แคสโปฟังกิน (Caspofungin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 พฤษภาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- แคสโปฟังกินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้แคสโปฟังกินอย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาแคสโปฟังกินอย่างไร?
- แคสโปฟังกินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- แอคไคโนแคนดิน (Echinocandin)
- ยาต้านเชื้อรา (Antifungal drugs)
- เชื้อรา โรคเชื้อรา (Fungal infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
บทนำ
ยาแคสโปฟังกิน (Caspofungin) เป็นยาต้านเชื้อราในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน (Echinocandin) ทางคลินิกนำมาใช้เป็นยาต่อต้านเชื้อราทั้งชนิดแอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) และชนิดแคนดิดา (Candida) โดยตัวยามีกลไกการออกฤทธิ์ไปยับยั้งการสร้างผนังเซลล์ของเชื้อรา รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้ถูกออกแบบให้เป็นยาฉีดเท่านั้น
เมื่อยาแคสโปฟังกินเข้าสู่กระแสเลือด จะมีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 97% ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 9 - 11 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาแคสโปฟังกินออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ข้อควรระวังของการใช้ยาแคสโปฟังกินคือ การมีผลกระทบ/ผลข้างเคียงต่อตับของผู้ป่วย นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานี้ได้หรือไม่ก็ต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมากอาทิเช่น
- มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน
- สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายจากการใช้ยาทุกประเภทซึ่งรวมยาแคสโปฟังกินด้วย
- การใช้ยาแคสโปฟังกินในผู้สูงอายุต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากด้วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ อาจได้รับผลกระทบ/อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) จากยาแคสโปฟังกินได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- ผู้ที่มีการใช้ยาอื่นบางกลุ่มอยู่ก่อนเช่น Carbamazepine, Dexamethasone, Efavirenz, Nevirapine, Phenytoin และ Rifampin หากใช้ร่วมกับยาแคสโปฟังกินจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของของยาแคสโปฟังกินลดน้อยลงไป
- ยานี้ใช้ต่อต้านเชื้อราจึงถือเป็นข้อห้ามและไม่เหมาะในการนำมารักษาอาการติดเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียเพราะยานี้ไม่สามารถฆ่า/ต้านเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรียได้
กรณีที่แพทย์สั่งจ่ายยานี้ให้กับผู้ป่วย อาจจะพบอาการข้างเคียงบางอย่างที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเช่น ท้องเสีย ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ไอ และอาเจียน
ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาแคสโปฟังกินจัดอยู่ในกลุ่มยาควบคุมพิเศษและมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ผู้บริโภค/ผู้ป่วยสามารถสอบถามข้อมูลการใช้ยาแคสโปฟังกินเพิ่มเติมได้จากแพทย์ผู้รักษา และ/หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลนั้นๆได้
แคสโปฟังกินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแคสโปฟังกินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น
- รักษาการติดเชื้อราชนิดแคนดิดาที่หลอดอาหาร (Esophageal candidiasis)
- รักษาการติดเชื้อราชนิดแอสเปอร์จิลลัสในระยะลุกลาม (Aspergillus-Invasive)
- รักษาการติดเชื้อราชนิดแคนดิดาในกระแสเลือด (Candidemia)
- รักษาภาวะมีไข้จากเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล (Neutrophil) ในกระแสโลหิตต่ำกว่าปกติ (Febrile Neutropenia) อันมีเหตุจากเชื้อรา
แคสโปฟังกินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคสโปฟังกินคือ ตัวยาจะเข้ายับยั้งการทำงานของเอนไซม์ซึ่งมีอยู่ในเชื้อราที่มีชื่อเรียกว่า 1,3-เบต้า-ดี-กลูแคน ซินเทส (1,3-beta-D-glucan synthase) ส่งผลให้เชื้อราไม่สามารถสร้างผนังเซลล์ได้ทำให้เซลล์ของเชื้อราแตกออกและตายลงในที่สุด จากกลไกดังกล่าวจึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
แคสโปฟังกินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคสโปฟังกินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาฉีดขนาด 50 และ 70 มิลลิกรัม/ขวด
แคสโปฟังกินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาแคสโปฟังกินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาขึ้นกับชนิดของเชื้อรา ความรุนแรงของอาการ และดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาจึงต่างกันในผู้ป่วยแต่ละกรณี ทั้งนี้ในบทความนี้ขอยกตัวอย่างเช่น
ก. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดาในกระแสเลือด (Candidemia):
- ผู้ใหญ่: วันแรกฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 70 มิลลิกรัมครั้งเดียว วันถัดมาฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัมวันละครั้ง ระยะของการใช้ยาไม่ควรต่ำกว่า 14 วันหรือตามคำสั่งแพทย์ และขนาดการใช้ยาสูงสุดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป: วันแรกฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 70 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง (Body surface area) 1 ตารางเมตร วันต่อมาฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตร ระยะของการใช้ยาไม่ควรต่ำกว่า 14 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/วัน
