหลีกเลี่ยงการใช้ยาแนฟาโซลีน เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด   โรคความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน  โรคต่อมไทรอยด์  รวมถึงการบาดเจ็บหรือการติดเชื้อของตา
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งว่ามีการใช้ยาอะไรอยู่ก่อนหน้านี้ ด้วยยาบางกลุ่มอาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับแนฟาโซลีน เช่น  ยากลุ่ม MAOIs
  • *หากอาการ บวม แดง ของตายังไม่ดีขึ้นหลังใช้ยานี้ไปแล้วประมาณ 48 ชั่วโมง  ให้ผู้ป่วยรีบกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล
  • *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยา เช่น แน่นหน้าอก  หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก  ใบหน้าบวม  มีผื่นคันขึ้นตามร่างกาย, และ*รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีมีการนัดหมายกับแพทย์เพื่อดูความคืบหน้าของการรักษา ให้มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามที่นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแนฟาโซลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แนฟาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแนฟาโซลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแนฟาโซลีน ร่วมกับยากลุ่ม MAOIs ด้วยจะทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงตามมา
  • การใช้ยาหยอดตาแนฟาโซลีน ร่วมกับยา Albuterol/Salbutamol, Selegiline ,  Turbutaline,  อาจทำให้ หัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงมีความดันโลหิตสูงตามมา  กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน  แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาหยอดตาแนฟาโซลีน ร่วมกับยา Ergotamine อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ตามร่างกาย  ผู้ป่วยอาจมีอาการ ชา ผิวสีซีด ปวดที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัวมาก ปวดท้อง ตาพร่า เจ็บหน้าอก หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันและเพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าว  แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาแนฟาโซลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาแนฟาโซลีน: เช่น

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง ความร้อน และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แนฟาโซลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแนฟาโซลีน   มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Levoptin Simplex (เวโวบทิน ซิมเพล็ก) Archifar
Naphcon-A (แนฟคอน-เอ) Alcon
Oculosan (โอคิวโลแซน) Excelvision AG

 

อนึ่ง: ยาชื่อการค้าอื่นของยาแนฟาโซลีนในประเทศตะวันตก เช่น AK-Con, Albalon, Allersol, Clear Eyes, Clear Eyes + Redness Relief, Naphcon, Redness Relief Eye Drops

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/mtm/naphazoline-ophthalmic.html  [2022,Nov19]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Naphazoline  [2022,Nov19]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/search?q=naphazoline  [2022,Nov19]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/naphazoline-ophthalmic-index.html?filter=2&generic_only=  [2022,Nov19]