แคลซิไลติก (Calcilytics)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 12 มิถุนายน 2561
- Tweet
- แคลซิไลติกคือยาอะไร?
- ประโยชน์ทางคลินิกของแคลซิไลติกมีอะไรบ้าง?
- มีการจัดจำหน่ายแคลซิไลติกภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- โรคหืด (Asthma)
- ความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary hypertension)
- อัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)
- แคลเซียม เกลือแร่แคลเซียม (Calcium)
แคลซิไลติกคือยาอะไร?
ยาแคลซิไลติก (Calcilytics) เป็นกลุ่มยาที่มีการวิจัยศึกษามาเกือบ 2 ทศวรรษโดยตัวยาจะออกฤทธิ์ในลักษณะเป็นแอนตาโกนิสต์(Antagonist)หรือปิดกั้นการทำงานของตัวรับ(Receptor)ที่มีชื่อเรียกว่า แคลเซียม-เซ็นซิง รีเซพเตอร์ (Calcium-sensing receptor ย่อว่า CaSR, คือสารโปรตีนชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวรับความรู้สึกในการเปลี่ยนแปลงของระดับแคลเซียมในร่างกายทั่วไปคือในเลือด มีหน้าที่ช่วยต่อมพาราไทรอยด์ควบคุมระดับแคลเซียมในเลือดให้อยู่ในสมดุล) ส่งผลให้เพิ่มความหนาแน่นของมวลกระดูก จึงเหมาะที่จะนำมารักษาภาวะ/โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) แต่เป็นที่น่าเสียดายด้วยงานวิจัยมีข้อสรุปว่า แคลซิไลติกกลับไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของมวลกระดูกสักเท่าใดนัก ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงเปลี่ยนทิศทางงานวิจัยโดยนำกลุ่มยาแคลซิไลติกมาทดลองรักษา อาการอัลไซเมอร์ โรคความดันหลอดเลือดปอดสูง โรคหืด และโรคมะเร็งบางชนิด
ประโยชน์ทางคลินิกของแคลซิไลติกมีอะไรบ้าง?
ประโยชน์ทางคลินิกของยาแคลซิไลติกที่กำลังได้รับการพัฒนามีดังนี้ เช่น
1. ในปี ค.ศ.2015 (พ.ศ.2558) มีการตีพิมพ์งานวิจัยของยาแคลซิไลติกเพื่อรักษาอาการหอบหืด จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาแคลเซียมที่เข้าจับกับแคลเซียม-เซ็นซิงรีเซพเตอร์ที่ผนังหลอดลม จะกระตุ้นให้มีการหดตัวของหลอดลมและเกิดอาการหอบหืดตามมา การพัฒนาแคลซิไลติกให้เป็นยาสูดพ่นเข้าทางเดินหายใจ เพื่อทำให้แคลซิไลติกเข้าจับกับแคลเซียม-เซ็นซิง รีเซพเตอร์ที่บริเวณผนังหลอดลม จะส่งผลปิดกั้นการทำงานของรีเซพเตอร์ฯดังกล่าว ทำให้หลอดลมเกิดการคลายตัวและเป็นผลดีต่ออาการหอบหืด
2. มีงานวิจัยเรื่องความดันหลอดเลือดปอดสูง (Pulmonary arterial hypertension หรือ PAH) ซึ่งสาเหตุหนึ่งของอาการป่วยมาจากการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดแดงในปอดมีมากขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เป็นลม วิงเวียน ขาบวม อ่อนแรง มีบ้างที่พบอาการไอเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาอาการดังกล่าว อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรง เช่น เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะเลือดออกง่าย และเกิดการจับตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือด ส่งผลให้หลอดเลือดอุดตัน
ยาแคลซิไลติกได้เข้ามามีบทบาทและถูกนำมาพัฒนาเพื่อรักษาอาการของ PAH ด้วยพบกลไกของยาแคลซิไลติกว่า สามารถยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อเรียบที่ผนังหลอดเลือดของปอด นักวิทยาศาสตร์ได้จำแนกยาแคลซิไลติกที่มีฤทธิ์บำบัด PAH ไว้ 2 รายการโดยระบุเป็นรหัสของสารประกอบ คือ NPS2143 และ Calhex231
มีการจัดจำหน่ายแคลซิไลติกภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?
ปัจจุบันยาแคลซิไลติกยังเป็นกลุ่มยาที่อยู่ในช่วงการวิจัยและพัฒนา เมื่อมีข้อสรุปประโยชน์ทางคลินิก และพิสูจน์ได้ว่ามีความปลอดภัย สามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ป่วยได้จริง เราก็อาจจะพบเห็นตัวยาในกลุ่มแคลซิไลติกถูกวางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าต่างๆได้ในอนาคต
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium-sensing_receptor#Signal_transduction [2018,May26]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/21526895 [2018,May26]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5093335/ [2018,May26]
- https://lungdiseasenews.com/2015/09/30/calcilytics-explored-potential-drug-candidates-pulmonary-arterial-hypertension-treatment/ [2018,May26]