แดนโทรลีน (Dantrolene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแดนโทรลีน (Dantrolene หรือ Dantrolene sodium) เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่อยู่ในกลุ่มอนุพันธุ์ของยาไฮแดนโทอิน (Hydantoin derivatives) ยานี้ถูกกล่าวถึงในวงการวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 (พ.ศ. 2510) ต่อมาได้ค้นพบว่ายาแดนโทรลีนสามารถบำบัดภาวะร่างกายมีอุณหภูมิสูงเมื่อได้รับยาสลบบางประเภท (Malignant hyperthermia)ได้อีกด้วย

ยาแดนโทรลีนเป็นยาที่ก่อให้เกิดพิษกับตับของผู้ป่วยได้ถึงขั้นรุนแรง ทุกครั้งที่มีการใช้ยานี้ ผู้ป่วยจึงมักได้รับการตรวจและเฝ้าระวังการทำงานของตับควบคู่กันไป รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด

ยาแดนโทรลีนสามารถถูกดูดซึมอย่างช้าๆจากระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ เมื่อตัวยานี้เข้าสู่กระแสเลือดจะเกิดการรวมกับพลาสมาโปรตีนและจะถูกส่งไปยังตับเพื่อผ่านขั้นตอนการทำลายโครงสร้างของยาก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับปัสสาวะและบางส่วนไปกับอุจจาระ โดยใช้เวลาประมาณ 9 ชั่วโมงกับกระบวนการดังกล่าว

ผู้ที่ได้รับยาแดนโทรลีนอาจได้รับผลข้างเคียงต่างๆจากยานี้โดยเฉพาะผลต่อการทำงานของประสาทส่วนกลางเช่น มีอาการพูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ เกิดภาวะซึมเศร้า และสับสน เป็นต้น อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆเหล่านี้สามารถหายได้เองหลังจากหยุดการใช้ยานี้ กรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยาแดนโทรลีนเป็นเวลานานและเกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นมา แนะนำให้ต้องรีบปรึกษาแพทย์ผู้รักษา/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการใช้ยานี้หรืออาจต้องใช้ยาอื่นเพื่อบรรเทาอาการข้างเคียงเหล่านั้น

นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ผู้บริโภค/ผู้ป่วยควรทราบก่อนการใช้ยาแดนโทรลีน อย่างเช่น

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาต่างๆต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งรวมยาแดนโทรลีนด้วย
  • กรณีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตรจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงต่อการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยานี้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวดังต่อไปนี้จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีความรุนแรงของอาการป่วยเพิ่มขึ้นหากได้รับยาแดนโทรลีนอาทิ ผู้มีประวัติป่วยด้วยโรคตับ โรคปอด โรคหัวใจ
  • ผู้ที่ได้รับยาบำบัดทางจิตต่างๆ (ยารักษาทางจิตเวช) จัดเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อาจได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากการใช้ยานี้ได้
  • ผู้ที่ได้รับยาประเภทแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาแดนโทรลีน หรือการใช้ยานี้ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้ออื่นเช่น ไซโคลเบนซาพรีน (Cyclobenzaprine) เพราะสามารถก่อให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรงในผู้ป่วยได้
  • ผู้ที่มีการใช้กลุ่มยาที่ต้องผ่านการทำลายที่ตับอย่างเช่น Estrogen, Acetaminophen, Methotrexate, Ketoconazole, Isoniazid หรือยาที่ใช้รักษาโรคเอชไอวี กลุ่มยาเหล่านี้หากใช้ร่วมกับยาแดนโทรลีนย่อมจะก่อผลเสียต่อตับและทำให้ตับของผู้ป่วยเสียหายได้มากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้บรรจุให้ยาแดนโทรลีนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุเงื่อนไขของการใช้ยาเพื่อรักษาภาวะอาการ Malignant hyperthermia ผู้บริโภคสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของการใช้ยานี้จากแพทย์/เภสัชกรได้โดยทั่วไป

แดนโทรลีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แดนโทรลีน

ยาแดนโทรลีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ใช้ป้องกันภาวะ Malignant hyperthermia ก่อนและหลังการผ่าตัด
  • ใช้เป็นยาคลายกล้ามเนื้อ

แดนโทรลีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแดนโทรลีนมีกลไกการออกฤทธิ์โดยตรงที่กล้ามเนื้อโดยช่วยระงับหรือชะลอการหดตัวของกล้ามเนื้อด้วยการรบกวนการปลดปล่อยประจุแคลเซียมจากเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อลายที่เรียกกันว่า ซาโคพลาสมิก เรติคิวลัม (Sarcoplasmic reticulum) ส่งผลให้ลดปัจจัยที่ทำให้เกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อรวมถึงชะลอการเผาผลาญพลังงานในเซลล์กล้ามเนื้อซึ่งเป็นที่มาของภาวะ Malignant hyperthermia

แดนโทรลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแดนโทรลีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทานขนาด 25, 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาผงปราศจากเชื้อชนิดเพื่อผสมสารละลายสำหรับการใช้ฉีดขนาด 20 มิลลิกรัม/ขวด

แดนโทรลีนมีขนาดรับประทานยาอย่างไร?

