แคลเทรต (Caltrate) แคลเทรต พลัส (Caltrate plus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

แคลเทรต (Caltrate) คือ ยาใช้เสริมสร้างธาตุ/เกลือแร่แคลเซียมให้กับร่างกาย รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้เป็นชนิดเม็ดสำหรับรับประทาน โดยมีชื่อการค้าแตกต่างกันเล็กน้อยดังนี้

  • Caltrate 600: 1 เม็ดประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ แคลเซียมคาร์บอเนต 600 มิลลิกรัม และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาทั่วไปกล่าวคือ ยาที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ หรือ ยาควบคุมพิเศษ หรือยาเสพติด หรือยาอันตราย
  • Caltrate 600 + D 400: 1 เม็ดประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ แคลเซียมคาร์บอเนต 600 มิลลิกรัมและวิตามินดี 400 ยูนิต ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาทั่วไป
  • Caltrate plus: 1 เม็ดประกอบด้วยตัวยาสำคัญคือ แคลเซียมคาร์บอเนต 600 มิลลิกรัม + วิตามิน-ดี 200 ยูนิต + ธาตุแมกนีเซียม 50 มิลลิกรัม + ธาตุสังกะสี 7.5 มิลลิกรัม + ธาตุทอง แดง 1 มิลลิกรัม + ธาตุแมงกานีส (Manganese) 1.8 มิลลิกรัม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาทั่ว ไปเช่นกัน

ข้อบ่งใช้หลักของยานี้คือ ใช้เป็นยารักษาภาวะกระดูกพรุนและเสริมสร้างเกลือแคลเซียม, วิตามินดี, ในผู้ป่วยสูงอายุ การใช้ยาชนิดนี้ในผู้บริโภคแต่ละวัยมีความแตกต่างกันเช่น

  • ในผู้สูงอายุ: อาจต้องรับประทานวันละ 2 เม็ดโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น
  • แต่สตรีตั้งครรภ์: รับประทาน 1 เม็ด/วันก็เพียงพอ

การได้รับยานี้เป็นปริมาณมากเกินไปอาจจะส่งผลเสียต่อร่างกายเช่น มีอาการเบื่ออาหาร, กระหายน้ำ, คลื่นไส้อาเจียน, ฯลฯ อีกทั้งระยะเวลาในการรับประทานยานี้จะต้องเป็นไปตามความเห็นของแพทย์ ซึ่งก่อนการใช้ยานี้แพทย์มักจะซักถามประวัติผู้ป่วยว่ามีภาวะของนิ่วในไตหรือไม่, ป่วยด้วยโรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis:โรคที่เกิดมีการอักเสบในอวัยวะต่างๆได้หลายอวัยวะพร้อมกันโดยเฉพาะ ปอด เป็นโรคพบได้น้อย ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน)หรือไม่, และอาจต้องตรวจปริมาณแคลเซียมในเลือดเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบกับการใช้ยาแคลเทรตได้อย่างเหมาะสม

แคลเทรตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

แคลเทรต

ยาแคลเทรตมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ป้องกันและรักษาภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)

แคลเทรตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเทรตจะขึ้นกับธรรมชาติของตัวยาสำคัญที่นำมาเป็นส่วน ประกอบเช่น

  • แคลเซียมคาร์บอเนต: จะปลดปล่อยธาตุแคลเซียมให้กับร่างกายเพื่อนำไปใช้เสริม สร้างและซ่อมแซมกระดูก
  • วิตามินดี: ช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุแคลเซียมจากลำไส้เล็กและนำไปเสริมสร้างกระดูกได้รวดเร็วมากขึ้น
  • แมกนีเซียม: ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของฟันและกระดูก
  • ธาตุ สังกะสี ทองแดง และแมงกานีส: เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการพัฒนาและซ่อมแซม กล้ามเนื้อและกระดูก

ทั้งนี้ จากกลไกของสารสำคัญที่กล่าวมาจะส่งผลให้เกิดฤทธิ์ในการป้องกันและรักษาโรค กระดูกพรุน<ฝp>

แคลเทรตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลเทรตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน

แคลเทรตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาแคลเทรตในแต่ละชื่อการค้ามีขนาดรับประทาน เช่น