ข. สำหรับการติดเชื้อราแคนดิดาที่หลอดอาหาร (Esophageal candidiasis):
- ผู้ใหญ่: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 7 - 14 วัน ขนาดการใช้ยาสูงสุดขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- เด็กอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป: วันแรกฉีดยาเข้าหลอดดำเลือดขนาด 70 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตรครั้งเดียว วันต่อมาฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 50 มิลลิกรัม/พื้นที่ผิวหนัง 1 ตารางเมตรวันละครั้งเป็นเวลา 7 - 14 วัน ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 70 มิลลิกรัม/วัน
ค. เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือน: ยังไม่มีข้อมูลทางคลินิกที่แน่ชัดในการใช้ยานี้กับเด็กกลุ่มวัยนี้ การใช้ยานี้ในเด็กวัยนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป
*****หมายเหตุ: ขนาดและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคสโปฟังกิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแคสโปฟังกินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กินอยู่/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
แคสโปฟังกินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคสโปฟังกินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่ออวัยวะระบบต่างๆของร่างกายดังนี้เช่น
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และเบื่ออาหาร
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง Eosinophilia (เม็ดเลือดขาวชนิด Eosinophil ในเลือดสูง) Thrombocytopenia (เกล็ดเลือดต่ำ) Febrile neutropenia รวมถึงภาวะสารโปรตีนในเลือดต่ำ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน และมีภาวะชัก
- ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า รู้สึกสับสน
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจเต้นเร็วหรือไม่ก็ช้า ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ หัวใจล้มเหลว
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ลมพิษ อาจมีภาวะ Stevens-Johnson syndrome
- ผลต่อตับ: เช่น ระดับสารบิลิรูบินในเลือดสูง ตับอักเสบ มีภาวะตับโต ตัวเหลือง ตับวาย
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรืออาจเพิ่มสูงขึ้น ระดับเกลือแคลเซียมในเลือดสูง เกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ และเกลือแมกนีเซียมในเลือดลดต่ำ เบื่ออาหาร
- ผลต่อไต: เช่น ทำให้ไตอักเสบ คลีเอตินิน (Creatinine, ค่าการทำงานของไต) ในเลือดสูง ไตวาย
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ ปอดบวม เกิดภาวะหยุดหายใจ ร่างกายขาดออกซิเจน
มีข้อควรระวังการใช้แคสโปฟังกินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคสโปฟังกินเช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ยาในกลุ่มแอคไคโนแคนดิน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
- ระหว่างการใช้ยานี้แล้วพบว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นเช่น มีผื่นคันขึ้นเต็มตัว แน่นหน้าอก/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ต้องหยุดการใช้ยานี้ทันทีพร้อมกับแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็วทันที
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับโรคไตด้วยตัวยาแคสโปฟังกินสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะดังกล่าวได้
- ระหว่างใช้ยานี้หากพบอาการข้างเคียงที่รุนแรงเช่น ความดันโลหิตต่ำ ต้องรีบแจ้งแพทย์/ พยาบาลโดยเร็วทันที
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดและต้องมารับการให้ยานี้จนครบคอร์ส (Course) การรักษาตามแพทย์สั่งถึงแม้อาการจะดีขึ้น
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคสโปฟังกินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ
แคสโปฟังกินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคสโปฟังกินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น
- การใช้ยาแคสโปฟังกินร่วมกับยา Dexamethasone, Phenobarbital, Somatropin (ฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต) อาจทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยาแคสโปฟังกินด้อยลงไป กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาแคสโปฟังกินร่วมกับยา Tacrolimus อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Tacrolimus ด้อยลงไป กรณีที่ต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาแคสโปฟังกินอย่างไร
ควรเก็บยาแคสโปฟังกินในช่วงอุณหภูมิ 2 - 8 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
แคสโปฟังกินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคสโปฟังกินที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Cancidas (แคนซิดาส) | MSD |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Caspofungin [2016,April30]
- http://www.mims.com/Thailand/drug/info/Cancidas/?type=brief [2016,April30]
- http://www.mims.com/thailand/drug/info/caspofungin/?type=brief&mtype=generic [2016,April30]
- http://www.drugs.com/cdi/caspofungin.html [2016,April30]
- http://www.drugs.com/drug-interactions/caspofungin-index.html?filter=3&generic_only= [2016,April30]