แคปโตพริล (Captopril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 14 กุมภาพันธ์ 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาแคปโตพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแคปโตพริลอย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแคปโตพริลอย่างไร?
- ยาแคปโตพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction)
- โรคไต (Kidney disease)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะหัวใจวาย (Heart failure)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาแคปโตพริล (Captopril) จัดอยู่ในกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme/ACE inhibitor (กลุ่มยาลดความดันโลหิต/ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง ชนิดต้านการทำงานของเอนไซม์ ACE ที่ทำให้หลอดเลือดตีบหดตัว) วงการแพทย์นำมาใช้บำบัดรักษาอาการโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจล้มเหลว ถูกพัฒนาขึ้นในปี ค.ศ. 1975 (พ.ศ.2518) โดยบริษัทยาสควิบบ์ (Squibb)
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic: การศึกษาถึงความเป็นไปของยาเมื่อเข้าสู่ร่างกาย) เกี่ยวกับยาแคปโตพริลพบว่า เมื่อยาผ่านเข้าสู่กระแสเลือดจะจับตัวกับพลาสมาโปรตีน ประมาณ 25 - 30% และถูกส่งไปเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาออกจากกระแสเลือด 50% โดยผ่านมากับน้ำปัสสาวะ
ยาแคปโตพริลถูกบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และระบุเป็นยาทางเลือกในการรักษาความดันโลหิตสูงแบบฉุกเฉิน (Hypertension emergencies) เมื่อสถานพยาบาลไม่มียาฉีดหรือไม่สามารถใช้ยาฉีดในการรักษาได้
ยาแคปโตพริลจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย ห้ามใช้กับหญิงตั้งครรภ์ อีกทั้งมีข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังหลายประการ การใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
ยาแคปโตพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาแคปโตพริลมีสรรพคุณดังนี้
- สำหรับบำบัดรักษาโรคความดันโลหิตสูงทั้งใน ผู้ใหญ่ เด็ก และผู้สูงอายุ
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
- รักษาอาการโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือด
- รักษาโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน
ยาแคปโตพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาแคปโตพริลมีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้ร่างกายเปลี่ยนสาร Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II (Angiotensin: สารที่ทำให้หลอดเลือดตีบหดตัว) ทำให้การหลั่งฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone: ฮอร์โมนออกฤทธ์ที่ไต เพื่อควบคุมปริมาณเกลือแร่โซเดียมและโพแทสเซียม เพื่อช่วยคงความดันโลหิตให้ปกติ) ลดลง และกระตุ้นให้ปริมาณการคั่งของเกลือโซเดียมและน้ำในร่างกายลดลงติดตามมา จึงทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง พร้อมกับส่งผลดีต่อภาวะหัวใจล้มเหลวอีกทางหนึ่ง
ยาแคปโตพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาแคปโตพริลจัดจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ดขนาดความแรง 12.5 และ 25 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาแคปโตพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแคปโตพริลมีขนาดรับประทานดังนี้
ก. สำหรับความดันโลหิตสูง:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานที่ 12.5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น หรือ 6.25 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น (โดยใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ) จากนั้นปรับขนาดรับประทานภายใน 2 - 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของยากับผู้ป่วย และสามารถคงขนาดรับประทานเป็น 25 - 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกินครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
- เด็กทารก: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วตรวจสอบความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง เพื่อประเมินการตอบสนองของร่างกายกับยาแคปโตพริล หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง หากจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ2 - 3ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 12 - 18 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 12.5 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยแบ่งรับประทาน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
ข. สำหรับภาวะหัวใจล้มเหลว:
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานที่ 6.25 - 12.5 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานต่อมาคือ 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
- เด็กทารก: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วตรวจสอบความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง เพื่อประเมินการตอบสนองของร่างกายกับยาแคปโตพริล หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง หากจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุด 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 12 - 18 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 12.5 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยแบ่งรับประทาน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
ค. สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Post myocardial infarction):
- ผู้ใหญ่: อาจใช้ยาแคปโตพริลหลังจากเกิดภาวะหัวใจขาดเลือด/กล้ามเนื้อหัวใจตาย 3 วันไปแล้ว โดยเริ่มต้นที่ 6.25 มิลลิกรัม หลังจากนั้นในระยะเวลาหลายสัปดาห์ สามารถเพิ่มขนาด รับประทานเป็น 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็ก: มักไม่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายในเด็ก จึงยังไม่มีรายงานการใช้ยานี้
