แนนโดรโลน (Nandrolone)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 20 กันยายน 2559
- Tweet
- บทนำ
- แนนโดรโลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
- แนนโดรโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แนนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แนนโดรโลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แนนโดรโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แนนโดรโลนอย่างไร?
- แนนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแนนโดรโลนอย่างไร?
- แนนโดรโลนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- วัยหมดประจำเดือน (Menopause)
บทนำ
ยาแนนโดรโลน(Nandrolone) หรืออาจเรียกว่า 19-นอร์เทสโทสเตอโรน (19-nortestosterone) ซึ่งตัวยาอาจอยู่ในรูปแบบของ Nandrolone decanoate หรือ Nandrolone phenylpropionate จัดเป็นยาสเตียรอยด์ประเภท อะนาโบลิก-แอนโดรจินิก สเตียรอยด์ (Anabolic-androgenic steroid หรือ Anabolic steroid, ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศชาย) ซึ่งมีฤทธิ์เสริมสร้างการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อต่างๆในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ มวลกระดูก และยังเพิ่มความสามารถของเม็ดเลือดแดงที่คอยนำออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆได้มากขึ้น รวมถึงส่งผลกระตุ้นความอยากอาหารของร่างกายอีกด้วย
ทางคลินิกได้นำยาแนนโดรโลนมาบำบัดรักษาอาการโลหิตจาง (Aplastic anaemia), ภาวะกระดูกพรุนหลังวัยหมดประจำเดือน, โรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย(Metastatic breast carcinoma), และใช้เสริมสร้างร่างกายที่อ่อนเพลียหลังจากการเจ็บป่วย
รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาแนนโดรโลนจะเป็นยาฉีดประเภทฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ยาแนนโดรโลนจะถูกทำลายโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลา 6 วันโดยประมาณ เพื่อกำจัดยาแนนโดรโลนออกจากกระแสเลือด และผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะ
มีข้อห้ามบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาแนนโดรโลนได้ เช่น
- ผู้ป่วยเพศชายที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม หรือมีแนวโน้มเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยยานี้อาจทำให้โรคลุกลามมากขึ้น
- สตรีที่เป็นมะเร็งเต้านมที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง ด้วยยาแนนโดรโลนอาจกระตุ้นให้มีการสลายมวลกระดูกมากยิ่งขึ้น จึงยิ่งเพิ่มปริมาณแคลเซียมในเลือดให้สูงมากขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
- สตรีตั้งครรภ์ ด้วยจะทำให้ทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตผิดปกติ โดยก่อให้เกิดภาวะบุรุษภาพในทารกเพศหญิง
- ผู้ที่มีโรคไตชนิดภาวะไตรั่ว/มีโปรตีนปนมาในปัสสาวะ(Nephrotic syndrome)
ทั้งนี้ การใช้ยาแนนโดรโลนสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)บางอย่างได้ เช่น ทำให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีภาวะข้อเท้าบวม หัวล้าน สีผิวเปลี่ยนแปลง ท้องเสีย อารมณ์ทางเพศลดลง เป็นต้น
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุสูตรตำรับของยาแนนโดรโลนที่มีใช้ในประเทศให้อยู่ในหมวดยาอันตราย ทั้งนี้การใช้ยาแนนโดรโลนจะต้องกระทำในสถานพยาบาล และต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาแต่ผู้เดียว
แนนโดรโลนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?
ยาแนนโดรโลนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- บำบัดรักษาภาวะกระดูกพรุนหลังวัยหมดประจำเดือน
- บำบัดรักษาภาวะโลหิตจาง (Aplastic anaemia)ที่รวมถึงภาวะโลหิตจางจากการป่วยด้วยภาวะไตล้มเหลว
- บำบัดโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย(Metastatic breast carcinoma)
แนนโดรโลนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแนนโดรโลน มีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะเป็นยาสเตียรอยด์ที่เสริมสร้างมวลเนื้อเยื่อต่างๆรวมถึงมวลกระดูกของร่างกาย ส่งผลให้เกิดการเพิ่มฮีโมโกลบิน(Hemoglobin)ของเม็ดเลือดแดง และทำให้การลำเลียงออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆของร่างกายเกิดได้เต็มที่ จากกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการเสริมสร้างเนื้อเยื่อและของการรักษาตามสรรพคุณ
แนนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแนนโดรโลนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็น ยาฉีด ขนาด 25, 50,และ 250 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
แนนโดรโลนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแนนโดรโลนมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. รักษาภาวะโลหิตจาง จากการได้รับยาเคมีบำบัด:
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 50 – 150 มิลลิกรัม/สัปดาห์
ข.รักษาภาวะกระดูกพรุน, โรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย(Metastatic breast carcinoma), และภาวะกระดูกพรุนหลังวัยหมดประจำเดือน:
ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 25 – 100 มิลลิกรัม ทุกๆ 3 – 4 สัปดาห์
ค.รักษาภาวะโลหิตจางจากภาวะไตวายเรื้อรัง:
ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ ขนาด 50 – 200 มิลลิกรัม/สัปดาห์
*อนึ่ง: ในเด็ก: ยังไม่มีการศึกษาที่ให้ผลแน่ชัดถึงประโยชน์และโทษ/ผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยเด็ก ดังนั้นการใช้ยานี้ในผู้ป่วยเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแนนโดรโลน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแนนโดรโลน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แนนโดรโลนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแนนโดรโลนอาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เกิดภาวะบวมน้ำหรือเกิดภาวะคั่งของเหลวในร่างกาย
- ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น สมรรถภาพทางเพศน้อยลง ต่อมลูกหมากโต
- ผลต่อตับ: เช่น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ เกิดเนื้องอกในตับ ดีซ่าน
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดได้ง่าย เพิ่มการผลิตเม็ดเลือดแดงจนอาจทำให้เกิดภาวะเลือดหนืด
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะแคลเซียมในเลือด สูงจากมีการสลายตัวของมวลกระดูก มีแคลเซียมปนมากับปัสสาวะ เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันชนิดแอลดีแอล (LDL)ในเลือดเพิ่มสูงขึ้น
- ผลต่อไต: เกิดภาวะผิดปกติของเกลือแร่(Electrolyte)ในเลือด เช่ย โซเดียมในเลือดสูง โพแทสเซียมในเลือดสูง ภาวะตัวบวมจากมีน้ำคั่งในเลือด เป็นต้น
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ ซึมเศร้า อารมณ์ทางเพศต่ำ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีสิวเกิดขึ้น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
มีข้อควรระวังการใช้แนนโดรโลนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแนนโดรโลน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ที่มีภาวะโรคไตชนิดไตรั่ว/มีสารโปรตีนในปัสสาวะ
- ห้ามใช้ยานี้กับ เด็ก สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยเบาหวาน
- เฝ้าระวังภาวะบวมน้ำของร่างกาย รวมถึงการเกิดตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
- ระวังการเกิดบุรุษภาพในกรณีที่ใช้ยานี้กับสตรี เช่น มีขนดก เสียงห้าว
- ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแนนโดรโลนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แนนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแนนโดรโลนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาแนนโดรโลนร่วมกับยา Warfarin, Anisindione, อาจทำให้เกิดภาวะ เลือดออกง่าย กรณีที่จำเป็นที่ต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาแนนโดรโลนร่วมกับยา Mipomersen(ยาลดไขมันในเลือด), Leflunomide, Teriflunomide อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของตับ/ตับอักเสบ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาแนนโดรโลนอย่างไร?
ควรเก็บยาแนนโดรโลน ในช่วงอุณหภูมิ 15 -30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แนนโดรโลนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแนนโดรโลนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Nandro 250 (แนนโดร 250) | Samarth Pharma |
Deca-Durabolin (เดกา-ดูราโบลิน) | Aspen Pharmacare |
อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ในต่างประเทศ เช่น Anabolin, Durabolin, Hybolin, Decabolin, Hydeca
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nandrolone [2016,Sept3]
- https://www.drugs.com/sfx/nandrolone-side-effects.html [2016,Sept3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/nandrolone/?type=brief&mtype=generic [2016,Sept3]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/nandrolone-index.html?filter=3&generic_only= [2016,Sept3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/nandro%20250/?type=brief [2016,Sept3]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/deca-durabolin/ [2016,Sept3]