แคลซิโปไตรอีน (Calcipotriene)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแคลซิโปไตรอีน(Calcipotriene) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ยาแคลซิโปไตรออล(Calcipotriol) เป็นสารอนุพันธ์ของวิตามินดี(Vitamin D) ที่นักวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ขึ้นเพื่อนำมาเป็นยาทาภายนอกสำหรับโรคสะเก็ดเงิน(Psoriasis)

ข้อมูลทางคลินิกระบุว่าการใช้ตัวยาแคลซิโปไตรอีนในระยะยาวมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้ป่วย โดยต้องใช้ยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด หลังการใช้ยานี้ สภาพผิวหนังจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามการทายาชนิดนี้อย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลกระตุ้นให้ผิวหนังมีอาการแพ้ต่อ แสงแดด รวมถึงแสงจากดวงไฟได้ง่ายมากยิ่งขึ้น กรณีปรากฏอาการแพ้แสงของผิวหนังผู้ป่วยจะต้องหยุดยานี้ทันที แล้วรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้นๆ

เพื่อความปลอดภัย แพทย์จึงมักจะแนะนำผู้ป่วยขณะที่ได้รับยาแคลซิโปไตรอีน ดังนี้

1. ห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง โดยไม่ขอคำปรึกษาจากแพทย์ก่อน

2. ห้ามทายานี้บริเวณใบหน้าหรือใกล้ตา ด้วยยาแคลซิโปไตรอีนเป็นยาทาภายนอกการทายาบริเวณใบหน้าหรือใกล้ตา อาจทำให้ตัวยาบางส่วนหลุดเข้าช่องปาก หรือเข้าตา และ ถูกดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหาร หรือเยื่อตา เข้าสู่ร่างกาย/กระแสเลือด

3. ห้ามนำยาชนิดนี้/ยานี้ไปทารักษาโรคผิวหนังชนิดอื่นที่ไม่ใช่โรคสะเก็ดเงินโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์

4. ระหว่างที่ใช้ยาแคลซิโปไตรอีน ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบทุกครั้งเมื่อพบ อาการข้างเคียง/ผลข้างเคียงต่างๆจากยานี้

5. ระหว่างที่ทายานี้ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการออกแดดจัดๆ ด้วยจะเกิดผื่นแพ้แสงแดดได้ง่าย

ยาแคลซิโปไตรอีน ที่วางจำหน่ายในประเทศไทย มีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาขี้ผึ้ง และถูกกำหนดให้เป็นยาอันตรายชนิดสำหรับใช้ภายนอก และสามารถพบเห็นการจัดจำหน่ายตามร้านขายยา และมีใช้ตามสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ภายใต้ยาชื่อการค้าว่า ‘Daivonex’

แคลซิโปไตรอีนมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

แคลซิโปไตรอีน

ยาแคลซิโปไตรอีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาบำบัดอาการทางผิวหนังในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis vulgaris)

แคลซิโปไตรอีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาแคลซิโปไตรอีน เป็นอนุพันธ์ของวิตามินดี3(Vitamin D3) ชนิดสังเคราะห์ หลังดูดซึมผ่านทางผิวหนัง ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor)ของร่างกายที่มีชื่อเรียกว่า Vitamin D receptor ทำให้เกิดการแปลคำสั่งในชั้นผิวหนังให้ทำการแบ่งตัวของเซลล์ ผิวหนังให้มีปริมาณมากขึ้น ส่งผลให้อาการของโรคสะเก็ดเงินดีขึ้นเป็นลำดับ

หมายเหตุ: ยาแคลซิโปไตรอีน ไม่สามารถรักษาโรคสะเก็ดเงินให้หายขาดได้ เพียงแต่ ทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลงและดีขึ้นเท่านั้น

แคลซิโปไตรอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคลซิโปไตรอีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาขี้ผึ้งที่ประกอบด้วยตัวยา Calcipotriene ขนาด 50 ไมโครกรัม/ต่อน้ำหนักยาขี้ผึ้ง 1 กรัม

แคลซิโปไตรอีนมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแคลซิโปไตรอีน มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่: ทายาบริเวณผิวหนังที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น ระยะเวลาการใช้ยาให้เป็นไปตามคำสั่งแพทย์
  • เด็ก: ทางคลินิก ยังไม่มีข้อมูลถึง ประสิทธิผล ผลข้างเคียง และขนาดยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็ก จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์เป็นกรณีๆไป

อนึ่ง:

  • ห้ามทายาบริเวณผิวหนังที่ปกติ
  • ห้ามให้ยาแคลซิโปไตรอีนอยู่ใกล้แหล่งความร้อน ด้วยยาชนิดนี้ติดไฟง่าย
  • ห้ามทายานี้โดยคิดเป็นน้ำหนักของตัวยาเกิน 100 กรัม/สัปดาห์
  • ล้างมือทั้งก่อนและหลังทายา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาแคลซิโปไตรอีน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น มีระดับแคลเซียมในเลือดสูงเกินมาตรฐาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลซิโปไตรอีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมทายาแคลซิโปไตรอีน ก็สามารถทายาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ห้ามเพิ่มขนาดการทายาเป็น 2 เท่า ให้ทายาที่ขนาดปกติเท่านั้น

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถขอคำแนะนำจากแพทย์ล่วงหน้าได้ว่า หากลืมทายาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร

แคลซิโปไตรอีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

หลังทายาแคลซิโปไตรอีน อาจส่งผลให้เกิด ผลไม่พึงประสงค์จากยา/ ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง เช่น

  • การระคายเคืองของผิวหนัง
  • มีอาการผื่นคัน
  • หรือเกิดภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ

ซึ่ง หากพบอาการข้างเคียงปรากฏขึ้นหลังใช้ยานี้ ควรรีบมาโรงพยาบาลเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

มีข้อควรระวังการใช้แคลซิโปไตรอีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลซิโปไตรอีน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้รับประทาน
  • ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีมีครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากจะมีคำสั่งจากแพทย์
  • การทายาชนิดนี้มากกว่าคำสั่งแพทย์ อาจส่งผลทำให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้น การหยุดใช้ยาจะทำให้ระดับแคลเซียมกลับมาเป็นปกติ
  • ปฏิบัติตัวตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาแคลซิโปไตรอีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

แคลซิโปไตรอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาแคลซิโปไตรอีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาแคลซิโปไตรอีนร่วมกับยา Abaloparatide , Benzthiazide รวมถึงยาต่างๆที่เสริมวิตามินดี สามารถกระตุ้นให้ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้น จนอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป

ควรเก็บรักษาแคลซิโปไตรอีนอย่างไร?

ควรเก็บ ยาแคลซิโปไตรอีน ดังนี้

  • เก็บยานี้ภายใต้อุณหภูมิ 15–25 องศาเซลเซียส(Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์ ไม่เก็บยาที่หมดอายุ
  • ไม่ทิ้งยาลงในแม่น้ำคูคลองตามธรรมชาติ

แคลซิโปไตรอีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคลซิโปไตรอีน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Daivonex (ไดโวเน็กซ์)LEO pharma

บรรณานุกรม

  1. https://pubchem.ncbi.nlm.nih.gov/compound/calcipotriol#section=Top [2018,Nov17]
  2. https://www.drugs.com/mtm/calcipotriene-topical.html[2018,Nov17]
  3. https://www.mims.com/thailand/drug/info/calcipotriol/?type=brief&mtype=generic [2018,Nov17]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Calcipotriol [2018,Nov17]
  5. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/020554s006lbl.pdf [2018,Nov17]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2005/020554s006lbl.pdf [2018,Nov17]
  7. http://www.mims.com/thailand/drug/info/daivonex [2018,Nov17]