ง. สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไตถูกทำลายโดยโรคเบาหวาน (Diabetic nephropathy)
- ผู้ใหญ่: ที่มีภาวะโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 500 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง พบในผู้ป่วยเบาหวานชนิด I และมีภาวะเบาหวานขึ้นตา (Retinopathy) รับประทาน 25 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง อาจต้องใช้ร่วมกับยาลดความดันโลหิตตัวอื่น เพื่อให้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
- เด็กทารก: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม แล้วตรวจสอบความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง เพื่อประเมินการตอบสนองของร่างกายกับยาแคปโตพริล หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 10 - 50 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง หากจำเป็นสามารถเพิ่มขนาดรับประทานสูงสุดเป็น 2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 1 เดือน - 12 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 100 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุด 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
- เด็กอายุ 12 - 18 ปี: ทดสอบเริ่มต้นที่ขนาดรับประทาน 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ตรวจวัดความดันโลหิตภายใน 1 - 2 ชั่วโมง หากได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ สามารถใช้ขนาดการรักษาที่ 12.5 - 25 มิลลิกรัม วันละ 2 - 3 ครั้ง โดยแบ่งรับประทาน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 150 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
อนึ่ง:
- การรับประทานยาแคปโตพริล ควรรับประทานก่อนอาหาร 1 ชั่วโมงหรือหลังอาหารอย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- การปรับขนาดการรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดการรับประทานเอง
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคปโตพริล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาแคปโตพริล อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรืออาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแคปโตพริลสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาแคปโตพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาแคปโตพริลสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีความดันโลหิตต่ำ
- หัวใจเต้นเร็ว
- เจ็บหน้าอก
- ใจสั่น
- ผื่นคัน
- ระดับแคลเซียมในกระแสเลือดสูง (อาการ เช่น ซึม วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน)
- มีโปรตีนขับออกมากับปัสสาวะ(ปัสสาวะเป็นฟอง)
- ไอ
- และปวดหัว
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคปโตพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคปโตพริลดังนี้
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาแคปโตพริล
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามใช้กับผู้มีภาวะบวมที่ ใบหน้า มือ เท้า และ ริมฝีปาก
- ห้ามใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงใช้ยาขับปัสสาวะ หรือผู้ป่วยที่ร่างกายมีเกลือโซเดียมต่ำ (อาการ เช่น วิงเวียน เป็นลม) หากจำเป็นอาจต้องหยุดการใช้ยาขับปัสสาวะ เพื่อให้ร่างกายมีเกลือโซเดียมที่สมดุลมากขึ้น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี (SLE) หรือผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน (Autoimmune collagens disorder)
- ระหว่างการใช้ยาแคปโตพริล ควรมีการตรวจสอบระดับเม็ดเลือดขาว (การตรวจซีบีซี/CBC) และโปรตีนที่หลุดปนมากับปัสสาวะด้วย (โดยการตรวจปัสสาวะ)
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคปโตพริลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแคปโตพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคปโตพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น ดังนี้
- การใช้ยาแคปโตพริลร่วมกับยารักษาโรคไทรอยด์ เช่น Potassium iodide สามารถทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในกระแสเลือดสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้การทำงานของไตล้มเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ จนกระทั่งหัวใจหยุดเต้น เป็นสาเหตุให้เสียชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมต่อผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาแคปโตพริลร่วมกับยารักษาโรคเกาต์ เช่น Allopurinol สามารถเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ยาอย่างรุนแรง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาแคปโตพริลร่วมกับยาขับปัสสาวะ เช่น Hydrochlorothiazide สามารถทำให้ความดันโลหิตต่ำได้มาก แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของยาทั้งคู่ เพื่อความปลอดภัยและเหมาะสมต่อการรักษาคนไข้
ควรเก็บรักษายาแคปโตพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาแคปโตพริล เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาแคปโตพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคปโตพริล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Capril (แคพริล) | Boryung Pharma |
Epsitron (เอพซิทรอน) | Remedica |
Gemzil (เจมซิล) | Pharmasant Lab |
Tensiomin (เทนซิโอมิน) | Egis |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Captopril [2020,Feb8]
2. http://www.mims.com/USA/drug/info/captopril/?type=full&mtype=generic#Dosage [2020,Feb8]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=captopril [2020,Feb8]
4. http://www.drugs.com/drug-interactions/captopril.html [2020,Feb8]
5. http://www.drugs.com/cdi/captopril.html [2020,Feb8]