แคลเซียม ฟอสเฟต (Calcium phosphate)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

แคลเซียม (Calcium)เป็นเกลือแร่ที่จำเป็นต่อระบบการทำงานต่างๆของร่างกาย โดยเฉพาะด้านเสริมสร้างและคงระดับมวลกระดูก(บทความในเว็บhaamor.com, มวลกระดูก-ความหนาแน่นกระดูก) ทั้งนี้ ยาแคลเซียม ฟอสเฟต(Calcium phosphate) เป็นหนึ่งรูปแบบของเกลือแคลเซียมที่ทางการแพทย์นำมาใช้ป้องกันและรักษาภาวะร่างกายขาดแคลเซียม (Calcium deficiencies) แต่อย่างไรก็ตามการจะรับประทานแคลเซียม ฟอสเฟตควรต้องได้รับการตรวจร่างกายและปรึกษาแพทย์เสียก่อน

ทั้งนี้มีข้อจำกัดบางประการที่ผู้ป่วยบางกลุ่มควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาประเภทแคลเซียม เช่น มีประวัติเป็นก้อนนิ่วในไต, หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับต่อมพาราไทรอยด์/ ต่อมเคียงไทรอยด์ทำงานผิดปกติ, นอกจากนี้ยังต้องทราบเกี่ยวกับผลข้างเคียงขณะที่ใช้ยาประเภทมีแคลเซียม เช่น

  • เกิดอาการคลื่นไส้-อาเจียน
  • เบื่ออาหาร
  • ท้องผูก
  • ปากคอแห้ง
  • ปัสสาวะบ่อย เป็นต้น

รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยาแคลเซียม ฟอสเฟตส่วนมากเป็นยารับประทานทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำ ในสูตรตำรับจะประกอบด้วยกลุ่มวิตามินและเกลือแร่ชนิดต่างๆร่วมกับแคลเซียม ฟอสเฟต ซึ่งทำให้มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยในวัยต่างๆกันไป

แคลเซียม ฟอสเฟตมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แคลเซียมฟอสเฟต

ยาแคลเซียม ฟอสเฟตมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • บำบัดภาวะร่างกายมีแคลเซียมในเลือดต่ำ (Hypocalcemia)
  • รักษาโรคกระดูกน่วม(Osteomalacia, กระดูกน่วม-กระดูกอ่อน ในเว็บ haamor.com)
  • รักษาโรคกระดูกพรุน(Osteoporosis)
  • รักษาภาวะต่อมพาราไทรอยด์/ ต่อมเคียงไทรอยด์ ทำงานต่ำ(Hypoparathyroidism) และภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานต่ำเทียม(Pseudohypoparathyroidism)

แคลเซียม ฟอสเฟตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแคลเซียม ฟอสเฟตหรือในชื่ออื่น ไตรเบซิก แคลเซียม ฟอสเฟต (Tribasic calcium phosphate) เป็นเกลือแคลเซียมที่ละลายน้ำได้แต่น้อย (0.002 กรัม/น้ำ 100 กรัม) เมื่อดูดซึมเข้ากระแสเลือดจะช่วยสร้างสมดุลของระดับแคลเซียมในกระแสเลือดและ มวลกระดูกให้เหมาะสมมากขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นกับการรับประทานยาแคลเซียม ฟอสเฟต อย่าง เหมาะสมตามคำสั่งแพทย์

แคลเซียม ฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลเซียม ฟอสเฟตมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยารับประทานชนิดเม็ดและชนิดน้ำที่เป็นกลุ่มวิตามินรวม

แคลเซียม ฟอสเฟตมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยา แคลเซียม ฟอสเฟตมีขนาดรับประทาน เช่น

  • ขนาดรับประทานยาแคลเซียม ฟอสเฟตในผู้ใหญ่ที่ใช้รักษาโรคตามสรรพคุณอยู่ที่ 600–1200 มิลลิกรัม/วัน หรือเป็นไปตามคำสั่งแพทย์

อนึ่ง:

  • การรับประทานยาที่มี แคลเซียม ฟอสเฟต เป็นองค์ประกอบ ควรรับประทาน หลังหรือพร้อมอาหารเพื่อช่วยในการดูดซึม
  • เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคลเซียมฟอสเฟต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น นิ่วในไต โรคหัวใจ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียม ฟอสเฟตอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาแคลเซียมฟอสเฟต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น2เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

แคลเซียม ฟอสเฟตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแคลเซียม ฟอสเฟตอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงคจากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร:เช่น คลื่นไส้-อาเจียน ท้องผูก ปากคอแห้ง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น ทำให้เบื่ออาหาร
  • ผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะ:เช่น ปัสสาวะมาก

มีข้อควรระวังการใช้แคลเซียม ฟอสเฟตอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียม ฟอสเฟต เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานด้วยตนเอง
  • การใช้ยาใน สตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ผู้สูงอายุ และเด็ก

ควรต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคลเซียม ฟอสเฟตด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แคลเซียม ฟอสเฟตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลเซียม ฟอสเฟต มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแคลเซียม ฟอสเฟต ร่วมกับ ยาBurosumab จะเป็นเหตุให้ระดับฟอสฟอรัส และวิตามินดี ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนิ่วในไต, เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว, ก่อปัญหาต่อมวลกระดูกและกล้ามเนื้อ, หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแคลเซียม ฟอสเฟตร่วมกับยารักษาโรคเอชไอวี เช่น ยา Dolutegravir ด้วยจะทำให้การดูดซึมตัวยาDolutegravir ลดน้อยลงและส่งผลต่อประสิทธิผลของการรักษาเอชไอวีตามมา

ควรเก็บรักษาแคลเซียม ฟอสเฟตอย่างไร?

ควรเก็บรักษาแคลเซียม ฟอสเฟต เช่น

  • เก็บยาภายในอุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ห้ามเก็บในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • ห้ามทิ้งยาลงในแม่น้ำลำคลองหรือแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และห้ามทิ้งลงพื้นดิน

แคลเซียม ฟอสเฟตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

สูตรตำรับยาแคลเซียม ฟอสเฟตจะมีตัวยาวิตามินและเกลือแร่ผสมอยู่หลายสูตรตำรับ ในประเทศไทยจะไม่ค่อยพบเห็นการใช้ยาแคลเซียม ฟอสเฟตเป็นตำรับยาเดี่ยว ทั้งนี้ เราสามารถพบเห็นการจำหน่ายยาที่มีแคลเซียม ฟอสเฟตเป็นองค์ประกอบ เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Bodivitin (บอดิไวติน)B L Hua
Ferropro (เฟอร์โรโปร)Medicine product
Vitacap (ไวตาแคป)Neopharm
Vita-Cal (วิตา-แคล)Pharmasant

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/calcium-phosphate-tribasic.html [2019,Sept28]
  2. https://www.emedicinehealth.com/drug-calcium_phosphate_tribasic_tricalcium_phosphate/article_em.htm [2019,Sept28]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Tricalcium_phosphate#Biomedical [2019,Sept28]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=calcium%20phosphate&page=1 [2019,Sept28]
  5. https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=calcium%20phosphate&page=0 [2019,Sept28]