  • Caltrate 600: ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 1 - 2 เม็ด
  • Caltrate 600 + D 400: ผู้ใหญ่รับประทานวันละ 1 เม็ด
  • Caltrate plus: ผู้ใหญ่รับประทาน 1 - 2 เม็ด/วันโดยแบ่งรับประทานเช้า - เย็น หรือตาม คำสั่งแพทย์

*อนึ่ง:

  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): โรคกระดูกพรุนเป็นโรคของผู้ใหญ่จึงยังไม่มีข้อมูลการศึกษาการใช้ยานี้ในเด็ก
  • เพื่อช่วยเพิ่มการดูดซึมควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเทรต ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเทรตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลเทรตสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

แคลเทรตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจกล่าวโดยรวมๆได้ว่า ยาแคลเทรตสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น

  • การรับรสชาติเปลี่ยนไป
  • ท้องผูก
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • เป็นตะคริวที่ท้อง
  • กระหายน้ำ
  • ง่วงนอน
  • เกิดนิ่วในไต
  • ปวดปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะมาก
  • ตรวจปัสสาวะพบมีปริมาณเกลือแคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มขึ้น

*อนึ่ง: อาการของผู้ที่ได้รับยานี้เกินขนาดอาจพบสัญญาณเตือนดังนี้ เช่น ท้องผูกมาก, ปากคอแห้ง, ปวดหัว, กระหายน้ำ, เบื่ออาหาร, ซึมเศร้า, อ่อนเพลีย, รู้สึกสับสน, ง่วงนอน, ความดันโลหิตสูง, ชีพจรเต้นเร็วหรือช้า, คลื่นไส้อาเจียน, ปัสสาวะถี่และมีปริมาณมาก, หากพบอาการดังกล่าวควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

มีข้อควรระวังการใช้แคลเทรตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเทรต เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคนิ่วในไต โรคไต ผู้ที่มีเกลือแคลเซียมในเลือดสูง และ/หรือในปัสสาวะสูงเกินค่าปกติ
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
  • การใช้ยากับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ ควรเป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเทรตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสรมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

แคลเทรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลเทรตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแคลเทรต ร่วมกับ ยาขับปัสสาวะกลุ่มไทอะไซด์ (Thiazide) จะทำให้การขับปัสสาวะมีมากขึ้นและทำให้ปริมาณแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้แคลเทรต ร่วมกับ ยากลุ่ม Digitalis, Cardiac glycosides, หรือยากลุ่ม Calcium channel blockers อาจกระตุ้นให้เกิดผลข้างเคียงของยากลุ่มดังกล่าวติดตามมาได้มากขึ้น หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้แคลเทรต ร่วมกับ ยากลุ่ม Cortisone หรือ Prednisone อาจทำให้ระดับความเข้มข้นของเกลือแคลเซียมในกระแสเลือดลดต่ำลงและส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษา หากจำเป็น ต้องใช้ยาร่วมกันควรปรับขนาดการใช้ยาต่างๆให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • การใช้ยาแคลเทรต ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะ เช่นยา Tetracyclines หรือ Fluoroquinolones อาจเกิดการรบกวนการดูดซึมของยาปฏิชีวนะ เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ดังกล่าวผู้ป่วยควรรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนประมาณ 2 ชั่วโมง หรือหลังจากรับประทานยาแคลเทรตไปแล้วเป็นเวลาประมาณ 4 - 6 ชั่วโมง

ควรเก็บรักษาแคลเทรตอย่างไร?

ควรเก็บยาแคลเทรต: เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิ 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

แคลเทรตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลเทรตมียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Caltrate 600 (แคลเทรต 600) Pfizer Consumer Healthcare
Caltrate 600+D400 (แคลเทรต 600+ดี400) Pfizer Consumer Healthcare
Caltrate Plus (แคลเทรต พลัส) Pfizer Consumer Healthcare

บรรณานุกรม

  1. https://www.mims.com/Thailand/Viewer/Html/PoisonCls.htm [2021,Oct9]
  2. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Caltrate%20600/?type=brief [2021,Oct9]
  3. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Caltrate%20Plus/?type=full#Indications [2021,Oct9]
  4. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements-vitamin-d/art-20363792 [2021,Oct9]
  5. https://www.drugs.com/cdi/caltrate.html [2021,Oct9]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Caltrate [2021,Oct9]