ยาแดนโทรลีนมีขนาดรับประทานเช่น

ก. ช่วยคลายกล้ามเนื้อเพื่อบำบัดอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งแบบเรื้อรัง:

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นรับประทานยาครั้งละ 25 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และรับประทานเป็นครั้งละ 50 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และช่วงสุดท้ายแพทย์อาจให้รับประทานครั้งละ 100 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้งต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์
  • เด็ก: รับประทานครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นรับประทานครั้งละ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และรับประทานครั้งละ 1 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้งเป็นเวลา 7 วัน และช่วงสุดท้ายแพทย์อาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็นครั้งละ 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 3 ครั้งต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์

ข. ช่วยป้องกันหรือรักษาภาวะ Malignant hyperthermia ก่อนและหลังการผ่าตัด: การป้องกันรักษาอาการของ Malignant hyperthermia ให้ใช้ขนาดยาตามเอกสารกำกับยาเป็นแนวทางร่วมกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา ด้วยมีความซับซ้อนและทำความเข้าใจได้ยากจึงขอไม่ระบุในบทความนี้

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแดนโทรลีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแดนโทรลีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแดนโทรลีนสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาแดนโทรลีนตรงเวลา

แดนโทรลีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแดนโทรลีนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระ บบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น

  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ทำให้ง่วงนอน วิงเวียน การพูดจาไม่ชัดเจน ปวดศีรษะ เกิดอาการชัก ประสาทหลอน
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกอย่างรุนแรงหรือมีอาการท้องเสีย เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะโลหิตจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ หรืออาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphocytic lymphoma)
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตไม่คงที่
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจพบว่าเกิดสิวตามผิวหนังได้บ้าง และเกิดผื่นคัน
  • ผลต่อการมองเห็น: เช่น การมองเห็นภาพผิดปกติ ไม่ชัดเจน
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีภาวะน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด ปอดบวม

*อนึ่ง อาการของผู้ที่ได้รับยาแดนโทรลีนเกินขนาดจะสังเกตจากมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หมดสติถึงเข้าขั้นโคม่า อาเจียน ท้องเสีย หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แดนโทรลีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแดนโทรลีนเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามใช้ยาที่เสื่อมสภาพแล้ว
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับระยะรุนแรง ผู้ป่วยกล้ามเนื้อหดเกร็งอย่างเฉียบพลัน
  • ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแดนโทรลีนด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แดนโทรลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแดนโทรลีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • ห้ามใช้ยาแดนโทรลีนร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน และมีการครองสติได้ยากขึ้น
  • การใช้ยาแดนโทรลีนร่วมกับยา Brompheniramine, Chlorpheniramine, Cetirizine, Diphenhydramine, Tramadol, Triprolidine อาจทำให้เกิดภาวะวิงเวียน ง่วงนอน รู้สึกสับสน สูญเสียความสามารถในการตัดสินใจ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาแดนโทรลีนร่วมกับยา Amlodipine อาจทำให้ร่างกายมีระดับของเกลือโพแทส เซียมในเลือดสูงและเป็นเหตุให้เกิดไตวายได้ กรณีที่ไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาแดนโทรลีนอย่างไร?

ควรเก็บยาแดนโทรลีนทั้งชนิดรับประทานและฉีดในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

แดนโทรลีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแดนโทรลีนที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Dantrium (แดนเทรียม) Pfizer

อนึ่งยาชื่อการค้าอื่นของยาแดนโทรลีนในประเทศตะวันตกเช่น Revonto

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dantrolene [2016,April16]
  2. http://emedicine.medscape.com/article/2231150-overview [2016,April16]
  3. http://www.drugs.com/cdi/dantrolene.html [2016,April16]
  4. http://www.mims.com/India/drug/info/dantrolene/?type=full&mtype=generic [2016,April16]
  5. http://drug.fda.moph.go.th:81/nlem.in.th/medicine/essential/list/663#item-10219 [2016,April16]
  6. http://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2012/017443s043s046s048s049lbl.pdf [2016,April16]
  7. http://www.medsafe.govt.nz/profs/datasheet/d/DantriumIVinj.pdf [2016,April16]