แคปไซซิน (Capsaicin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาแคปไซซิน (Capsaicin) เป็นสารสำคัญที่สกัดได้จากพืชจำพวกพริก ปกติทั่วไปสารแคปไซซินจะก่อ ให้เกิดการระคายเคืองกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรวมถึงมนุษย์ด้วย โดยจะทำให้แสบคันบริเวณผิวหนังจนถึงขั้นเป็นรอยไหม้ได้

มนุษย์ค้นพบว่าสารแคปไซซินมีฤทธิ์ต้านเชื้อรา และมีฤทธิ์ลดอาการปวด ปัจจุบันทางเภสัชกรรมได้พัฒนารูปแบบของยาแคปไซซินเป็นยาทาเฉพาะที่สำหรับบรรเทาอาการปวด บางสูตรตำรับพัฒนาเป็นลักษณะพลาสเตอร์ปิดทับผิวหนัง ซึ่งผลิตภัณฑ์กลุ่มดังกล่าวจะใช้ความเข้มข้นของยาแคปไซซิน อยู่ที่ 0.025% - 0.25%

ประชาชนโดยทั่วไป เมื่อสัมผัสกับสารแคปไซซินตามธรรมชาติ เช่น พริกที่ใช้รับประทานในครัวเรือนแล้วมีความรู้สึกแสบร้อน การใช้น้ำล้างปริมาณมากแทบไม่ได้ช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนให้ดีขึ้น เพราะสารแคปไซซินละลายในน้ำได้น้อยมาก แนะนำให้ใช้ น้ำมันพืช, ปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum jelly) หรือ วาสลีน(Vaseline), หรือครีม/โลชั่นบำรุงผิว, ทาบริเวณที่สัมผัส แล้วเช็ดออก จะได้ผลดีที่สุด หรือใช้ สบู่ แชมพู เป็นตัวชำระล้าง ก็จะช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนจากสารแคปไซซินได้

กรณีที่รับประทานพริกซึ่งมีสารแคปไซซินอยู่มาก แล้วเกิดอาการแสบร้อนในระบบทางเดินอาหาร ให้ดื่มนมเย็นจะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวได้

สารแคปไซซิน ยังถูกนำไปผลิตเป็นอาหารเสริมบรรจุในรูปแบบแคปซูล สำหรับรับประทานโดยมีวัตถุประสงค์ช่วยลดน้ำหนักอีกด้วย

ด้านเภสัชภัณฑ์ในประเทศไทยได้ผลิตเป็นรูปแบบ ยาเจล, โลชั่นทาผิว, และยาสเปรย์สำหรับผิวหนัง โดยมีวัตถุประสงค์ลดอาการปวดของกล้ามเนื้อและของข้อ เป็นต้น

ยาแคปไซซินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

แคปไซซิน

ยาแคปไซซินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • ใช้เป็นยาทาภายนอกบรรเทาอาการ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดหลัง โดยต้องใช้ตามคำแนะนำของแพทย์ และ/หรือ เภสัชกร

ยาแคปไซซินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคปไซซิน คือ ตัวยาจะไปลดปริมาณสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า Substance P (ทำหน้าที่เกี่ยวกับอาการปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ) ส่งผลให้ลดความรู้สึกของเส้นประสาททำให้บรรเทาอาการปวดลงได้

ยาแคปไซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาแคปไซซินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเจล ที่มีความเข้มข้นแคปไซซิน 0.0125 และ 0.025 มิลลิกรัม/น้ำหนักเจล 100 มิลลิกรัม
  • โลชั่น มีความเข้มข้นแคปไซซิน 0.025 มิลลิกรัม/100 มิลลิลิตร

ยาแคปไซซินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาแคปไซซินมีขนาดการบริหารยา/วิธีใช้ยา เช่น

  • ผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)อายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป: ทายาเป็นฟิล์มบางๆในบริเวณที่มีอาการปวด สามารถทาได้ 3 - 4 ครั้ง/วัน และล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งหลังทายา
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี: ไม่มีข้อมูลแนะนำการใช้ยานี้ การใช้ยานี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคปไซซิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/ หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคปไซซินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมทายาควรทำอย่างไร?

หากลืมทายาแคปไซซิน สามารถทายาเมื่อนึกขึ้นได้ และไม่จำเป็นต้องทายาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ยาแคปไซซินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาแคปไซซินอาจก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น

  • แสบร้อนบริเวณที่ทายา
  • หากมีการสูดดมอาจเกิดอาการ
    • ไอ จาม
    • ระคายเคืองตา น้ำตาไหล
    • หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
    • วิงเวียน
    • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
    • มีไข้
    • คลื่นไส้-อาเจียน

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคปไซซินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาแคปไซซิน เช่น

  • ห้ามใช้กรณีเคยแพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้ทากับ บาดแผลฉีกขาด แผลไหม้ต่างๆ
  • ห้ามทายานี้บริเวณผิวหนังอ่อน เช่น เปลือกตา ริมฝีปาก อวัยวะเพศ
  • หากพบอาการแพ้ทางผิวหนังหลังทายานี้เช่น มีรอยไหม้ และแสบร้อนตลอดเวลา ให้หยุดใช้ยานี้ แล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • ไม่ควรใช้ยาทาแคปไซซินในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ด้วยผิวหนังของเด็กมีความไวต่อการระคายเคืองมากกว่าผู้ใหญ่
  • การใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ด้วยผิวหนังมีความเปราะบางและเสี่ยงกับอาการระคายเคืองที่อาจติดตามมาสูงกว่าคนทั่วไป
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคปไซซินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณ และให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาแคปไซซินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

เนื่องจากยาแคปไซซินมีรูปแบบเป็นลักษณะยาทาภายนอก จึงไม่ค่อยพบปฏิกิริยาระหว่างยากับกลุ่มยารับประทานใดๆ

ควรเก็บรักษายาแคปไซซินอย่างไร?

ควรเก็บยาแคปไซซิน เช่น

  • เก็บยาที่อุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ
  • ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ

ยาริโทนาเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาแคปไซซิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Capsika/Capsika-25 (แคปซิกา/แคปซิกา-25) Bangkok Lab & Cosmetic

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Capsaicin [2020, July18]
  2. http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fThailand%2fdrug%2finfo%2fcapsika-capsika-25%2f%3ftype%3dbrief [2020, July18]
  3. https://www.webmd.com/drugs/2/drug-4181/capsaicin-topical/details#side-effects [2020, July18]
  4. https://www.drugs.com/sfx/capsaicin-topical-side-effects.html [2020, July18]